หมอยง เผย “ฝีดาษลิง” พบเฉพาะลิงแอฟริกา ยังไม่พบในลิงไทย ขออย่ากังวล

Home » หมอยง เผย “ฝีดาษลิง” พบเฉพาะลิงแอฟริกา ยังไม่พบในลิงไทย ขออย่ากังวล


หมอยง เผย “ฝีดาษลิง” พบเฉพาะลิงแอฟริกา ยังไม่พบในลิงไทย ขออย่ากังวล

หมอยง เผย “ฝีดาษลิง” พบเฉพาะลิงแอฟริกา ยังไม่พบในลิงไทย ขออย่ากังวล ติดต่อยากกว่าฝีดาษคน หายเองได้ 2-4 วัน มีอาการรุนแรงเสียชีวิต 10%

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องฝีดาษลิงที่พบการติดเชื้อมากขึ้นในหลายประเทศ ว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา มีความแตกต่างจากเชื้อผีดาษในคน ซึ่งติดต่อทางระบบทางเดินหายใจและสารคัดหลั่งจากการไอ จาม แต่ฝีดาษในลิงจะติดต่อจากการสัมผัสบาดแผล ฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงนี้พบในลิงแอฟริกา มีพาหะคือหนู สัตว์ฟันแทะตระกูลหนู กระรอก ซึ่งการพบผู้ป่วยในต่างประเทศมาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือมีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน การติดต่อของฝีดาษลิงถือว่าติดต่อได้ยาก เมื่อเทียบกับฝีดาษในคน เพราะต้องสัมผัสกับบาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีตุ่มแดงขึ้น จากนั้นพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก

“ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ระยะเวลาการฟักเชื้อประมาณ 5-14 วัน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ พบประมาณ 10% ดังนั้น โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไอ จาม ควรสวมหน้ากากอนามัย”

“โรคฝีดาษลิงสามารถใช้วัคซีนฝีดาษในคนป้องกันได้ แม้จะให้ผล 85% แต่ที่คนส่วนใหญ่ต้องเร่งขจัดโรคฝีดาษลิงไม่ให้แพร่ เนื่องจากการพบฝีดาษลิงในคน เท่ากับทำให้ไวรัสมีการพัฒนาข้ามสายพันธุ์ หากมากขึ้นก็อาจกลายพันธุ์ได้ ทำให้นานาประเทศต้องเร่งขจัด”

ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่ต้องตื่นกังวลกับโรคนี้ เนื่องจากยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา ซึ่งการป้องกันตัวสำหรับโรคนี้ไม่ได้แตกต่างกันจากโควิดที่เราผ่านมาได้ คือ สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ สำหรับฝีดาษในคน ประเทศไทยได้ขจัดโรคนี้จากการปลูกฝีและหมดไปในปี พ.ศ. 2517 ฉะนั้นเด็กที่เกิดหลังปี 2517 จะไม่พบโรคนี้อีก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ