“หมอหมู” รณรงค์เลิกสั่งลงโทษนักเรียน “สก็อตจั๊มพ์” เผยอันตรายมากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่กระดูกร้าว-หัก แต่ถึงขั้นภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
วันที่ 20 มิถุนายน 2566 รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว. โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ระบุว่า
คำว่า “สก็อตจั๊มพ์” ความจริงแล้วมาจากคำว่า “สควอท” (Squat) ที่แปลว่านั่งยอง ๆ รวมกับคำว่า “จั๊มพ์” (Jump) ที่แปลว่ากระโดด เราจึงควรเรียกว่า “สควอทจั๊มพ์”
จากข่าว พ่อร้องสื่อ ลูก ป.6 ถูกครูทำโทษสก๊อตจั๊มพ์จนกระดูกแตก รักษาตัวใน รพ. 5 เดือน อาการไม่ดีขึ้น
ต้องขอเรียนว่า การสั่งลงโทษนักเรียน ด้วยการ ‘สก็อตจั๊มพ์’ ครั้งละเยอะๆ จะส่งผลให้เกิด
1. กระดูกบริเวณนิ้วเท้าหัก หรือเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นเท้าได้ เนื่องจากการกระโดดนานๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา จนทำให้เกิดการเขย่งกระโดดด้วยนิ้วเท้า หรือส้นเท้า ซึ่งเป็นท่าที่ผิดและจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
2. กระดูกเข่าร้าวหรือเคลื่อนหลุด เนื่องจากการกระโดดนานๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้ไม่สามารถเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยขณะนั่งยอง ๆ จึงทำให้กระดูกบริเวณเข่าได้รับแรงกระเทือนจากน้ำหนักตัวทั้งหมด ส่งผลให้ข้อต่อหัวเข่าร้าวหรือเคลื่อนหลุดได้
3. ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่มาจากการที่กล้ามเนื้อลายส่วนที่เสียหายสลายตัว แล้วปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจทำให้ไตวายได้ สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อลายสลายอาจเกิดขึ้นได้เมื่อออกกำลังกายหนักมากเกินไป หรือนานเกินไป
ขอรณรงค์ให้เลิกการสั่งลงโทษนักเรียน ด้วยการ ‘สก็อตจั๊มพ์’ ครั้งละเยอะๆ นะครับ เพราะเสี่ยงอันตรายต่อนักเรียนอย่างมากครับ