หมอผู้ดีก่อม็อบจี้ขึ้นค่าแรง นับหมื่นสไตรค์หยุดงานทั่วอังกฤษยาว3วัน
หมอผู้ดีก่อม็อบจี้ขึ้นค่าแรง – วันที่ 13 มี.ค. เอพีรายงานว่า บรรดาแพทย์จบใหม่หลายหมื่นคนในประเทศอังกฤษนัดหยุดงานเพื่อประท้วงขอขึ้นค่าแรงทั่วประเทศติดต่อกัน 3 วัน ส่งผลให้เกิดวิกฤตทางด้านสาธารณสุขตามโรงพยาบาลรัฐ
แพทย์จบใหม่นั้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 ของบุคลากรด้านแพทย์ทั้งหมดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ หรือเอ็นเอชเอส ส่วนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและแพทย์อาวุโสนั้นเน้นไปทางด้านขึ้นเวรแผนกฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต และสูตินรีเวชกรรม
ข้อมูลจากสมาคมแพทย์อังกฤษ หรือบีเอ็มเอ และสหภาพแรงงานหมอ ระบุว่า ค่าตอบแทนของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จบใหม่นั้นตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2551 ห่างจากค่าครองชีพถึงร้อยละ 26 แต่ปริมาณงานกลับพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้บุคลากรเหนื่อยล้าและทยอยออกจากเอ็นเอชเอส
สหภาพแรงงานหมออังกฤษ ระบุว่า ค่าแรงรายชั่วโมงของแพทย์จบใหม่ในเอ็นเอชเอสนั้นอยู่ที่เพียง 17 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 590 บาทต่อชั่วโมงเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับ บุคลากรด้านอื่นของสธ.อังกฤษ ที่เคยสไตรค์เพื่อขอขึ้นค่าแรงมาแล้ว ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งผลจากการประท้วงที่ผ่านมาทำให้มีผู้ป่วยต้องถูกเลื่อนนัดรับการรักษาแล้วกว่า 1 แสนคน ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565
นายสตีเฟน โพวิส ผู้อำนวยการใหญ่ของเอ็นเอชเอส กล่าวยอมรับว่า การประท้วงล่าสุดยาวนาน 72 ชั่วโมงของแพทย์จบใหม่นั้นจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงรุนแรงที่สุดต่อระบบสธ.ของรัฐ อาทิ การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง อายุรกรรม และอื่นๆ
นายริชี ซูนัก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวแสดงความเสียใจที่สหภาพแรงงานหมอจบใหม่ไม่เข้ามาหารือกับรัฐบาลก่อนตัดสินใจประท้วง ขัดแย้งกับสหภาพแรงงานหมอจบใหม่ที่ระบุว่า รัฐบาลปฏิเสธของเรียกร้องของสหภาพฯมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และเงื่อนไขการเจรจาของภาครัฐนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
การประท้วงขอขึ้นค่าแรงของสหภาพแรงงานหมอจบใหม่จะตรงกับการประท้วงหยุดงานของบรรดาครูอาจารย์จากภาคการศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐด้านอื่นด้วย ท่ามกลางการประกาศแผนงบประมาณใหม่
รายงานระบุว่า อังกฤษเผชิญกับการประท้วงหยุดงานขอขึ้นค่าแรงต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง โดยอัตราเงินเฟ้ออังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 10.1 เมื่อเดือนม.ค. ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.1 ซึ่งถือว่าเป็นเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ของประเทศ
ทั้งนี้ บรรดาสหภาพแรงงานหลายสาขาอาชีพ ระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ค่าแรงที่ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูงจากค่าอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นทำให้แรงงานอยู่ในภาวะกระเสือกกระสนต่อการเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว