หญิงอายุ 45 ปี มุดโพรงไม้ เข้าไปดูค้างคาว 3 นาที ผ่านไป 15 วัน ปอดผิดปกติ เหนื่อยง่าย ‘หมอมนูญ’ ชี้ หายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด แนะต้องสวมหน้ากากอนามัย
กรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า มีคณะเดินป่า เข้าไปชมค้างคาวในโพรงต้นไม้ เพียง 2-15 นาที แล้วหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) ลอยขึ้นมาในอากาศจากมูลค้างคาวที่ตกลงบนพื้นดิน เข้าไปในปอด ทำให้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
โดยต้นไม้ ดังกล่าวมีโพรงนี้ชื่อไทย “ช้าม่วง” เป็นต้นไม้กลุ่มวงศ์ยาง อายุกว่า 100 ปี สูงกว่า 40 เมตร โพรงต้นไม้นี้เกิดตามธรรมชาติ เป็นที่พักอาศัยของ”ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก” Lesser false vampire bat อยู่ในบริเวณคลองวังหีบ หนานตากผ้า ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว วันที่ 5 ต.ค.65 นพ.มนูญ โพสต์ข้อความให้ความรู้เพิ่มเติม ระบุว่า โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการหายใจสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma capsulatum) จากมูลค้างคาวหรือนก เข้าปอด และบางคนอาจกระจายไปอวัยวะต่างๆเช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก ต่อมหมวกไต สมอง เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย
ผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว วันที่ 30 ก.ค.65 ไปเที่ยว จ.นครศรีธรรมราช เดินเข้าโพรงต้นไม้ใหญ่อยู่ห่างคลองวังหีบประมาณ 200 เมตร เพื่อไปดูค้างคาว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที
หลังจากนั้น 15 วันเริ่มไอแห้งๆ บางครั้งไอมีเสมหะสีขาว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินขึ้นบันไดเหนื่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 2 กิโลกรัม ไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ปวดกระดูก ไปหาแพทย์วันที่ 5 ก.ย. 2565 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีก้อนเล็กๆกระจายทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง ทำคอมพิวเตอร์สแกนปอด และช่องท้อง พบก้อนเล็กๆในปอดกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง ก้อนในปอดด้านล่างขนาดใหญ่ถึง 1 เซนติเมตร
พบก้อนในต่อมหมวกไตข้างซ้ายขนาด 0.5 x 1.1 เซนติเมตร และม้ามโตเล็กน้อย ได้ทำผ่าตัด ตัดชิ้นเนื้อจากปอดด้านซ้าย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา พบว่ามีเนื้อเยื่อตายและการอักเสบแบบแกรนูโลมา (necrotizing granulomatous inflammation) ไม่พบวัณโรค ย้อมสีพบเชื้อราลักษณะเป็นยีสต์ เพาะเชื้อราขึ้น Histoplasma capsulatum มีลักษณะเป็นราสาย Histoplasma อยู่ในกลุ่มรา 2 รูป (Dimorphic) อยู่ในเนื้อเยื่อมีรูปเป็นยีสต์ อยู่ในธรรมชาติมีรูปเป็นเส้นใยราสาย
สรุป: ผู้ป่วยเป็นโรคฮิสโตพลาสโมซิส จากการหายใจสปอร์ Histoplasma capsulatum หลังจากเข้าไปในโพรงต้นไม้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2565 ทำให้เกิดปอดอักเสบ กระจายไปที่ต่อมหมวกไตและม้าม
วันที่ 19 ก.ย. 2565 เนื่องจากอาการไม่หนักมาก จึงเริ่มยาฆ่าเชื้อราชนิดกิน ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังกินยา 2 สัปดาห์ อาการและเอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้าๆ และจะให้ยารักษาต่อประมาณ 12 เดือน
คนที่จะเข้าถ้ำหรือโพรงต้นไม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจสปอร์ของเชื้อราเข้าปอด