ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.ย.64) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ตั้งข้อสังเกตผลการศึกษาภูมิคุ้มกันของสูตรฉีดวัคซีนต่างๆ ที่กรมควบคุมโรคนำเสนอ โดยสังเกตว่า ค่าภูมิคุ้มกันของคนที่ได้แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และต่ำกว่าการศึกษาในประเทศอื่น จึงทำให้ดูเหมือนว่า คนที่ฉีดสูตรไขว้ (ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า) ได้ค่าภูมิสูงกว่าวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม โดยในภาพระบุว่า
ข้อสังเกต ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ผลที่ได้เกิดจากแอสตร้าฯ?
แอสตร้าฯ + แอสตร้าฯ ค่าที่ได้ควรจะสูงกว่าที่เห็น
1. การวัดภูมิดังกล่าวไม่ใช่ภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ เป็นภูมิรวมๆ
2. แอสตร้า+แอสตร้า ค่าที่ได้แตกต่างจากผลของการรายงานในประเทศต่างๆ ที่ใช้ แอสตร้าฯ เป็นหลัก ค่าที่ได้กลับเท่ากับ ซิโนแวค+ซิโนแวค
3. เป็นไปได้หรือไม่ ที่กลุ่ม แอสตร้า+แอสตร้า นี้เจาะเลือดหลังจากเข็มที่สองที่หลัง 14 วัน ตามที่ควรจะเป็นหรือไม่
4. เป็นไปได้หรือไม่ ที่กลุ่ม แอสตร้า+แอสตร้า นี้ สูงอายุมาก และอาจมีโรคประจำตัวกว่ากลุ่มอื่นทำให้ระดับดูต่ำกว่าจากที่ควร
5. และจากข้อ 3 และ 4 ทำให้ ซิโนแวค+แอสตร้า ดูค่าสูงมากเมื่อเทียบกับ แอสตร้า+แอสตร้า
6. ข้อมูลจากกรมวิทย์ (รูปเล็ก) ซิโนแวค+แอสตร้า ค่าที่ได้ไม่ได้สูงเป็น 3 เท่า
ข้อสำคัญที่คณะผู้วิจัยหลายแห่งถามก็คือ ทำไม แอสตร้าฯ สองเข็มได้ระดับภูมิคุ้มกันไม่ดีนัก ซึ่งดูแตกต่างจากรายงานในประเทศที่ใช้กันแพร่หลาย
1. วันที่เจาะเลือดหาระดับภูมิคุ้มกันใน แอสตร้าฯ 2 เข็ม เป็นวันที่ควรจะเจาะหรือไม่เช่นเจาะเร็วไป เจาะช้าไป ภูมิยังไม่ควรขึ้นหรือขึ้นไปแล้วตกแล้ว
2. ผู้ที่ได้รับวัคซีน แอสตร้าฯ 2 เข็ม แก่เกินไปหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้วซึ่งแตกต่างจาก ซิโนแวค 2 เข็ม หรือ ซิโนแวค+แอสตร้าฯ หรือไม่
3. ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เอง ซึ่งดีมากตามรูป พบว่าการฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย แอสตร้าฯ กลับทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับภูมิคุ้มกันรวมกระทั่งถึงภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อสายพันธุ์เดลตา เป็นต้น