“หมอธีระ”หวั่นหลังปลดล็อก 1 ก.ย.เกิดการระบาดหนักตามมา แนะ 6 วิธีป้องกันตัวเองของประชาชน เจ้าของกิจการ
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 28 สิงหาคม 2564 ทะลุ 216 ล้านไปแล้ว 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ อเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร อิหร่าน และบราซิล อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น ส่วนสถานการณ์ของไทย จำนวนติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานตัวเลขที่รายงานของทางการ 18,702 คน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แต่หากรวมจำนวนที่ตรวจด้วย ATK อีก 5,066 คน จะสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก จึงเปรียบเหมือน “กล่องทราย” ดังที่เคยบอกไว้แล้วว่า จะเริ่มสังเกตเห็นผลของกล่องทรายชัดเจนตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ล่าสุด ภูเก็ตติดเพิ่มอีก 207 คน กำลังไต่ระดับขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว โดยต้องไม่ลืมว่านี่คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่หลายฝ่ายพยายามวางระบบลดความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าแล้ว
ดังนั้น เป็นหลักฐานตอกย้ำถึงสัจธรรมว่า ตราบใดที่มีการระบาดภายในประเทศอย่างรุนแรง การเปิดให้มีกิจกรรม กิจการ ค้าขาย ท่องเที่ยว ย่อมทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นแน่นอน และหากคุมไม่อยู่ จะเปลี่ยนภูมิทัศน์การระบาดของพื้นที่นั้นไปอย่างถาวร ดังที่เห็นในพื้นที่โรงงานที่เคยมีการระบาดหนักมาก่อน แต่ไม่ตัดวงจรการระบาดในขณะนั้น จนทำให้เห็นผลลัพธ์การระบาดหนักและต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการปลดล็อก ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 ได้เคยเตือนไว้ล่วงหน้าว่า ยังไม่เห็นที่ใดที่มีการระบาดรุนแรง เป็นหมื่นๆ ต่อวัน กระจายไปทั่ว โดยยังคุมหรือตัดวงจรการระบาดไม่ได้ แล้วปลดล็อกการใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย หากพิจารณาตามหลักวิชาการแพทย์ จะมีโอกาสเกิดการระบาดหนักหน่วงตามมา จะช้าจะเร็วก็รอดูกัน
อเมริกา ประกาศให้นั่งกินในร้าน จากนั้น มีจำนวนติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นใน 41-100 วัน และจำนวนตายสูงขึ้นใน 61-100 วัน แต่ของไทยเรา ปลดล็อกหลายเรื่องพร้อมกัน ทั้งร้านอาหาร สถานศึกษา ร้านนวด ห้าง สวนสาธารณะ ฯลฯ ย่อมมีโอกาสเกิดเร็วขึ้นกว่าได้ ดังนั้น จึงต้องช่วยกันระมัดระวัง ป้องกันตัวให้ดี
ส่วนหลักในการป้องกันตัวของประชาชน และเจ้าของกิจการ พิจารณาให้ดีว่ากิจการ กิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่นั้น มีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่ หากมี ก็จงตระหนักว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้
- “อยู่ใกล้กัน (Closeness)”
- “สัมผัสกับผู้อื่น (Contact)”
- “พบปะพูดคุย ติดต่อกับคนหลายคนหรือหลายครั้งในแต่ละวัน (Frequency)”
- “อยู่กับผู้อื่นในระยะเวลายาวนานกว่า 15 นาที (Duration)”
- “มีช่วงที่ไม่ได้ใส่หน้ากากขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ (Masking)”
- “อยู่ในสถานที่สาธารณะที่เป็นระบบปิด หรือระบายอากาศไม่ดี (Ventilation)”
ดังนั้น หากจะลดความเสี่ยงติดเชื้อแพร่เชื้อให้แก่กัน ก็คงต้องหาวิธีปรับให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่ตัวท่านเองจะทำได้และหากรู้ตัวว่าเสี่ยง ไม่ว่าจะในฐานะผู้ให้บริการ หรือผู้รับบริการ ก็ควรทำการตรวจคัดกรองโรคเป็นระยะ เพื่อตรวจพบได้เร็วและไปรับการดูแลรักษาได้ทัน ไม่แพร่เชื้อต่อไปวงกว้าง โควิด…ติดไม่ใช่แค่คุณ ติดง่าย ป่วยได้ ตายได้ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดได้ และเป็นคนแพร่เชื้อไปยังคนใกล้ชิดในบ้านหรือคนอื่นในสังคมได้ แต่โอกาสป่วยและตายจะลดลง