ชาวเน็ตญี่ปุ่นแห่แชร์ทฤษฎีสมคบคิด แผ่นดินไหวเกิดจาก “ฝีมือมนุษย์” หรือรัฐบาลกำลัง “ทดลอง” อะไรอยู่ใต้ดิน?
เมื่อวานนี้ (3 มกราคม 2023) สำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK) รายงานว่า ชาวเน็ตญี่ปุ่นบางกลุ่มแห่แชร์ข้อมูล ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของมนุษย์ ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นปฏิเสธ ขณะที่ทางการออกมาเตือนให้ระวังข่าวปลอมที่แพร่หลายในช่วงวิกฤตของประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นท่ามกลางสัปดาห์แห่งการขึ้นปีใหม่ 2024 ต่างทำให้ทั่วโลกต่างขวัญเสียกันไปตามกัน ยังไม่รวมเหตุความวุ่นวายอื่นๆ ที่ตามมา นับตั้งแต่เหตุสึนามิ เครื่องบินและสถานที่สำคัญไฟไหม้ รวมถึงกรณีประชาชนโดนแทงในสถานีรถไฟอากิฮาบาระ (Akibahara) ในเมื่อคืนนี้
วิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยง ‘ข่าวปลอม’ มากมายที่ตามมาไม่ได้ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลของเอ็นเอชเคเผยว่า โลกโซเชียลฯ เต็มไปด้วยข้อมูลปลอมถึง 2.5 แสนโพสต์ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่อิชิกาวะ (Ishikawa) จนบางโพสต์มียอดเข้าชม ประมาณ 8.5 ล้านวิว
หนึ่งในข่าวปลอมคือข้อสันนิษฐานว่าแผ่นดินไหวเกิดจากฝีมือมนุษย์ หลังแฮชแท็ก #人工地震 หรือแปลว่า แผ่นดินไหวปลอม ติดเทรนด์บนแอปพลิเคชัน X ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เมื่อผู้ใช้บางส่วนสร้างทฤษฎีสมคบคิดว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ หรือรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังทำการทดลองบางอย่างอยู่ โดยอ้างถึงรายงานเสียงระเบิดในย่านโนโตะ (Noto) ก่อนวันเกิดเหตุ 1 วัน ราวกับทฤษฎีดังกล่าวหลุดมาจากหนัง ‘ก็อตซิลลา’
“มีเสียงดังแปลกประหลาดในย่านโนโตะเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม และข่าวทั้งหมดนี้ก็ถูกลบทิ้ง จู่ๆ ก็มีแผ่นดินไหวตามในวันถัดมา พวกคนญี่ปุ่นโดนชักจูงง่ายมาก พวกเขาเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องบังเอิญ
“รัฐทำกับเราเหมือนกับลิงเหลืองที่ถูกทำการทดลองโง่ๆ”
แอ็กเคานต์ชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งโพสต์ข้อความในแอปพลิเคชัน X พร้อมกับตัดพ้อว่า ในอดีตมีการรายงานถึงเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ในสมัยโชวะ (Shōwa) และอ้างว่า ทำไมเขาจึงสงสัยไม่ได้และรู้สึกโมโหที่ถูกทัวร์ลงจากชาวเน็ตคนอื่นๆ
“แทบจะเป็นไปได้ไม่ได้เลยที่คนจะสร้างพลังงานถึงระดับ 7 หรือมากกว่านั้นโดยใช้วัตถุระเบิด ถ้าจะสร้างพลังงานที่รุนแรงขนาดนี้ เราแทบจะต้องระบุบริเวณที่เกิดเหตุแน่ชัด และต้องใช้การกระตุ้นที่รุนแรงมาก ถ้าเป็นแบบนี้จริง แสดงว่ามนุษย์ควบคุมแผ่นดินไหวได้แบบอิสระใช่ไหม?”
แอ็กเคานต์อื่นตอบกลับทวิตต้นทาง ก่อนแอ็กเคานต์ผู้สร้างทฤษฎีสมคบคิดจะตอบโต้ด้วยโพสต์รวบรวมรายงานแผ่นดินไหวปลอมจากหนังสือพิมพ์ในสมัยโชวะ
นอกจากนี้ ผู้ใช้แอปพลิเคชันบางส่วนยังสร้างความเข้าใจผิดด้วยการโพสต์คลิปกรมอุตุนิยมวิทยาแถลงการณ์เรื่องเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในอดีตและไม่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยมีรายงานว่า โพสต์หนึ่งในแอปพลิเคชัน X มียอดชมมากกว่า 1 ล้านครั้ง
ข้อชี้แจงจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญ และรัฐบาล ถึงข่าวปลอมจากเหตุแผ่นดินไหว
อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นออกมาชี้แจงว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นตามรอยเลื่อนย้อน และยืนยันว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ไม่มีทางสร้างขึ้นด้วยการประดิษฐ์ของมนุษย์ แม้แต่การทดลองนิวเคลียร์ก็ตาม
เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ นิชิมูระ ทากูยะ (Nishimura Takuya) ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาเรื่องแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ที่ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่มีทางเป็นฝีมือมนุษย์
เขาอธิบายในเชิงธรณีวิทยาว่า แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของปรากฏการณ์นี้ และเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะทำอะไรบางอย่างใต้แผ่นดินที่มีความลึกถึง 15 กิโลเมตร โดยเฉพาะหากพิจารณาขนาดความแรงที่เกิดขึ้น รวมถึงขอให้ประชาชนเตรียมเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คาดเดาได้ยาก
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาเตือนประชาชนให้ระวังข่าวปลอมที่แพร่หลายในโลกโซเชียลฯ พร้อมชี้แจงว่า อย่าหลงเชื่อโพสต์ข้างต้น และขอให้เช็กข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ขณะที่ ฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในงานแถลงข่าวว่า การเผยข่าวปลอมที่มีจุดประสงค์มุ่งร้ายจากภัยพิบัติครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนระบุผ่านเอ็นเอชเคว่า สาเหตุที่ข่าวปลอมกำลังได้รับความสนใจในโลกโซเชียลฯ เพราะผู้คนรู้สึกตื่นตระหนกและพยายามรับรู้ข่าวสารเพื่อทันเหตุการณ์ให้มากที่สุด
ปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนผ่านข้อความจาก เจก อเดนสไตน์ (Jake Adenstein) นักข่าวชาวอเมริกันที่ทิ้งความเห็นอย่างน่าสนใจในแอ็กเคานต์ส่วนตัวว่า ทฤษฎีสมคบคิดกำลังได้รับความสนใจพอๆ กับความเป็นจริง เมื่อยอดโพสต์ทฤษฎีสมคบคิดปรากฏถึง 3 หมื่นข้อความ ขณะที่ข่าวปลอมเรื่องความเสียหายพุ่งทะยานถึง 7 หมื่นข้อความ
“ตอนนี้แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องสมคบคิด แต่มันคือโศกนาฏกรรม” ส่วนหนึ่งของข้อความจากนักข่าวชาวอเมริกันที่ย้ำเตือนสติว่า ความสนุกในการนั่งสร้างเรื่องปลอมหรือทฤษฎีสมคบคิดจากโลกโซเชียลฯ กำลังสร้างความลำบากให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปฏิบัติหน้าที่หรือผู้ได้รับกระทบอยู่