ราชบุรี หอไตรเสาเดียวอายุ 100 ปี แห่งเดียวลุ่มน้ำแม่กลอง ถูกพายุซัดเสาหักโค่น พังทลายทั้งหลัง วัด ชาวบ้าน ตั้งใจบูรณะลักษณะสถาปัตยกรรมเดิม วอนกรมศิลปากรเข้าช่วย
19 มี.ค. 66 – ที่วัดโพธิโสภาราม ต.คุ้งพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน หอไตรเสาเดียวอายุกว่า 100 ปี แห่งเดียวในลุ่มน้ำแม่กลอง ถูกพายุพัดถล่มจนเสาหักโค่น พังทลายลงมาทั้งหลัง
นายอำนาจ กมศิลป์ ชาวบ้าน ม.9 บ้านโพธิ์ ได้พาไปดูหอไตรดังกล่าว ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างศาลาการเปรียญ ที่ฐานมีการก่อสร้างสระน้ำล้อมรอบ โดยพบว่า ตัวเรือนไม้ของหอไตรที่ทำจากไม้สักทอง รวมไปถึงหลังคามณฑป 7 ชั้น พังเสียหายทั้งหลัง ยอดปราสาทที่ทำจากไม้สักประดับด้วยกระจกสี หัก 3 ท่อน ส่วนโคนเสาไม้หอไตรมีสภาพถูกปลวกกัดกินจนผุกลวง
นายอำนาจ เปิดเผยว่า ช่วงเวลา 02.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดพายุ ลมกรรโชกแรงในพื้นที่ จนเป็นเหตุให้หอไตรเสาเดียวพังถล่มลงมาเสียงดังสนั่น ขนาดบ้านตนอยู่ห่างจากวัดกว่า 200 เมตร ยังได้ยินเสียงถล่มชัดเจน
สำหรับ หอพระไตรปิฎก เรือนฝาปะกร หลังคามณฑป 7 ชั้น ยอดปราสาท ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 โดยฝีมือของช่างพื้นบ้านชาวไทยเชื้อสายมอญ ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ คือ มีเสาเดียว และสระน้ำล้อมรอบ ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องการป้องกันคัมภีร์ใบลานพังเสียหายจากการถูกมดกัดกินและทำรัง
ส่วนความสูงจากฐานถึงยอดหลังคาประมาณ 15 เมตร รวมไปถึงการฉลุลวดลายไม้ประดับชายหลังคาที่สวยงาม ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ที่วัดโพธิโสภารามเพียงแห่งเดียวในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง
แต่เนื่องด้วยกาลเวลา ทำให้หอไตรเริ่มชำรุดทรุดโทรม วัดและชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะซ่อมแซมในปี 2533 และปี 2562 ส่วนคัมภีร์ใบลานอายุกว่า 100 ปี ทางวัดได้นำขึ้นไปเก็บรักษายังหอไตรหลังใหญ่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้หอไตรดังกล่าวไม่ต้องรับน้ำหนักมากจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงที่จะพังลงมา
โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ ตนและชาวบ้านสังเกตเห็นว่า หอไตรมีลักษณะเอียงผิดปกติ จึงได้แจ้งกับ พระมหานุศาสตร์ ธัมมัชโชโต เจ้าอาวาส และได้ตกลงกันว่า หลังจากช่วงทำนาปลูกข้าวแล้วเสร็จ ชาวบ้านจะกลับมาช่วยกันซ่อมหอไตร แต่ก็ไม่ทันได้ทำ เพราะพายุพัดถล่มลงมาเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม วัดและชาวบ้าน มีความตั้งใจที่จะบูรณะหอไตรดังกล่าวให้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดิม แต่ว่ายังหาช่างพื้นบ้านที่มีความชำนาญในเรื่องของงานไม้ลักษณะนี้ไม่ได้ ชาวบ้านจึงอยากได้ช่างไม้ระดับช่างของกรมศิลปากรมาช่วยก่อสร้างหอไตรขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง