หมอธีระ เผย โควิด XBB.1.16.x ระบาดแล้ว 42 ประเทศ คาดไทยติดเชื้อวันละ 1 หมื่นคน เหตุมีการแพร่เชื้อได้เร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์เดิม
25 เม.ย. 2566 – นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด โดยระบุใจความดังนี้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 29,147 คน ตายเพิ่ม 149 คน รวมแล้วติดไป 686,558,099 คน เสียชีวิตรวม 6,860,033 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย โรมาเนีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม
อัปเดต XBB.1.16.x
ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R, US) ล่าสุดพบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้นมีรายงานการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 42 ประเทศทั่วโลก ทาง Nextstrain ได้กำหนดรหัสสำหรับ XBB.1.16 ให้เป็น clade 23B(Omicron) เรียบร้อยแล้วต่อจาก XBB.1.5 ซึ่งเป็น 23A เพื่อทำการติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างเป็นระบบ จากข้อมูลจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ให้เห็นว่า XBB.1.16.x มีสมรรถนะการแพร่ที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม มีรายงานจากหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับไทยเรา มีคนติดเชื้อและป่วยเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน สังเกตได้จากคนรอบตัวเรา และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าระบบรายงาน ตัวเลขรายสัปดาห์ 16-22 เม.ย. จำนวนผู้ป่วยนอนรักษาตัวในรพ. 1,088 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 150% หรือมากขึ้นถึง 2.5 เท่า คาดประมาณจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันอย่างน้อย 7,772-10,794 ราย
จะสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2.59 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสัปดาห์แรกนั้นขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ ดังนั้นจึงเป็นตัวสะท้อนว่าการระบาดที่ปะทุขึ้นมานั้นเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว
สอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละระลอกที่ผ่านมา ที่มักมี grace period อยู่ราว 6-8 สัปดาห์ ไม่ได้เป็น seasonal pattern แต่เป็นไปในแบบ cyclical pattern ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเปิดเสรีเดินทางท่องเที่ยว พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตปนะจำวัน และการถดถอยของภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงได้ตามกาลเวลา
ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น หลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากติดเชื้อและกักตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75% 7 วัน 25-30% 10 วัน 10% 14 วัน ก็จะปลอดภัย แต่หากไม่กักตัว ไม่ว่าจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยก็แล้วแต่ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้มาก แม้จะใส่หน้ากากก็ป้องกันได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ รวมถึงสถานบริการที่มีการให้บริการดูแลผู้คนจำนวนมาก ความเสี่ยงจะสูงมาก และนำไปสู่ความสูญเสียได้มากเป็นเงาตามตัว
ทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมคือ “แยกตัว 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ” จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน
ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ล้างมือหลังหยิบจับของสาธารณะ เว้นระยะห่างจากคนอื่น
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเมื่อออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก