ภาพความรุนแรงจากม็อบในปากีสถาน กำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นในประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ตำรวจยอมรับว่า ไม่สามารถดำเนินคดีผู้ก่อเหตุทุกคนได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คนขับรถขนส่งเครื่องดื่มคนหนึ่งต้องหนีเอาชีวิตรอดจากกลุ่มคนที่กล่าวหาว่าคิวอาร์โค้ดบนขวดเครื่องดื่มยี่ห้อนั้นปรากฏชื่อของศาสดามูฮัมหมัดซึ่งเป็นการหมิ่นศาสนา พวกเขาเรียกร้องให้แกะฉลากออกและขู่ว่าจะทำลายรถส่งสินค้า โชคดีที่คนขับรถหลบหนีออกมาได้ โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ
นี่คือตัวอย่างของชนวนเหตุที่อาจจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในสังคมปากีสถาน หลายครั้งที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นศาสนา เมื่อปีที่แล้ว ชายชาวศรีลังกาคนหนึ่ง ถูกม็อบรุมทำร้ายจนเสียชีวิต หลังถูกกล่าวหาว่าหมิ่นศาสนาอิสลาม ศพของเขาถูกลากไปตามถนนและจุดไฟเผา
หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมให้ความเห็นกับบีบีซีอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง
“มุสลิมบางคนอาจคุมตัวเองไม่อยู่ เมื่อความรู้สึกเกี่ยวกับศาสนาผุดขึ้นในชั่วขณะนั้น เมื่อได้ยินว่ามีการหมิ่นศาสนาขึ้น พวกเขาจะโกรธมาก แต่ผมคิดว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวกับศาสนา ทำให้เราหุนหันพลันแล่นและฮึกเหิม”
การตัดสินแบบศาลเตี้ยเป็นปัญหามานานแล้ว และสถานการณ์กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
เมื่อ 11 ปีก่อน สองพี่น้องที่มีชื่อว่ามูนีบและมูจีส ถูกประชาทัณฑ์เพราะถูกกล่าวหาว่าชิงทรัพย์และฆาตกรรม ทั้งที่ไม่ได้ทำ ลุงของพวกเขายังทำใจไม่ได้กับการเสียชีวิตของหลานทั้งสอง เขาอยากให้มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับคนที่เข้าร่วมม็อบที่ก่อเหตุรุนแรง
ซาร์ราร์ บัตต์ ลุงของสองพี่น้องที่ถูกรุมประชาทัณฑ์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะคนก่อเหตุรู้ว่าพวกเขาจะไม่ถูกศาลลงโทษ อย่างมากก็อาจจะถูกขังอยู่ 2-3 ปีในเรือนจำ จากนั้นก็ได้รับอิสรภาพ ผมคิดว่านี่ทำให้สังคมของเราเสื่อมถอย”
ตำรวจยอมรับว่า เกือบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะดำเนินคดีกับทุกคนที่ก่อเหตุ
โอเมอร์ ซาอีด เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับเขต กล่าวว่า ความรุนแรงจากม็อบเป็นคดีที่ยากที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่ต้องระบุตัวตนและสืบสวนการกระทำของพวกเขาเป็นรายบุคคล
“คดีไม่ซับซ้อนหากคนหนึ่งฆาตกรรมคนอีกคนหนึ่ง ดังนั้น จึงง่ายในการเชื่อมโยงพฤติกรรมการก่อเหตุ แต่เมื่อคนนับร้อยรุมประชาทัณฑ์คนหนึ่ง คุณต้องสืบหาผู้ก่อเหตุแต่ละคนและสืบสวนการมีส่วนในการก่อเหตุของพวกเขา คดีเหล่านี้จึงยากมาก และเป็นเรื่องยากมากในการดำเนินคดี” โอเมอร์กล่าว
ในปากีสถาน การหมิ่นศาสนามีโทษถึงขั้นประหารชีวิต แต่ความรุนแรงจากม็อบไม่ถูกจัดว่าเป็นอาชญากรรม ผู้ที่ก่ออาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัวเหล่านี้ ก็ยังคงเลี่ยงการรับโทษได้จนกว่าจะมีการแก้ไขระบบกฎหมาย
ประเทศไหนบ้างที่ยังมีกฎหมายหมิ่นศาสนา
กฎหมายที่ห้ามการหมิ่นศาสนาหรือทำร้ายความรู้สึกทางศาสนาปรากฏอยู่ในหลายประเทศ แต่บางประเทศมักจะไม่มีการใช้กฎหมายนี้
นิยามของการหมิ่นศาสนาคือ การพูดดูถูกเหยียดหยามเกี่ยวกับศาสนาหรือพระเจ้า
บางประเทศยังมีการลงโทษผู้ที่เลิกนับถือหรือไม่ยอมรับศาสนาด้วย
รายงานในปี 2017 ของคณะกรรมาธิการเสรีภาพทางศาสนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ระบุชื่อประเทศ 71 ประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาอยู่ ในบางกรณีมีบทลงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุในปี 2017 ว่า มี 77 ประเทศ ที่มีกฎหมาย “เอาผิดทางอาญาการหมิ่นศาสนา การทำให้ศาสนาเสื่อมเสียชื่อเสียง การทำร้ายความรู้สึกทางศาสนา และแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน”
ในรายงานระบุว่า กฎหมายหมิ่นศาสนามักจะมีการบังคับใช้กันอย่างเข้มขันในโลกอิสลาม
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเช่นนี้มีอยู่ในหลายทวีปและยังคงถูกใช้ในยุโรปด้วย
การหมิ่นศาสนาในโลกอิสลาม
ตัวอย่างที่กลายเป็นข่าวใหญ่ในโลกมุสลิมเมื่อไม่กี่ปีก่อนคือ กรณีของ อาเซีย บีบี ชาวปากีสถานที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งมีการพลิกคำพิพากษา หลังจากที่เธออยู่ในเรือนจำนาน 8 ปี
ในปากีสถาน กฎหมายหมิ่นศาสนาเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะมันถูกใช้ดำเนินคดีกับชาวคริสต์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่า กฎหมายนี้ถูกใช้มาเล่นงานกันเพราะความบาดหมางส่วนตัว และให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงของศาลเตี้ย
“แม้ว่าจะไม่มีหลักฐาน หรือหลักฐานน้อยมาก ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขา ขณะที่ม็อบที่ใช้ความรุนแรงและโกรธแค้นพยายามจะข่มขู่ตำรวจ พยาน อัยการ ทนายความและผู้พิพากษา” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งในปากีสถานที่ติดตามเรื่องนี้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่ของกฎหมายหมิ่นศาสนาในปากีสถานไม่ใช่ชาวคริสต์หรือชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ แต่เป็นชาวมุสลิมเอง หรือคนที่นับถือนิกายอาห์มาดี ซึ่งทางการปากีสถานประกาศว่าไม่ใช่มุสลิม
บทลงโทษของการหมิ่นศาสนาของประเทศต่าง ๆ ในโลกมุสลิมอาจมีความรุนแรงมาก
นอกจากปากีสถานแล้ว อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และมอริเตเนีย ก็เคยลงโทษประหารชีวิตเช่นกัน แต่ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตไปแล้วมากน้อยแค่ไหน
บ็อบ เชอร์ชิลล์ จากสหภาพมนุษยนิยมและจริยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanist and Ethical Union–IHEU) แนวร่วมกลุ่มมนุษยนิยมที่รณรงค์ต่อต้านกฎหมายหมิ่นศาสนา กล่าวว่า “มักจะมีการไต่สวนข้อกล่าวหาในศาลชารีอะห์ ซึ่งไม่มีการรายงานข่าวหรือกระบวนการวิเคราะห์เชิงสถิติทุกประเภท”
คดีที่เป็นที่รู้จักบางคดีที่ดึงดูดความสนใจจากต่างประเทศมักจะยุติลงด้วยการลดโทษประหารชีวิต
ในปี 2016 กวีคนหนึ่งในซาอุดีอาระเบีย ถูกพิพากษาประหารชีวิต หลังจากถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แต่ต่อมาได้รับการลดโทษเป็นการเฆี่ยนและจำคุก
IHEU ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ทางการในบางประเทศแทบจะไม่เข้ามาแทรกแซง และปล่อยให้ม็อบเข้ามาตัดสินหรือแม้แต่กล่าวโทษเหยื่อ
“เจ้าหน้าที่ทางการในบังกลาเทศ รวมถึงนายกรัฐมนตรี ตอบเรื่องการฆาตกรรมบล็อกเกอร์หลายคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าว่า พวกเขาไม่ควรแสดงออกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ชาวอิสลามสุดโต่งไม่อยากได้ยิน” นายเชอร์ชิลล์กล่าว
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและอาชญากรรมจากความเกลียดชัง
ในยุโรป เคยมีคดีหมิ่นศาสนาเกิดขึ้นในบางประเทศเช่นกัน
การใช้กฎหมายนี้บางครั้งเกี่ยวข้องกับความพยายามของทางการในการลดอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังลง โดยเฉพาะที่มีต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาโดยตรง
- เดนมาร์ก – ชายคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นศาสนาในปี 2017 จากการโพสต์วิดีโอตัวเองขณะกำลังเผาคัมภีร์อัลกุรอานทางโซเชียลมีเดีย
- ฟินแลนด์ – ชายคนหนึ่งถูกปรับในปี 2009 ตามกฎหมายหมิ่นศาสนา จากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กและศาสนาอิสลามในบล็อกหนึ่ง
- เยอรมนี – ชายคนหนึ่งถูกดำเนินคดีในปี 2006 ตามกฎหมายเกี่ยวกับดูหมิ่นชุมชนศาสนา จากการแจกม้วนกระดาษชำระที่มีคำว่า “กุรอาน, กรุอานที่ศักดิ์สิทธิ์” ติดอยู่
- เยอรมนี – ชายคนหนึ่งถูกปรับ 500 ยูโร ในปี 2016 จากการติดสติกเกอร์ต่อต้านชาวคริสต์บนรถของเขา
- ไอร์แลนด์ – สตีเฟน ฟราย นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ถูกสอบสวนหลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการแสดงความเห็นของเขาทางรายการโทรทัศน์ในไอร์แลนด์ แต่มีการยกฟ้องในปี 2017
ในปี 2018 ไอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติยกเลิกเอาผิดการหมิ่นศาสนาแล้ว โดยมีผู้ลงมติสนับสนุน 64.85% และคัดค้าน 35.15%
ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และมอลตา ต่างยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเช่นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ส่วนในสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาระดับประเทศ แต่ในบางรัฐยังคงมีอยู่ แต่หากมีการใช้กฎหมายนี้ ก็อาจจะขัดแย้งกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนาในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ
……………………………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว