หลักสูตร เกลน มิลส์ : ผู้ถือคู่มือสร้างโคตรนักวิ่งที่ โบลต์ ยกให้เป็นพระเจ้า

Home » หลักสูตร เกลน มิลส์ : ผู้ถือคู่มือสร้างโคตรนักวิ่งที่ โบลต์ ยกให้เป็นพระเจ้า
หลักสูตร เกลน มิลส์ : ผู้ถือคู่มือสร้างโคตรนักวิ่งที่ โบลต์ ยกให้เป็นพระเจ้า

หากกล่าวถึงนักกีฬาโอลิมปิกสักคนที่ผู้คนทั่วโลกจดจำได้ดี ชื่อของ ยูเซน โบลต์ นักวิ่งเหนือมนุษย์ชาวจาเมกา น่าจะเข้ามาในหัวเป็นอันดับแรก ๆ

พรสวรรค์ทางร่างกายของโบลต์ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียง แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในโลกกีฬา คือไม่มีใครเก่งได้ด้วยตัวเอง แม้แต่ 8 เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก และสถิติโลกสามรายการ

นี่คือเรื่องราวของ เกล็น มิลส์ โค้ชผู้ถือคู่มือสร้างสุดยอดนักวิ่งที่โบลต์บอกว่าเก่งระดับพระเจ้า แม้เขาจะไม่เคยคว้าเหรียญจากกีฬากรีฑาแม้แต่ครั้งเดียว

ใครคือ เกล็น มิลส์ ?

เกล็น มิลส์ คือโค้ชกีฬากรีฑาชาวจาเมกา โดยรับตำแหน่งเฮดโค้ชของทีมกรีฑาโอลิมปิกจาเมกา ตั้งแต่ปี 1987 ถึง 2008 นั่นหมายความว่า เขามีประสบการณ์ในวงการหลายสิบปี ก่อนจะพา ยูเซน โบลต์ ก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2008


Photo : www.telegraph.co.uk

มิลส์เริ่มต้นเข้าสู่งการกรีฑา ตั้งแต่อายุ 13 ปี ในฐานะนักกีฬาวิ่งระยะสั้นจากโรงเรียนมัธยมแคมเปอร์ดาวน์ แต่หลังจากลงแข่งขันเพียงหนึ่งปี มิลส์รู้ตัวว่าเขามีพรสวรรค์ไม่มากพอจะเดินต่อในเส้นทางนักวิ่งอาชีพ แต่ด้วยความรักที่มีต่อกีฬาชนิดนี้ มิลส์จึงเริ่มทำหน้าที่โค้ชกรีฑา ตั้งแต่อายุ 14 ปี

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่มิลส์ยกย่องเป็นไอดอล คือ ลอยด์ วินเทอร์ เฮดโค้ชระดับตำนานจากสหรัฐอเมริกา ที่ปลุกปั้นนักวิ่งมหาวิทยาลัยรัฐซานโฮเซ 27 คน สู่การแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และมากถึง 107 คน หากนับเฉพาะการแข่งขันระดับชาติ หรือ All-Americans

 

วินเทอร์เดินทางสู่ประเทศจาเมกา ในปี 1966 เพื่อบรรยายความรู้แก่บุคลากรกรีฑาในประเทศ มิลส์ซึ่งขณะนั้นอายุราว 17 ปี คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าว และเรียนรู้เคล็ดลับที่ทำให้เขาสร้างนักวิ่งฝีมือดีขึ้นมามากมาย

“เราใช้ความรู้ตามสถานการณ์ที่เราประสบ” นี่คือข้อคิดที่วินเทอร์กล่าวไว้ในการบรรยายครั้งนั้น มิลส์จดจำประโยคดังกล่าวขึ้นใจ นั่นจึงทำให้มิลส์เริ่มศึกษาจุดแข็ง และจุดอ่อนของนักกีฬาแต่ละคน มากกว่าจะฝึกสอนนักกีฬาทั้งหมดด้วยหลักสูตรเดียว

ต้นทศวรรษ 1970s มิลส์เข้ารับงานผู้ฝึกสอนนักกรีฑาเยาวชนทีมชาติจาเมกา ก่อนจะขยับสู่ทีมชุดใหญ่ในเวลาไม่นาน เขาจึงกลายเป็นโค้ชที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักวิ่งชาวจาเมกาหลายคน

ไม่ว่าจะเป็น เลรอย รีด นักวิ่งระยะสั้นที่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1984 ที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา, อาลีน เบลีย์ นักวิ่งหญิงเจ้าของเหรียญทองวิ่งผลัด 4×100 เมตร ในโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ, โยฮัน เบลค เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ในการแข่งขันวิ่งผลัด 4×100 เมตร เมื่อปี 2012 กับ 2016 และ คิม คอลลินส์ นักวิ่งเหรียญทอง 100 เมตร จากการแข่งขันชิงแชมป์โลก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2003


Photo : www.borntoworkout.com

 

ในบรรดาลูกศิษย์ทั้งหมด คนที่โดดเด่นที่สุดคือ ยูเซน โบลต์ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 8 เหรียญ และเหรียญทองจากการแข่งขันชิงแชมป์โลก 11 เหรียญ รวมถึงสถิติโลกในการวิ่ง 100, 200 และ 4×100 เมตร

โบลต์มีพรสวรรค์ที่น่าทึ่ง แต่เขาอาจมาไม่ถึงตรงนี้ หากไม่มีชายชื่อว่า เกล็น มิลส์ เพราะก่อนที่ทั้งสองจะรู้จักกัน … โบลต์กำลังอยู่ในจุดต่ำสุดของอาชีพ ด้วยปัญหาอาการบาดเจ็บรุมเร้า และฟอร์มตกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่ามองข้ามวิทยาศาสตร์

ยูเซน โบลต์ เข้าแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ในฐานะนักวิ่งหน้าใหม่ที่กำลังมาแรง จากผลงาน 19.93 วินาที ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร มหกรรมกีฬา CARIFTA Games หรือมหกรรมกีฬาของชาติในแถบทะเลแคริบเบียน ปี 2004

โชคร้ายที่โบลต์ได้รับอาการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อแฮมสตริงในเดือนพฤษภาคม และยังคงตกค้างเมื่อโอลิมปิกมาถึง เขาจึงตกรอบแรกการแข่งขันวิ่ง 200 เมตร ด้วยเวลา 21.05 วินาที ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า ฟอร์มของเขาตกลงไป

 

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโบลต์ในปี 2004 อยู่ภายใต้สายตาของมิลส์ที่ทำงานเป็นหัวหน้าทีมกรีฑาจาเมกา เขารู้ดีว่าเด็กคนนี้มีพรสวรรค์ แต่มีจุดอ่อนมากเช่นเดียวกัน มิลส์จึงตัดสินใจฝึกสอนโบลต์เป็นการส่วนตัว เพื่อช่วยให้เขาบรรลุศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง


Photo : medium.com

“ยูเซนคือนักวิ่งที่มีพรสวรรค์สูงมาก เมื่อผมเริ่มฝึกสอนเขา ผมพบว่านิ้วโป้งของเขามีปัญหา นั่นทำให้เขาวิ่งตามหลังศูนย์กลางของจุดบาลานซ์ และทำให้เกิดแรงลบที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ส่วนอื่น” มิลส์กล่าวกับ New Studies in Athletics

สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามเกี่ยวกับการฝึกสอนนักกรีฑา คือ ความรู้เรื่องกลศาสตร์ หนึ่งในศาสตร์ด้านฟิสิกส์ที่อธิบายถึงการเคลื่อนที่ของวัตถุ โค้ชส่วนมากหมกมุ่นกับการฝึกซ้อมในสนาม จนลืมว่าความรู้ในตำรามีผลสำคัญเช่นกัน

มิลส์ไม่เคยมองข้ามความรู้เหล่านี้ เขาได้รับประกาศนียบัตรจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และได้การรับรองจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ IAAF (ปัจจุบันรีแบรนด์เป็น World Athletics ไปตั้งแต่ปี 2019) ในการเรียนรู้เทคนิคการวิ่งระยะสั้นระดับสูง

 

เขาจึงมีความรู้เรื่องตำแหน่งของร่างกาย, ขั้นตอนการก้าวเท้าบนพื้นดิน และการฟื้นฟูกลศาสตร์ เมื่อบวกกับทักษะการสอนที่เน้นตามจุดแข็ง-จุดอ่อนของแต่ละบุคคล 

มิลส์สังเกตการวิ่งของโบลต์ ตั้งแต่ก้าวเท้าจากจุดสตาร์ท เพื่อศึกษาการเร่งความเร็วสูงสุด, การรักษาความเร็วสูงสุด และการชะลอตัว ในที่สุด มิลส์ค้นพบว่า จุดอ่อนของโบลต์ คือ การรักษาความเร็วสูงสุดของตัวเอง

“ผมวาดแผนภาพเพื่อแสดงให้เขาเห็นถึงตำแหน่ง ที่เราต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งนั่นคือส่วนที่กลศาสตร์ของเขาย่ำแย่ เพราะว่าเขาไม่สามารถรักษาจุดตำแหน่งสปรินต์ขณะอยู่ที่ความเร็วสูงสุด”

“เพราะฉะนั้น เราจึงออกแบบโปรแกรมฝึกซ้อมที่เข้มข้น เพื่อพัฒนาจุดแข็งหลักของเขา”


Photo : www.gboah.com

 

มิลส์รู้ดีว่า จุดแข็งหลักของโบลต์คือก้าวเท้าที่ยาวกว่าคนอื่น ตามปกติแล้ว นักวิ่งมักใช้ 46 ก้าวเท้าในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร แต่โบลต์ใช้เพียง 43 ก้าว อย่างไรก็ตาม พรสวรรค์ทางร่างกายของโบลต์ ถูกบดบังด้วยเทคนิคการวิ่งที่ย่ำแย่ จนต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

ไม่เพียงแค่นั้น โบลต์ยังมีปัญหาเรื่องการจัดตำแหน่งของร่างกายที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงทำให้เขามีปัญหาในช่วงความเร็วสูงสุด แต่ยังทำให้โบลต์เกิดอาการบาดเจ็บบ่อยกว่าปกติ

มิลส์จึงคิดค้นหลักสูตรพัฒนาเทคนิค และสภาพร่างกาย เริ่มจากให้ความสำคัญในการพัฒนา Hip flexor หรือมัดกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกเชิงกราน ที่ทำหน้าที่หลักในการงอสะโพกมาด้านหน้า และหากใคร Hip flexor ไม่แข็งแรง เขาคนนั้นจะมีปัญหาในการยกเข่าขึ้นสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวิ่งอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ โบลต์จึงพัฒนาร่างกายด้วยการออกกำลังกายปกติ, การบริหารกล้ามเนื้อแกนกลาง, การเคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มพละกำลัง, การยกน้ำหนัก และการวิ่งกระโดดสลับขา (Run Jump Throw) จนร่างกายมีความแข็งแกร่งราวกับซูเปอรฮีโร่ สามารถทนต่อแรงที่กระทบตัว ขณะวิ่งด้วยความเร็ว 27 ไมล์ต่อชั่วโมง (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หรือในขณะที่กำลังสปรินท์สุดชีวิตได้

เมื่อร่างกายของโบลต์พร้อมจะรับศึกหนัก มิลส์จึงเริ่มฝึกฝนทักษะทางเทคนิคตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาบาลานซ์, การประสานงาน และจังหวะเวลาของการวิ่ง หรือทักษะชั้นสูงอย่าง ความยาว, ความถี่ และช่วงเวลาทิ้งเท้าของการก้าวหนึ่งครั้ง

การฝึกฝนทางเทคนิคทั้งหมด ต้องควบคู่ไปกับการฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น การเพิ่มความเร็วสูงสุด, การเพิ่มอัตราความเร่ง และการวอร์มที่มีประสิทธิภาพ โปรแกรมที่มิลส์ออกแบบให้โบลต์ จึงพัฒนาเทคนิค, ความเร็ว และความทนทานของร่างกาย


Photo : jamaicans.com

นอกจากนี้ มิลส์ยังแบ่งรายละเอียดการฝึกซ้อมในหนึ่งสัปดาห์อย่างชัดเจน โดยสามวัน (อังคาร-พฤหัสบดี) จะถูกเรียกว่า “วันลำบาก” คือการฝึกฝนอย่างหนักในสนาม ส่วนอีกสองวันจะเป็นการซ้อมเบา ทั้ง เสริมความหยืดหยุ่น, ฟื้นฟูร่างกาย และลดน้ำหนัก มิลส์ยังให้ความสำคัญในการพักผ่อน โดยฝึกซ้อมระยะสั้นในวันจันทร์ เพื่อให้ร่างกายของโบลต์พักเต็มที่ 72 ชั่วโมง

“สิ่งที่เกิดขึ้นในปักกิ่ง เขาแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่เราพัฒนาขึ้นมา ซึ่งเราทำงานหนักร่วมสองปี กว่าจะมาถึงจุดนี้” มิลส์เล่าถึงการฝึกฝนทางเทคนิค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่พัฒนาโบลต์เป็นยอดนักวิ่ง เหมือนในปัจจุบัน

“นักกีฬามักจะกลับไปทำนิสัยเดิม เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดัน หรือวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด เช่นเดียวกับการช่วยเหลือนักแสดงให้เล่นตรงตามบท โค้ชจำเป็นต้องฝึกซ้อมให้นักกีฬาวิ่งซ้ำไปมา เพื่อทำลายนิสัยเดิมทางร่างกาย รวมถึงจิตใจ และช่วยให้นักกีฬาเข้าถึงเทคนิคนั้นเร็วที่สุด”

เคล็ดลับคือความเข้าใจ

โบลต์ใช้เวลาฝึกฝนตามโปรแกรมดังกล่าวนานสองปี ซึ่งถือเป็นงานหนักสำหรับดาวรุ่งอย่างเขา เคราะห์ดีที่มิลส์ไม่ใช่โค้ชที่ดุร้าย แต่เป็นผู้ฝึกสอนที่เข้าใจ และให้ความสำคัญกับนักกีฬา โบลต์จึงก้าวข้ามความยากลำบากในการฝึกซ้อม และมุ่งมั่นกับเป้าหมายเบื้องหน้าอย่างเต็มที่


Photo : elpais.com

“เรามีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม เขาเหมือนกับพ่อคนที่สองของผม ผมไม่เคยมีปัญหากับเขาเลยสักครั้ง นี่คือครั้งแรกที่ผมมีถกเถียงกับเขา และผมว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก”

ประโยคข้างต้น คือ คำพูดของ ยูเซน โบลต์ หลังคว้าเหรียญทอง และสร้างเวลาสถิติโลกในการวิ่ง 100 เมตร ที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2008

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ซับซ้อนอะไรนัก มิลส์ต้องการให้โบลต์ลงแข่งในรายการวิ่ง 400 เมตร แต่โบลต์ต้องการลงแข่งในรายการวิ่ง 100 เมตร การพูดคุยของทั้งคู่ไม่ได้ข้อสรุป ทำให้โบลต์รู้ก่อนลงแข่งขันเพียงหนึ่งวัน ว่าเขาต้องวิ่งเพื่อชิงเหรียญทองในการวิ่ง 100 เมตร

ถึงโบลต์จะแอบหงุดหงิดที่ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า แต่เหตุการณ์นี้ยืนยันชัดเจนว่า มิลส์ไม่ได้เพียงเข้าใจสภาพร่างกาย แต่ยังเข้าใจความต้องการของนักกีฬา ทำให้เขาตัดสินใจส่งโบลต์ลงรายการวิ่ง 100 เมตร ตามต้องการ

สองเหรียญทองของโบลต์ วิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร ในโอลิมปิก 2008 (อันที่จริง เจ้าตัวได้ 3 เหรียญทอง แต่เหรียญทองวิ่ง 4×100 เมตร ถูกยึดคืนเมื่อปี 2017 เนื่องจากสมาชิกในทีมถูกตรวจพบสารกระตุ้นย้อนหลัง) จึงมาจากคนเบื้องหลังที่ชื่อ เกล็น มิลส์


Photo : www.france24.com

แม้เฮดโค้ชรายนี้จะวางมือหลังจบการแข่งขัน แต่บทเรียนที่เขาฝากไว้ในตัวลูกศิษย์ ยังคงแสดงให้โลกเห็นในความสำเร็จอีกหลายปีถัดมา ด้วย 3 เหรียญทอง ในโอลิมปิก 2012 กับอีก 3 เหรียญทอง ในโอลิมปิก 2016 เช่นเดียวกับสถิติโลก 3 รายการที่ได้กล่าวไป

แม้กระทั่งวันที่โบลต์ประกาศรีไทร์จากการแข่งขัน เขายืนยันชัดเจนว่าพร้อมจะกลับสู่ลู่วิ่งอีกครั้ง หากมิลส์ต้องการให้เขาหวนคืนสู่สนาม


Photo : Usain St. Leo Bolt @usainbolt

“ถ้าโค้ชของผมกลับมา และบอกว่า เรามาลุยกันอีกสักครั้ง ผมจะทำมัน เพราะผมรู้ดีว่าผมเชื่อมั่นในตัวโค้ชมากแค่ไหน” โบลต์กล่าวถึงโอกาสเดียวที่เขาจะหวนคืนวงการอีกครั้ง

“ผมรู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าเขาบอกว่าเราจะมาร่วมงานกันอีกครั้ง เพราะฉะนั้น ถ้าคุณให้เกล็น มิลส์ โทรหาผม ผมจะกลับมา”

นี่คือชีวิตของ เกล็น มิลส์ ชายผู้ถือตำราสร้าง ยูเซน โบลต์ ให้กลายเป็นนักวิ่งระดับโลก และถูกยกย่องเป็นอาจารย์, พ่อคนที่สอง และพระเจ้าของเขา ซึ่งไม่ใช่มีสาเหตุมากจากความเก่งกาจเท่านั้น แต่รวมถึงความเข้าใจกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่โค้ชกับนักกีฬาในโลกทุกวันนี้ขาดหายไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ