เรายืนดูจากวิวริมขอบสนาม ภาพในวันนี้ของ “เจ.โอ.” รัชเดช เครือทิวา อดีตชูตติงการ์ดดีกรีทีมชาติไทย อาจดูแปลกตาไปจากเดิมที่เราเคยเห็นเขาจากในทีวี
เขาไม่ได้ใส่เสื้อกล้ามเหมือนนักบาสเกตบอล เพราะรีไทร์จากอาชีพนี้ไปตั้งแต่ปี 2018 ปัจจุบันเขาสวมเสื้อแขนสั้น ทำหน้าที่ “โค้ช” ผู้สอนตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงนักกีฬาอาชีพ
เราไม่เคยสงสัยในความสามารถของ เจ.โอ. รัชเดช เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยมีนักบาสเกตบอลไทยคนไหนก้าวไปเล่นลีกอาชีพสหรัฐอเมริกาได้แบบเดียวกับเขา
การพูดคุยกับ เจ.โอ. รัชเดช ทำให้เราได้เห็นว่า “หงาดเหงื่อ” และ “รอยแผล” คือสองอย่างที่ทำให้ชายคนนี้เติบโตขึ้นมาอย่างกล้าแกร่ง เขาฝึกฝนทุ่มเทอย่างสุดตัวกับบาสเกตบอลตั้งแต่อายุยังน้อย
ขณะเดียวกัน ความผิดหวังและเจ็บปวด ก็ได้สอนให้เขาเข้าใจว่า ชีวิตคนเรามันไม่มีอะไรแน่นอน ต้องเตรียมพร้อมรับมือ หากวันหนึ่งเจอกับเรื่องไม่คาดฝัน และอยู่ให้ได้
“คุณก้าวผ่านความเจ็บปวดและผิดหวังครั้งใหญ่ขนาดนั้นมาได้อย่างไร?”.. นั่นคือคำถามที่ค้างในใจผู้เขียนตั้งแต่ก่อนเดินทางมาสนทนา และคำตอบอาจอยู่ในไม่กี่นาทีต่อจากนี้ ขณะที่คุณอ่านบทสัมภาษณ์จนถึงบรรทัดสุดท้าย
คุณเคยบอกว่า บาสเกตบอล เป็นพื้นฐานของความสำเร็จทุกอย่างในชีวิต เพราะอะไร?
คุณพ่อใช้บาสเกตบอลเพื่อขัดเกลาตัวผม และผมเรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตผ่านบาสเกตบอล ผมเติบโตมาในย่านที่เป็นชานเมือง ภายในจังหวัดอ่างทอง ละแวกนั้นไม่ใช่ชุมชน ผมจึงมีเพื่อนคนเดียวคือ “บาสเกตบอล” ที่คุณพ่อชอบ ผมถูกปลูกฝังให้เล่นอย่างจริงจังตั้งแต่อายุ 10 ขวบ
ผมอยู่กับมันทุกวัน “จันทร์-ศุกร์” รีบตื่นแต่เช้าไปโรงเรียน เพื่อจะได้เล่นก่อนเคารพธงชาติ, พักเที่ยงผมก็อยู่กับบาสฯ เลิกเล่นตอนเย็นยังไม่ทันเอากระเป๋าไปเก็บในบ้าน ผมก็ต้องซ้อมต่อ พอถึงบ้าน ผมก็เล่นบาสอีก เพราะคุณพ่อสร้างสนามให้
ตอนนั้นมันก้าวข้ามคำว่า สนุก, ชอบ, รัก ไปสู่ระดับที่หนักสำหรับเด็ก 10 ขวบ “วันเสาร์-อาทิตย์” ผมอยากดูการ์ตูนตอนเช้าเหมือนคนอื่น แต่ทำไม่ได้ เพราะเราต้องฝึกชู้ตให้ได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ เบื่อแค่ไหนก็เลิกไม่ได้ ต้องทำให้จบ ทำให้ครบ
พอมองย้อนกลับไป มันเป็นการฝึกนิสัย ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และการเอาชนะใจตัวเองได้ดีมากเลย ผมได้นิสัยเหล่านี้มาจากการที่ผมพยายามเข้าหาบาสเกตบอลทุกวัน โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
การฝึกฝนอย่างหนักหน่วง เป็นรากฐานที่ทำให้คุณเป็นดาวรุ่งที่ถูกจับตามองตั้งแต่วัยรุ่น แต่อาการบาดเจ็บหนักถึง 3 ครั้งในอาชีพ คงเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าในอาชีพคุณไม่น้อย โดยเฉพาะครั้งแรก สำหรับเด็กอายุ 18 ปี มันรับมือยากแค่ไหน?
ตอนอายุ 14 ปี ผมมีความฝันอยากเล่นลีกอาชีพที่ไหนก็ได้สักแห่งในโลก มาเลเซีย, สิงคโปร์ หรือ ฟิลิปปินส์ ขอแค่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยก็สามารถทำได้ ตอนนั้นผมไม่เคยบอกเล่าความฝันนี้กับใครเลย เพราะรู้ดีว่าคนที่ได้ยินก็คงขำ และได้คำตอบที่ไม่อยากได้ยินสักเท่าไร
ยุคนั้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน อย่าว่าแต่บาสเกตบอล ขนาดฟุตบอลก็ยังไม่เป็นลีกอาชีพในไทยเลย ผมเลยอยากทำให้ได้ เพราะถ้าผมทำได้ คนไทยคนอื่นก็สามารถไปเล่นได้เช่นกัน ผมมีความเชื่อแบบนี้มาตลอด
จนกระทั่งผมมาเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิด นั่นคือ ได้รับบาดเจ็บลูกสะบ้าเข่าหลุดออกมา ระหว่างเล่นให้ทีมนักเรียนไทย จังหวะนั้นไม่ได้โดนใครกระแทกเลย เป็นแค่การกระโดดธรรมดา แต่ตอนลงมา ได้เสียงดังป๊อก ผมเห็นภาพลูกสะบ้าตัวเองจากที่อยู่ด้านหน้าเข่า มันเคลื่อนไปอยู่ด้านหลัง
เกิดเครื่องหมายคำถามในหัวผมเต็มไปหมดเลย แล้วชีวิตจะไปไหนทางไหนต่อ? ต้องเลิกเล่นบาสจริงๆใช่ไหม? เพราะภาพมันดูรุนแรงเหลือเกิน
อีกอย่างตอนนั้นเป็นช่วงรอยต่อพอดี ผมกำลังจบ ม.ปลาย เข้าเรียนต่อมหา’ลัย ที่ผ่านมา ผมหวังใช้บาสเกตบอล เพื่อเอาโควต้าเข้าเรียนต่อมาโดยตลอด พอเราไม่มีสิ่งนี้แล้ว เหมือนคนสูญเสียที่พึ่ง ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าควรทำอย่างไรต่อดี?
ผมจึงตัดสินใจเลิกเล่น และเข้าศึกษาต่อที่คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยที่ก็ไม่รู้ตัวเอง เรียนจบแล้วอยากเป็นอะไรต่อ เพราะชีวิตผมมีเป้าหมายเดียว คือเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพ
จากวันนั้นที่คิดว่าคุณจบเห่ในเส้นทางนักบาสเกตบอลอาชีพแล้ว คุณคัมแบ็กกลับเล่นต่อ จนได้ไปเข้าสู่ลีกอาชีพอเมริกาได้อย่างไร?
วิชาความรู้ที่ผมได้รับจากรั้วมหา’ลัย ทำให้ผมได้รู้ว่า อาการบาดเจ็บสะบ่าหลุดข้างขวาไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่ผมคิด ผมสามารถฟื้นฟูจนหายดี และกลับมาเล่นได้ หลังหยุดไป 1 ปี
ผมก็เล่นให้สโมสรในไทยมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ยังเคยละทิ้งเป้าหมาย นั่นคือ การเล่นอาชีพในต่างประเทศ ระหว่างนั้นผมไม่ได้ต่อสู้แค่เรื่องบาสฯ อย่างเดียว ผมต้องสู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว สู้กับความสงสัยของคนอื่นด้วยว่า “จะเล่นบาสฯจริงจังไปทำไม?” ได้ติดทีมชาติไทย ก็น่าจะโอเคแล้ว ควรหางานประจำอย่างอื่นทำควบคู่ไปด้วยไหม? เล่นบาสอย่างเดียวมันไม่รอดหรอก
ในขณะที่ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่า คนไทยจะไปเล่นบาสอาชีพเป็นอาชีพได้ แต่คุณกลับเชื่อมั่นว่าตัวเองจะต้องทำได้ในสักวันหนึ่ง?
ผมเชื่อ ผมลงมือทำ และมี Exit Plan ด้วย คุณมีความฝัน และตั้งเป้าหมายที่เกินตัวคุณได้ แต่คุณไม่สามารถดึงดันทำมันได้ตลอด (เอากำปั้นชนกับฝ่ามืออีกข้างตัวเอง 3 ครั้ง) เพรามันไม่ใช่สิ่งเดียวในชีวิตคุณ
คุณต้องมีครอบครัว และชีวิตด้านอื่นๆ ผมตั้ง Exit Plan ไว้ที่อายุ 28 ปี ถ้าถึงตอนนั้นผมยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ผมจะเลิกเล่นแล้วไปหางานอย่างอื่นแทน
ต่อให้คุณเป็นนักบาสเกตบอลที่เก่งสุดในไทย แต่ถ้าคุณไม่สำเร็จตามเป้าหมาย คุณจะเลิกเล่น?
แน่นอน เพราะผมเป็นมนุษย์ และสุดท้ายเรามีโลกที่มากกว่าแค่บาสเกตบอล โชคดีเมื่อปี 2008 ผมบรรลุเป้าหมายก่อนอายุถึง Exit Plan
ตอนนั้นสโมสร แมรี่แลนด์ ไนท์ฮอว์กส์ ใน Premier Basketball League (PBL) ซึ่งเป็นลีกอาชีพแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา กำลังมองหานักบาสไทยหนึ่งคนไปร่วมทีม และกลายเป็นผมที่ถูกเลือก
คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณถูกเลือกจากสโมสรแมรี่แลนด์?
ความโชคดี ปีแรกมันเป็นความโชคดีล้วนๆที่ได้ไปเล่นอาชีพที่อเมริกากับทีมแมรี่แลนด์ แต่ปีที่สอง ผมได้ย้ายไปเล่นให้ รอเชสเตอร์ เรเซอร์ชาร์คส์ ซึ่งเป็นทีมระดับแชมป์ (เจ้าของสถิติแชมป์มากสุดของลีก PBL) อันนั้นไม่ใช่ความโชคดี แต่เกิดจากการที่ผมไม่ทิ้งโอกาสที่ตัวเองได้รับ
ปีแรกผมไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามสักเท่าไร แต่ทุกครั้งที่ลง ผมเต็มที่ ในวันที่ทีมผม แมรี่แลนด์ตกรอบเพลย์ออฟ เฮดโค้ชของ รอเชสเตอร์ เดินเข้ามาหาผมบอกว่า “เฮ้! ทำไมยูไม่ค่อยได้ลงสนาม? ปีหน้ายูมาเล่นกับไอไหม?” นั่นแปลว่า เมื่อผมได้โอกาสแล้ว ผมไม่ปล่อยให้มันหลุดมือ
ผมไม่ต้องการเป็นแค่คนไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นบาสอาชีพที่อเมริกา เพราะผมได้เป็นอยู่แล้ว แต่ผมต้องการรักษาโอกาสที่ตัวเองได้ เพื่อจะอยู่เล่นที่อเมริกาให้นานที่สุด
ผมสอนเด็กทุกคนเสมอว่า โอกาสมันต้องเท่ากับความสามารถ ถ้าโอกาสที่คุณได้รับมันใหญ่มาก แต่ความสามารถที่คุณมีเล็กนิดเดียว ยังไงก็ไม่มีทางฟิตกัน สักวันหนึ่งมันต้องหลุดไปไม่ทางใดทางหนึ่ง
นักบาสจากอาเซียนคนหนึ่งต้องพบเจออะไรบ้างสำหรับปีแรกของการเล่นลีกอาชีพในชาติที่เก่งบาสเกตบอลที่สุดในโลก?
ผมรู้อย่างหนึ่งว่า สังคมอเมริกา ถ้าคุณมีความสามารถจริง คุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ตอนแรกผมก็หวั่นว่าจะโดนเหยียดสีผิว, เชื้อชาติหรือเปล่า?
แต่ส่วนใหญ่ผมจะถูกตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมทีมมากกว่า เช่น ยูดังค์ได้ไหม? ทำแบบนั้นทำแบบนี้ได้หรือเปล่า? เราก็ต้องทำให้พวกเขาเห็นว่า คนไทยทำได้หมดแหละ หรือไม่ก็โดน Make Joke เช่น ประเทศไทยยังขี่ช้างกันอยู่หรือเปล่า?
ผมเป็นคนไทย แรกๆเรานอบน้อมนะ แต่พอโดนถามบ่อยๆ บางทีก็ต้องตอบโต้บ้าง เช่น เวลาเขาถามว่า คนไทยทำท่าพวกนี้ได้เยอะไหม? ผมก็จะตอบไปว่า “อ๋อ เยอะแยะเต็มไปหมด ไอกระจอกสุดในไทยแล้ว” (หัวเราะ)
คุณไปอยู่อเมริกาแบบตัวคนเดียวถึง 2 ปี คุณมีอาการโฮมซิก เจออุปสรรคด้านการปรับตัวบ้างไหม?
ไม่ว่าคุณจะย้ายบ้าน, โรงเรียน, เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ คุณต้องเผชิญหน้ากับความกลัวและความเหงาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นแพ็กเกจที่ตามมา
เมื่อผมตัดสินใจจะไปเล่นสหรัฐอเมริกา นั่นแสดงว่าผมรู้อยู่แล้วว่าต้องเจออะไรบ้าง ผมใช้ชีวิตที่นี่อยู่ด้วยการเตรียมใจพร้อมเจอกับทุกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ผมกลัวไหม? ผมกลัว แต่ผมกล้ามากกว่าที่จะเผชิญหน้ากับมัน รู้ว่าลงไปสนามครั้งแรกเราต้องเละเทะแน่ แต่ผมไม่กลัวถ้าจะล้มเหลว เพราะเข้าใจได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นครั้งแรกมันยากเสมอ
ฤดูกาลสอง คุณย้ายไปอยู่ทีมระดับแชมป์เก่าอย่าง รอเชสเตอร์ เรเซอร์ชาร์คส์ มันยากขึ้นกว่าปีแรกไหม?
เป็นเรื่องธรรมดา อย่างทีมแรกที่ผมเล่น เขาเน้นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก แต่ที่สโมสรรอเชสเตอร์ เขาให้ความสำคัญกับระบบทีม ผมต้องจำแผนการเล่น 30 กว่ารูปแบบให้ได้ กลับมาถึงห้องพักก็ต้องจดทุกอย่างใส่สมุดและจำให้ได้
แมตช์แรกที่ลงเล่น ผมรู้สึกประหม่าและกลัว พอจบเกม โค้ชพูดกับผมว่า “ไอเลือกยูมาเป็น Secret Weapon นะ” สิ่งที่ยูเล่นอยู่ มันไม่ใช่วิธีการในแบบที่ไอต้องการ หลังจากในการฝึกซ้อม ผมก็พยายามแก้ไขในการฝึกซ้อม ผมรู้สึกว่าตัวเองปรับตัวเข้ากับทีมได้ดีขึ้น ทุกอย่างกำลังมาถูกทางแล้ว เจอโค้ชที่ตั้งใจจะใช้งานเราจริงๆ
แต่วันหนึ่งระหว่างการฝึกซ้อม ผมได้รับบาดเจ็บลูกสะบ้าเข่าหลุดเป็นครั้งที่ 2 ถ้าครั้งแรกที่ผมได้รับบาดเจ็บ ผมมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ขนาดนี้ (กางมือออกมา) วันที่ผมได้รับบาดเจ็บหนักครั้งสอง ผมมี Question Mark เป็นล้านตัวอยู่ในหัว ทำไม ทำไม ทำไม?
ผมรักษาตัวอยู่ที่โน่น 2 เดือน ก็รู้ว่าตัวเองคงเล่นอาชีพที่อเมริกาต่อไม่ไหว ขนาดสภาพร่างกายดียังเล่นยากเลย ถึงแม้ใจเราอยากเล่น แต่สภาพร่างกายไม่ไหว ก็ต้องทำใจยอมรับความเป็นจริง
มันคงเป็น 2 เดือนที่ยากและน่าผิดหวังสุดในชีวิต คุณรับมือกับช่วงเวลานั้นอย่างไร?
การยอมรับเป็นทักษะหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี ใช่ เรารู้เหตุผลว่าเจ็บเพราะอะไร? เราไม่ค่อยเล่นเวตเทรนนิ่ง นั่นคือความผิดพลาดโคตรๆของชีวิตผม แต่ผมไม่มีทางรู้เลยว่า ผลของมันจะเกิดขึ้นเมื่อไร? และทำไมต้องเป็นช่วงเวลานั้น?
เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ คือ การยอมรับความจริง แม้ในสถานการณ์ที่ยากก็ต้องทำใจให้ได้ เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น
ผมไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาเฉยๆโดยไม่ทำอะไรเลย 6-7 เดือน ตอนนั้นคิดว่าอาชีพนี้ผมคงเดินทางมาสุดทางแล้ว ได้ตามทำเป้าหมายทุกอย่างแล้ว ก็เลยคุยกับพ่อแม่ว่าจะเลิกเล่น หางานอื่นทำ แม้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรดี
สุดท้ายก็เลิกเล่นบาส ลองทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ที่ มศว. (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ทำไปได้ 1 ปีก็รู้ว่าตัวเองไม่ชอบงานแบบนี้ ผมลาออก
เพราะผมเป็นคนที่เวลาจริงจังกับอะไร ผมจะถามตัวเองว่า ผมสามารถอยู่กับมันได้ตลอดชีวิตไหม? ถ้าคำตอบคือ ไม่ใช่ ผมพร้อมที่จะเปลี่ยนงานทันที ไม่ว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมา
ผมก็เลยกลับมาเล่นบาสอีกครั้งในลีกบ้านเรา เล่นไปเล่นมาเหมือนร่างกายดีขึ้น จึงเล่นมาเรื่อยๆ ต่อมาทาง โมโน (แวมไพร์) เข้ามา ก็ทำให้วงการบาสไทยเติบโต นักกีฬาสามารถเล่นเป็นอาชีพได้จริงๆ ช่วงปลายของการเล่นจึงย้ายมาอยู่ที่นี่ จนเลิกเล่นตอนอายุ 33 ปี เพราะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด แล้วทางโมโนก็เสนองานให้เป็นผู้ช่วยโค้ชต่อ จึงหันมาทำงานนี้เต็มตัว
แสดงว่าคุณเป็นคนที่ชอบคิดทบทวน ไตร่ตรอง คุยกับตัวเองก่อนตัดสินใจทำอะไร?
ผมเป็นคนที่คุยกับตัวเองเยอะมาก เพราะเมื่อก่อนผมชอบดูถูก ซ้ำเติมตัวเองมาตลอด เช่น วันนี้ยิงแต้มไม่ได้ดั่งใจ ผมก็จะกดตัวเองให้จมดิ่งให้สุดกับอารมณ์ตรงนั้น
สิ่งที่ผมเจอมาตลอดคือ เวลาที่ผมมีความทุกข์ คนรอบข้างเป็นร้อยก็จะพูดเหมือนกันหมดเลยว่า “ไม่เป็นไร เอาใหม่” ผมได้เรียนรู้ว่า ตราบใดที่คุณไม่สามารถลุกยืนขึ้นได้ด้วยตัวคุณเอง ต่อให้มันเป็นคำปลอบโยนที่ดีสุดก็ไม่มีประโยชน์
เชื่อไหมตอนผมอายุ 27-28 ปี ผมเคยกดตัวเองจนสุดๆ ดิ่งมากๆ นั่งก้มหน้ากอดเข่า อยู่ดีๆมันเหมือนเห็นภาพมีคนยื่นมือขึ้นมาจับเราลุกขึ้นต่อ ซึ่งคนนั้นๆก็คือตัวเรานี่เอง ผมพูดเรื่องนี้แล้วยังขนลุกอยู่เลย (เอามือลูบแขน) ใครไม่เคยเจอ ก็คงไม่เข้าใจเรื่องนี้
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมเลิกดูถูกตัวเอง แต่ยังมองหาข้อผิดพลาดอยู่นะ พยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่าควรต้องแก้ไขอย่างไร มันก็เลยทำให้ลุกขึ้นได้เร็ว ตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตอย่างมีเหตุและผล
คุณไม่อยากเป็นครูสอนในมหา’ลัย แต่ทำไมคุณถึงอยู่กับงานสายโค้ชบาสเกตบอลมาได้ 3 ปีแล้ว?
ผมชอบสอน ชอบถ่ายทอด แต่ไม่ได้ชอบวิถีชีวิตแบบครู โอเค คนอาจมองว่ามันมีอาชีพที่ดีกว่าการเป็นผู้ช่วยโค้ชบาสเกตบอล แต่ผมเลือกแล้วว่า ผมอยากตื่นมาทุกเช้าด้วยความรู้สึกอยากไปทำงานจัง ถ้าเป็นบาสเกตบอล ผมสามารถเด้งตื่นมาตี 3 ได้ทันที เพราะผมอยู่กับมันเกือบทั้งชีวิต จนกลายเป็นนิสัยและตัวตนของผมไปแล้ว ผมทำมันโดยอัตโนมัติเหมือนกับที่ทุกคนตื่นมาตอนเช้าแล้วแปรงฟัน โดยไม่ได้คิดอะไร
ประสบการณ์ด้านโค้ชผมเท่ากับ 0 ในวันที่เริ่มต้น ถามว่าพร้อมเจอไหม? พร้อม! พร้อมพังไหม? พร้อม! แต่มีสมุดเล่มหนึ่งที่ผมพร้อมจะพังและเขียนใหม่ไปด้วยตลอดเวลา
เมื่อผมเลือกอาชีพโค้ช เท่ากับว่า ตอนนั้นผมตัดสินใจพร้อมรับกับแพ็คเกจที่กำลังตามมา ทั้งความผิดหวัง เสียใจ โดนคนด่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเส้นทางนี้ ผมพร้อมรับหมดอย่างมั่นคง ไม่มีความรู้สึกไขว้เขวเลย
เป็นเพราะคุณเจอกับความเจ็บปวด ไม่เป็นดั่งใจบ่อยครั้งหรือเปล่า เลยทำให้คุณในวัย 36 ปี กลายเป็นคนที่เตรียมใจ พร้อมยอมรับกับความผิดหวัง เสียใจ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต?
ก็มีส่วน เพราะผมเจอเรื่องแบบนี้มาเยอะตลอดชีวิต ข้อเสียคือ ผมเสียโอกาสดีๆในชีวิตไปมาก แต่ข้อดีคือ ผมได้เรียนรู้เร็ว เข้าใจชีวิตมากขึ้นจากประสบการณ์เหล่านี้
เป้าหมายของ รัชเดช เครือทิวา ในวันที่ไม่ได้นักบาสอาชีพแล้ว ยังเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่เหมือนตอนเล่นอยู่หรือเปล่า?
ผมต้องการเห็นนักบาสไทยสักคนไปได้ไกลกว่าผม
แสดงว่าคุณไม่ได้อยากเป็นประวัติศาสตร์หน้าเดียวที่ถูกจารึกว่าเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่พิชิตจุดหมายนั้นได้?
ไม่ใช่เป้าหมายที่ผมภูมิใจเลย ผมต้องการให้เด็กไทยคนเดียว หรือหลายๆคนไปถึงตรงนั้น ผมถึงจะภูมิใจ มันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากทำงานโค้ช เพราะตอนเด็ก ผมซ้อมบาสตัวคนเดียว มีคำถามมากมายในหัวที่ผมอยากถามใครสักคน แต่ไม่มีใครตอบผมได้
ผมอ่านหนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับบาสเกตบอลใน มศว. อ่านรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะเป็นภาษาอังกฤษล้วน ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าใจสักเรื่อง ถ้าวันนี้มีเด็กไทยสัก 100 คนมีความฝันแบบผมในตอนนั้น ผมอยากเป็นผู้ใหญ่ที่ให้คำตอบที่เขาสงสัย
ผมเปิดเพจของตัวเอง J.O. Ratdech Kruatiwa (@JOShootforlife) หลายคนบอกผมว่า ทำไลฟ์สดสอนคนทำไม? คนดูน้อย เสียเวลา แต่ผมไม่เคยมองยอดวิวเลย ผมต้องการสื่อสารกับคนที่เขาอยากรู้ ผมไม่ได้สปอนเซอร์ หรือเงินทองอะไร ผมทำเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบาสไทย
ทุกวันนี้ คุณทำหน้าที่สอนเด็กและเยาวชนให้กับ Vampires Basketball Academy และกำลังเตรียมขึ้นแท่นเป็นเฮดโค้ชทีม Chiang Mai Warriors Basketball Club หัวใจหลักในการสอนแบบโค้ชเจ.โอ เป็นอย่างไร?
ทำในสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ นี่คือ Main หลักในการสอนของผม ถ้าคุณทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คุณต้องใช้เวลานาน
ลองนึกถึงภาพคนที่ว่ายน้ำสุดแรง แต่ว่ายแบบนี้ (ทำท่าเหมือนตะเกียกตะกาย) กับอีกคนหนึ่ง ทำท่าถูกต้อง ดึงสโตรกเป๊ะ ออกแรงน้อยกว่า คุณว่าใครจะไปถึงฝั่งก่อน? เหมือนกันกับบาสเกตบอล ถ้าคุณได้รับการฝึกฝนที่ถูกต้อง ถูกหลัก คุณก็ไม่ต้องเสียเวลา ลองผิดลองถูก
รวมถึงการทำในสิ่งที่ควรทำ ถ้าคุณอยากเป็นนักบาสอาชีพ คุณต้องรู้จักปฏิบัติตัวอย่างมืออาชีพด้วย รู้ว่าควรฝึกซ้อมอย่างไร? ดูแลร่างกายแบบไหน? คุณถึงจะรักษาอาชีพนี้ไว้ได้
รุ่นน้อง, ลูกทีม และลูกศิษย์ที่เข้าเรียนกับคุณ เขาต้องการเรียนรู้อะไรจาก รัชเดช เครือทิวา?
70 เปอร์เซนต์เป็นทักษะ-เทคนิคบาสเกตบอล อีก 30 เปอร์เซนต์คือความเป็นมนุษย์ เราใช้บาสเกตบอลเพื่อขัดเกลาตัวเอง เด็กๆเหล่านี้ก็คงเหมือนกัน เขาเกิดรู้สึกท้อแท้, เศร้า, จิตตกได้ เพราะเขาคือมนุษย์
ผมไม่ได้สอนเขาแค่เรื่องบาสเกตบอลอย่างเดียว แต่ผมยังสอนเขาเรื่องความเป็นมนุษย์ด้วย โดยใช้ประสบการณ์ที่ผมเรียนรู้ชีวิตมาจากกีฬาชนิดนี้ เอามาถ่ายทอด บอกเล่า หรือให้คำแนะนำว่า เขาควรจัดการรับมือกับความทุกข์ ความผิดหวัง เสียใจอย่างไร? หากวันหนึ่งเขาต้องพบเจอกับมัน