ดร.แซม กาลี แพทย์ฉุกเฉินจากมหาวิทยาลัยฟลอริด้าในสหรัฐอเมริกา ได้แชร์ภาพเตือนเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ “ซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis)” จากการกินหมูที่สุกไม่เต็มที่ เมื่อทำการสแกนซีทีพบว่าร่างกายของเขามีปรสิตเต็มไปหมด โดยซีสต์ที่เกิดจากพยาธิที่ตายแล้วกลายเป็นแคลเซียม ดร.กาลีบอกว่านี่เป็นหนึ่งในภาพสแกนซีทีที่แปลกประหลาดที่สุดที่เขาเคยเห็น
ซิสติเซอร์โคซิสเกิดจาก “พยาธิตัวตืดหมู” ซึ่งไข่จะซ่อนอยู่ในหมูที่สุกไม่เต็มที่ เมื่อมนุษย์กินเข้าไป ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนในลำไส้ จากนั้นตัวอ่อนจะเจาะเข้าสู่ผนังลำไส้ กระจายไปในกระแสเลือดและไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำลายพยาธิและมันกลายเป็นแคลเซียม จะปรากฏเป็นจุดขาวรูปไข่บนภาพสแกน
นอกจากการรับประทานไข่พยาธิจากหมูสุกไม่เต็มที่แล้ว โรคนี้ยังสามารถแพร่กระจายผ่านการถ่ายอุจจาระ ซึ่งมักเกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อไม่ล้างมือให้สะอาดหลังจากใช้ห้องน้ำ หรือปนเปื้อนแหล่งน้ำ
ดร.กาลีกล่าวว่า ส่วนใหญ่การติดเชื้อซีสติเซอร์โคซิส อาการไม่รุนแรงนัก แต่บางกรณีอาจถึงขั้นเสียชีวิต “มีคนติดเชื้อทั่วโลกประมาณ 50 ล้านคนในแต่ละปี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 50,000 คน” เขาขอแนะนำให้ทุกคนรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ และ หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบหรือหมูที่สุกไม่เต็มที่
คำเตือนดังกล่าว สอดคล้องกับคำเตือนที่ กรมควบคุมโรค รวมถึงแพทย์ในไทยหลายคนออกมาเตือนอยู่เสมอ ว่า หากเรากินหมูไม่สุก หรือแม้แต่การใช้ตะเกียบที่คีบหมูดิบมาคีบอาหารเข้าปาก ก็อาจเปิดโอกาสให้ร่างกายได้รับพยาธิตัวตืดหมู ที่ทำให้มีอาการผิดปกติ เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ท้องร่วงเรื้อรัง หรือมีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ จากการชอนไชของพยาธิ หรืออาการคันก้น เนื่องจากพยาธิจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน ซึ่งใครพบอาการดังที่กล่าวมาควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดพยาธิที่ได้รับ เพราะในกรณีที่รุนแรง พยาธิอาจขึ้นสมองจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้แล้ว หมูไม่สุก ก็อาจทำให้เกิด ไข้หูดับ หรือ โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีหมูเป็นพาหะ โดยเชื้อโรคชนิดนี้มักฝังอยู่ตามทอนซิล โพรงจมูก ทางเดินอาหารและช่องคลอดของหมู ซึ่งเราสามารถติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ผ่านการกินหมูดิบที่มีเชื้อ หมูที่ปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก สารคัดหลั่งของหมูที่มีเชื้อผ่านแผล หรือเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย
ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคไข้หูดับนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนปลายประสาทอักเสบที่ส่งผลให้เกิดความพิการได้ เช่น สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน หรือหูหนวก ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่ถูกนำมาใช้เรียกเป็นชื่อโรคที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั่นเอง ซึ่งคนไทยจำนวนมากมีความเสี่ยง เพราะชอบรับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบเลือด ก้อยดิบ แหนมหมู เป็นต้น นอกจากนี้ การกินผักที่ล้างไม่สะอาด ก็เสี่ยงเกิดพยาธิเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในการเพาะปลูก
เคสพยาธิกระจายทั่วร่าง ในไทยก็มี
12 มิถุนายน 2563 ศูนย์วิจัยโรคปรสิต-parasitic disease research center ได้แชร์ภาพเคสสุดสะพรึง จากภาพจะเห็นจุดสีขาวๆ ซึ่งเป็นระยะตัวอ่อน cysticercus ของพยาธิตืดหมู กระจายเต็มไปหมด โดยผู้ป่วยอายุ 18 ปี ไปโรงพยาบาลด้วยอาการปวดศีรษะอาเจียน ชัก และประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนแปลง แพทย์ตรวจ MRI พบซีสต์จำนวนมากในเนื้อเยื่อสมอง ศีรษะ กล้ามเนื้อ คอ ผนังหน้าอก ผนังหน้าท้อง กล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลัง สะโพก กระดูกเชิงกราน และกล้ามเนื้อแขนขา