หมอมนูญ เผย พบผู้เสียชีวิตจาก “ภูมิต้านตนเอง” โรคหายาก ถูกกระตุ้นด้วยโควิด-วัคซีน

Home » หมอมนูญ เผย พบผู้เสียชีวิตจาก “ภูมิต้านตนเอง” โรคหายาก ถูกกระตุ้นด้วยโควิด-วัคซีน
หมอมนูญ เผย พบผู้เสียชีวิตจาก “ภูมิต้านตนเอง” โรคหายาก ถูกกระตุ้นด้วยโควิด-วัคซีน

หมอมนูญ เผย พบผู้เสียชีวิตจาก “ภูมิต้านตนเอง” โรคหายาก มีนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ระยะหลังพบมากขึ้นเพราะถูกกระตุ้นด้วยโควิด-วัคซีน

หลังจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา  นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ มีการเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 32 ปี ผ่านการฉีดวัคซีน mRNA ก่อนสุดท้ายจะป่วยเป็นโรค “ภูมิต้านทานตัวเอง” โดยคนไข้รายนี้น่าจะเป็นผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย เริ่มมีอาการ 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 และอาการกำเริบในเวลาเพียง 5 วันหลังฉีดเข็มวัคซีน mRNA เข็มที่ 3 เกิดปอดอักเสบรุนแรงและรวดเร็ว

การฉีดวัคซีน mRNA กระตุ้นให้คนบางคนที่มีกรรมพันธ์ุ (genetic predisposition)ให้สร้างภูมิต้านตนเองทำให้เกิดโรคนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าวัคซีน mRNA กระตุ้นการสร้างภูมิต้านตนเองอย่างไร

อย่างไรก็ตาม หมอมนูญย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิด mRNA ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป โรคภูมิต้านตนเองที่เรียกว่า Anti-MDA5 antibody positive dermatomyositis เกิดขึ้นน้อยมากๆหลังการฉีดวัคซีน mRNA ขอเตือนว่า ถ้าใครเกิดโรคภูมิต้านตัวเองชนิดนี้หลังฉีดวัคซีน mRNA ห้ามฉีดวัคซีน mRNA เข็มต่อไป เพราะจะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงและรวดเร็ว ป่วยหนักได้

ล่าสุดวันนี้ (4 ม.ค.68) เวลา 07.00 น. นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เปิดเผยอีกว่า พบชายไทยวัย 62 ปี ติดเชื้อไวรัสโควิด ก่อนที่ 2 เดือนต่อมาจะเสียชีวิตด้วยโรคภูมิต้านทานตัวเอง พบประวัติผ่านการฉีดวัคซีน mRNA โดยโพสต์ระบุว่า  
 
“ผู้ป่วยชายอายุ 62 ปี ปกติแข็งแรงดี มีโรคความดันสูง เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม ก.ค.และ ต.ค. 2564 ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม ก.พ. 2565 ติดเชื้อไวรัสโควิดครั้งแรกเดือน ต.ค. 2565 ไม่รุนแรง กินยาตามอาการ หลังหายป่วยจากโรคโควิด 2 เดือน เริ่มมีไข้ต่ำๆ ไอแห้งๆ น้ำหนักลด 3 กก. ปลายเดือน ธ.ค. 2565 ไปหาแพทย์สงสัยปอดติดเชื้อ ได้ยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น

มา รพ.วันที่ 25 ก.พ. 2566 ยังไอ มีไข้ต่ำๆ ไม่เหนื่อย เริ่มมีตุ่มนูนแดงบริเวณข้อของนิ้วมือ ผิวหนังที่ฝ่ามือหนาตัวขึ้นและแห้ง มีแผลที่ข้อศอก ไม่ปวดกล้ามเนื้อ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวเล็กน้อยที่ปอดกลีบขวาด้านบนและด้านล่าง(ดูรูป) ทำคอมพิวเตอร์ปอดเห็นฝ้าขาวที่ปอดข้างขวาด้านบน และปอดด้านล่างทั้ง 2 ข้าง(ดูรูป) ได้ยาปฏิชีวนะไม่ดีขึ้น

วันที่ 6 มี.ค. ยังไอ มีไข้ต่ำๆ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ดูรูป) เจาะเลือดค่าอักเสบของเลือดสูง ESR สูง 72, hs-CRP สูง 38.4, ค่า Ferritin สูง 7,651, LDH สูง 958, ค่าเอนไซม์ตับสูง SGOT 309, SGPT 137 ค่าอักเสบของกล้ามเนื้อ CPK สูง 813 ไม่ติดเชื้อ HIV, ANA positive 1:80, Anti-MDA5 positive 3+

ส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม ไม่มีเสมหะ ดูดน้ำล้างหลอดลม ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสอื่นๆ วัณโรค วัณโรคเทียม หรือเชื้อรา วันที่ 16 มี.ค. 2566 มีไข้ ไอ เหนื่อยมากขึ้น ตัดชิ้นเนื้อปอดผ่านผนังทรวงอกด้วยเข็ม ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบเนื้อเยื่อปอดอักเสบทั่วไปแบบเรื้อรัง ไม่พบมะเร็ง ไม่พบการติดเชื้อ

วินิจฉัย: ความผิดปกติทางผิวหนังร่วมกับปอดอักเสบ และผลเลือด Anti-MDA5 บวก เข้ากับได้กับโรคภูมิต้านตนเองผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบชนิด Anti-MDA5 บวก (Anti-MDA5 antibody positive dermatomyositis)

เริ่มยาสเตียรอยด์ขนาดสูง ยากดภูมิคุ้มกันไซโคลฟอสฟาไมด์(cyclophosphamide) และทาโครลิมัส (tacrolimus) ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (plasma exchange) เพื่อกำจัดสารภูมิต้านทานแอนติบอดีที่เป็นตัวก่อโรคซึ่งอยู่ในพลาสมาออกจากเลือดผู้ป่วย เอกซเรย์ปอดแย่ลงเร็วมาก เห็นฝ้าขาวกระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง(ดูรูป) ออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ในที่สุดผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรค Anti-MDA5 antibody positive dermatomyositis ทำให้เกิดเนื้อเยื่อทั้งปอดอักเสบรุนแรงและรวดเร็วภายในเวลา 2 เดือนหลังจากเริ่มป่วย

โรคภูมิต้านตนเองที่เรียกว่า Anti-MDA5 antibody positive dermatomyositis มีมานาน 20 ปีแล้ว เป็นโรคหายาก พบน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสบางชนิดกระตุ้นคนบางคนที่มีกรรมพันธ์ุ (genetic predisposition)ให้สร้างภูมิต้านตนเองทำให้เกิดโรคนี้ แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรคนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนหนึ่งเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนน้อยมากๆ เกิดหลังจากการฉีดวัคซีนไวรัสโควิดชนิด mRNA

ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นโรค Anti-MDA5 antibody positive dermatomyositis เกิดขึ้น 2 เดือนหลังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรคนี้พบน้อยมาก มีอัตราการเสียชีวิตสูง ถึงแม้จะได้รับการรักษาเต็มที่” 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ