“หมอยงค์” ยัน วัคซีนโควิด-19 ของไทยมีประสิทธิภาพสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ เฝ้าระวังสายพันธุ์อินเดีย หลังทั่วโลกจับตา
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเด็นของประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 นั้น ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้ต้องศึกษาความปลอดระยะยาว โดยการฉีดวัคซีนในภาวะปกติ ก็มีความเสี่ยงแต่หากเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้ในภาวะฉุกเฉิน ก็คงต้องเปรียบเทียบน้ำหนักกันระหว่างอันตรายและประโยชน์ที่ได้
ทั้งนี้พบข่าวว่าเดนมาร์กเลิกใช้แอสตร้าเซนเนก้า และสหรัฐอเมริกา ระงับการใช้ของจอห์สันแอนด์จอห์นสัน เนื่องจากเกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับลิ่มเลือด, การอุดตันของหลอดเลือดดำ แต่เมื่อศึกษาอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่าโอกาสการเกิด คือ 1 ในหลักแสน เพราะฉะนั้นการเกิดยอมรับว่าเกิดได้แต่ประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่เสียชีวิตจากวัคซีนกับคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จะเห็นว่าห่างกันเกือบพันเท่า จึงเห็นว่าประโยชน์มีมากกว่า ซึ่งขณะนี้สหรัฐอเมริกาก็ได้ยอมที่จะใช้ของจอห์สันแอนด์จอห์นสันต่อ ส่วนที่อังกฤษ หลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า และล่าสุดจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตก็ลดลง
สำหรับประเทศไทย จุดหนึ่งที่จะช่วยลดวิกฤตได้นอกเหนือจากการปฏิบัติตัว สิ่งสำคัญคือวัคซีนที่จะต้องรีบให้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ใช้วัคซีนของ Sinovac เบื้องต้นจากการศึกษาเหตุการณ์หลังมีผู้รับวัคซีนมีผลข้างเคียง พบว่า ผู้ที่เข้ารับวัคซีนเกือบทุกคน มีความดันขึ้นสูงกว่าปกติทั้งหมด อาจจะเพราะความตื่นกลัว เพราะฉะนั้นจึงอยากสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ เพราะจากการศึกษาผลวิจัยในจีน พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ก่อนจะฉีดเข็มที่ 2 มี ข้อมูลว่า 2-3 เริ่มตรวจพบภูมิต้านทานระดับต่ำ แต่เมื่อฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว เข้าสู่ 3 – 4 สัปดาห์ หลังฉีด พบมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น 98-99 % ถือว่ามีภูมิต้านทานสูงเท่ากับคนที่เคย ติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน นอกจากนี้ยังมีการนำผู้ที่ติดเชื้อโควิดในช่วง 4-8 สัปดาห์มาวัดภูมิต้านทานกับคนที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในระยะ 2-4 สัปดาห์ ก็พบว่ามีเท่ากัน
ตนเองจึงกล้าพูดได้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้อย่างแน่นอน ส่วนกรณีสายพันธุ์กลายพันธุ์นั้น พบเป็นการวิวัฒนาการของไวรัส เมื่อมีการแตกลูกหลาน โอกาสที่จะเกิดการผ่าเหล่าหรือแหวกแนวออกไป เมื่อเจอสายพันธุ์ที่แข็งแรง ก็จะเกิดการแพร่กระจายออกไปได้เร็ว หากยิ่งระบาดมากก็ยิ่งเกิดการกลายพันธุ์มากเท่านั้นเช่น สายพันธุ์อังกฤษ ที่มีการกลายพันธ์ในตำแหน่งที่สามารถไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น สมมติว่าแต่เดิมไวรัสลอยมา 100 ตัว ถึงจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากน้อยมากก็ไม่สามารถติดเชื้อได้ แต่ขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษ หากลอยมาติดตัวเราแค่ 50 ตัว ก็อาจติดเชื้อได้แล้ว ทำให้ติดได้มากขึ้น และแม้ว่า ไทยจะมีมาตรการเข้มงวดด้านกระบวนการกักโรคของรัฐ แต่ก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้ามาได้ผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการระบาดระลอกนี้ พบ 98% เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนสายพันธุ์สมุทรสาคร ปัจจุบันพบว่าลดน้อยลงไปมาก
สำหรับสายพันธุ์อินเดียนั้นพบว่า ไม่เหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษ เพราะยังไม่พบตำแหน่งที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดง่าย แต่อินเดียเมื่อแพร่ระบาดง่ายแล้ว ตำแหน่งของสายพันธุ์อินเดียที่เรียกว่ามีการกลายพันธุ์เพิ่มจากสายพันธุ์เดิมของอินเดีย 2 ตำแหน่ง ซึ่ง 2 ตำแหน่งนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เกรงว่าจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ลดลง ทำให้ต้องจับตามอง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ เพียงแต่เป็นในทางทฤษฎี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์อินเดียเข้ามาในบ้านเรา และก็ต้องป้องกันไม่ให้หลุดเข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ในบ้านเรา กรณีที่มีการระบาดมาก และหากเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นอาจทำให้การแพร่ง่ายขึ้นอีก เพราะการกระจายจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงขอความร่วมมือทุกคนช่วยกัน เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค