รายการโหนกระแสวันที่ 26 เม.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรณีวัคซีนซิโนแวค ตอนนี้ฉีดไปถึงขั้นมีคนเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจที่ขาดแคลนอย่างหนัก จะแก้ไขอย่างไร
เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขาดแคลนมาก?
นพ.ธีระวัฒน์ : ต้องเรียนให้ทราบว่าเวลาที่เราดูคนไข้ คงไม่ใช่เตียง ไม่ใช่อุปกรณ์ ไม่ใช่สถานที่อย่างเดียว เราพูดถึงคน และตรงนี้ไม่ใช่หมออย่างเดียวประกอบไปด้วยทีม ทีมหมอดูโควิดรายเดียว ไม่ใช่มีหมอคนเดียว ต้องมีหมอช่วยชีวิตทางปอด ทางหัวใจ มีอาการทางไตร่วมด้วย ขณะเดียวกัน ต้องมีทีมน้องๆ พยาบาล ทีมเภสัช แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด ทุกคนต้องร่วมมือ ทุกอย่าง ตรงนี้จะเห็นว่าหนึ่งคนที่เข้าไปต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมหาศาล ขณะเดียวกันตอนนี้ที่เราบอกว่าเรามาเตียงสนาม ฮอสพิเทลต่างๆ คัดกรองว่าใครมีอาการหนักกขึ้น พออาการหนักขึ้นก็ทยอยมารพ. ซึ่งแน่ใจว่าทุกแห่ง เตียงมีความพร้อมต่างๆ นั้น อย่าลืมว่าเราต้องรักษาและช่วยชีวิตคนไข้คนอื่นที่ไม่ใช่โควิด อย่างรพ.จุฬาฯ เมื่อเช้าพูดคุยกับหัวหน้าภาคอายุรศาสตร์เอง เตียงขณะนี้ของอายุรศาสตร์เองหดเหลือครึ่งนึงหรือน้อยกว่า เพื่อรองรับโควิด ขณะเดียวกัน บุคลากรตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์ต่างๆ ก็ระดมไปช่วยเหลือ ตรงนี้เวลาเราพูด เราไม่ได้พูดถึงเตียงนอน เตียงสนาม เราพูดถึงภาวะต่อไปที่จะเกิดขึ้นในรพ.
เครื่องช่วยหายใจ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ตอนนี้มีปัญหา เคยนำเรียนเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว ด้วยซ้ำ ตอนนั้นมีปรากฎการณ์เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีเรื่องไข้หวัดนก ตอนนั้นเองเราได้รับทราบมาว่ามีเครื่องช่วยหายใจขนาดเท่าฝ่ามือ หรือไม่ก็ขนาด เท่าหมอหุ้งข้าวเล็กๆ
มันพอเหรอ?
นพ.ธีระวัฒน์ : มันพอครับ เครื่องเหล่านี้ไม่ต้องต่อสายออกซิเจน ไม่ต้องมีท่ออะไรต่างๆ แต่ใช้แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉายสองก้อน เสียบปลั๊กเอาก็ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าคนไข้หายใจไม่ได้ ใส่ท่อหายใจก็ใช้ตรงนี้ต่อเข้าไปเลย เมื่อต่อเข้าไปแล้วสามารถปรับออกซิเจนได้ โดยคัดกรองไนโตรเจนออกไป ขณะเดียวกันสามารถกำหนดได้ว่าจะปั๊มอากาศเข้าไปกี่ซีซีต่อนาที สามารถเพิ่มความดันไม่ให้ถุงลมแฟ่บได้ เครื่องเหล่านี้เท่าที่ทราบ ประเทศสิงคโปร์มีการเตรียมการไว้สักหมื่นเครื่องด้วยซ้ำเพื่อรับไข้หวัดนก แต่ของเราเองก็เข้าใจ เมื่อถึงเวลาที่รพ.ล่มสลาย อาจใช้คำรุนแรงไป เมื่อรพ. อัตคัตขาดแคลน เราไม่สามารถมีไอซียู มีเครื่องช่วยหายใจได้ เรานึกถึงเตียงรพ.สนามขณะนี้ ตรงนั้นต้องเปลี่ยนให้เป็นไอซียูสนาม ตรงนี้ลืมเลยว่าห้องความดันลบ หรือห้องความดันกึ่งลบ ลืมไปได้เลย จะกลายเป็นรพ.สนาม ซึ่งแบ่งโซนว่าตรงนี้คือไอซียู ตรงนี้ป่วยหนัก ตรงนี้อาการเกือบๆ ปานกลาง หรือสีเขียว เป็นต้น จริงๆ แล้วสีเขียวกักตัวอยู่บ้านถ้าทำได้และระวังตวไม่แพร่ให้คนอืนที่บ้านด้วย ขณะเดียวกันเตียงสนามอย่างนี้้ต้องการเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็กๆ แบบนี้ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้นำเสนอกระทรวงสาธารณสุขอยู่สองสามครั้งแต่คิดว่าไม่จำเป็น
ใครคิดว่าไม่จำเป็น?
นพ.ธีระวัฒน์ : ผมเป็นที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีอยู่ เรื่องที่นำเรียนตรงนี้ มีคนจะบอกว่าเอามาวิจารณ์อะไร ต้องนำเรียนว่าไม่ใช่ ข้อความหรือความเห็นต่างๆ พร้อมหลักฐานต่างๆ นี้จริงๆ แล้วได้พูดในกระทรวงสาธารณสุขอยู่ อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป
อาจารย์เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว?
นพ.ธีระวัฒน์ : ทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ตอนนี้เห็นผลแล้วว่าจำเป็นต้องใช้?
นพ.ธีระวัฒน์ : ใช่ครับ เมื่อปีที่แล้วเสนอไปว่าไปซื้อเครื่องแบบนี้ แกะแล้วก็ก็อปปี้ทำเอง แต่เผอิญโควิดดูสงบไปแล้วเลยไม่มีใครแกะ
พอโควิดกลับมาก็แก้ไม่ทัน?
นพ.ธีระวัฒน์ : จริงๆ ช่วง 6 เดือนตอนนั้นคือเวลาทองที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับตรงนี้ อย่าง ฟาวิพิราเวียร์ เมื่อปีที่แล้วทางองค์การเภสัชกรรมได้แถลงข่าวดีว่าสามารถผลิตได้เอง สังเคราะห์เองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่มีของที่เราผลิตเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้ที่ได้ข่าวว่าจะเข้ามา 2 ล้านโดส เข้ามาอีก 1 ล้านโดสเดือนหน้า คนนึงใช้ได้เฉลี่ย 70 เม็ด อย่างน้อย ก็ใช้ได้ 42,857 คน ตรงนี้ดูเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้คนไข้ที่เข้ามา อาจต้องเริ่มให้ตั้งแต่เริ่มมีความผิดปกติ แม้จะยังไม่ลงปอดก็ตาม ถ้ามีอาการทางร่างกาย ต้องเริ่มให้
ฟาวิพิราเวียร์บางคนบอกต้องให้ลงปอดก่อนค่อยกิน บางคนบอกกินเลย ควรเป็นยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : ถ้ากินเลยจะเสียของมาก เพราะไม่สามารถให้ฟาวิพิราเวียร์เป็นล้านคนได้ คนรับเชื้อบางคนเหมือนเป็นหวัดหายเองได้แต่ขณะเดียวกัน เรามีมาตรฐานในการประเมิน ยกตัวอย่างมีไข้ มีร่างกายอ่อนเพลีย ขณะที่ไข้ไม่ลง แม้ว่าจะได้รับยาลดไข้ต่างๆ ก็ตาม และเริ่มเพลียมาก ตรงนั้นเองในปอดไม่มีอะไรก็ตามอาจต้องเริ่มให้หรือคนที่ดูเหมือนปกติ แต่ปอดมีอะไร ตรงนั้นก็ต้องเริ่มให้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องรออาการออก มีอาการโผล่มาแล้ว ถึงแม้ปอดดูดีก็ต้องให้ หรือปอดดูไม่ดีก็ต้องให้เช่นเดียวกัน
เรื่องวัคซีนมีคนฉีดแล้วตาย มีบางคนฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์ บางคนอาการคล้ายอัมพฤกษ์ สุดท้ายมาจากวัคซีนซิโนแวค จริงหรือเท็จยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : จริงพันเปอร์เซ็นต์ ไม่คิดเลย
มันเกิดอะไรขึ้น ทางภาครัฐยิ่งประกาศว่าอาจารย์หมออย่าพูดให้คนตื่นตระหนก อาจารย์พูดแบบนี้คนจะตื่นตระหนกหรือเปล่า?
นพ.ธีระวัฒน์ : ไม่ตื่นตระหนก จริงๆ แล้วเหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นวันที่ 3 เม.ย. คุณหมอสมองท่านนึงที่ศรีราชาเจอลักษณะแบบนี้ ลักษณะตรงนี้ หมอสมองเราเมื่อดูคนไข้ มีอาการเป็นอัมพฤกษ์ ขั้นตอนเป็นอัมพฤกษ์ชัดเจน มีรายที่เราเริ่มปฏิบัติทันทีโดยให้คอมพิวเตอร์สมองเรียบร้อยแล้วให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งการตัดสินใจให้ยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีผลข้างเคียงด้วย เราต้องแน่ใจด้วยว่าต้องให้
ซิโนแวคทำอะไรทำให้มีเรื่องการอัมพฤกษ์?
นพ.ธีระวัฒน์ : เราไม่เชื่อว่าวัคซีนเองห่วย อาจดูไม่สุภาพ เราไม่เชื่อว่าซิโนแวคมันไม่ดี แต่เป็นกระบวนการบรรจุหลอด บรรจุขวด เพราะเท่าที่สอบถามผู้ติดต่อในรัฐบาลจีน ก็แจ้งมาว่าวัคซีนซิโนแวคมีปัญหาเรื่องผลิตเป็นร้อยล้านโดส ร้อยล้านโหลด อาจหาหลอดไม่ทัน อาจมีอะไรปนเปื้อนอยู่ข้างในขวด ตรงนี้มีความเป็นไปได้สูง แต่ขณะเดียวกันในล็อตซิโนแวคหรือวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าทุกขวดในล็อตเดียวกัน แต่อาจมีบางขวดเท่านั้นที่มีปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ล็อต 001 002 008 เป็นต้น เมื่อเราพบว่ามีปัญหาปุ๊บ สิ่งที่ต้องทำอย่างรีบเร่ง ไม่ใช่ว่าไม่ต้องตื่นตระหนก เนื่องจากว่าวิตกกังวลเกินเหตุ ขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลก็ทำให้ออกมาเป็นอาการทางกาย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา อย่างนั้นอาจเป็นการสรุปเร็วไป ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. จนผ่านมาถึง 20 มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ยกตัวอย่างระยอง เจออีก 7 ราย วันที่ 20 ผู้เชี่ยวชาญทางสมองของเรา มีผมด้วย มีอาจารย์สมองอีกหลายท่าน เราใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง แต่ละรายจากระยอง ลักษณะต่างๆ เข้าได้กับการมีภาวะเส้นเลือดในสมองผิดปกติ ตรงนี้เราสรุปได้ 3 อย่าง หนึ่งเกี่ยวข้องกับวัคซีนแน่ๆ แต่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่มีอะไรปนเปื้อนในหลอดที่บรรจุ
สองตรงนี้ไปกระทบเส้นเลือดในสมองแน่ ทำให้เส้นเลือดเกิดภาวะหดเกร็งขึ้น หรือสพาสซั่ม ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นลิ่มเลือด แต่อันนี้เส้นเลือดสพาสซั่มไป
แอสตร้าเซนเนก้าเป็นลิ่มเลือด แต่น้อยมาก ซิโนแวค เป็นเส้นเลือดหดเกร็งลง แล้วยังไงต่อ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ข้อต่อไปคือกลไกที่ทำให้เกิดสพาสซั่ม ภาวะตรงนี้เราทราบกันดีมา 30 ปีแต่มันไม่ได้เกิดจากวคซีน เกิดขึ้นในบางคนซึ่งน้อยมาก ทำให้มีภาวะเส้นเลือดหดตัว ทำให้เกิดตาบอดข้างนึง หรือภาวะเส้นเลือดหดตัวเนื่องจากกินยาบางอย่าง เช่น ยาลดความอ้วน ยาแก้ปวดศีรษะ หรือยาทางสมอง ซึ่งถ้าทานเดี่ยวๆ ไม่เกิดอาการอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้ามีมากกว่าหนึ่งปัจจัย มันก็จะกระตุ้นให้เกิดสพาสซั่มอย่างนี้เกิดขึ้น
แก้ยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : ทางป้องกันคือคุณหมอทางสมองที่สุรินทร์เริ่มค้นพบใน 17 ราย หรือกระทั่งเมื่อวานนี้ สำหรับผู้หญิงสาวๆ ที่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์และมีประจำเดือน ปรากฎว่ามันชอบ ฉีดไปแล้ว ภายใน 7 วันก่อนหหน้าเริ่มมีประจำเดือนวันแรก หรือ 7 วันมีประจำเดือนวันแรก พบว่าในกลุ่มที่เกิดขึ้นที่สุรินทร์ มีลักษณะแบบนี้ ผู้ป่วยในระยองก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ไม่เสียหาย สำหรับหลานๆ ลูกๆ ที่เป็นผู้หญิงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ อาจเลือกเวลา ฉีดยาให้หมดประจำเดือนไปก่อน ห่างไป 7 วัน ช่วงไข่ตกค่อยฉีดอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอธิบายด้วยกลไกวิทยาศสตร์ได้ระดับหนึ่ง ไม่เชื่อไม่ว่า แต่อย่าลบหลู่
ไม่กลัวสาธารณสุข ออกมาสวนเหรอ?
นพ.ธีระวัฒน์ : ไม่มีเหตุผลที่ต้องสวน เพราะขณะนี้ที่เรากำลังบอกว่าขณะที่เราไม่สามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนในหลอดต่างๆ ได้ ย้ำเดี๋ยวนี้เลยว่าวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ยังไงก็ต้องฉีด แต่ถ้าฉีดรู้แล้วเรารู้ว่าป้องกันอะไรได้ ทำไมเราไม่ทำ
อาจารย์แค่มาบอกว่ายังไงก็ต้องฉีดแต่มีวิธีป้องกัน หลีกเลี่ยง ถ้ามีประจำเดือนให้หยุดไปก่อน 7 วันแล้วค่อยมาฉีด?
นพ.ธีระวัฒน์ : ครับ ในส่วนผู้ชายอมไม่ค่อยเลือกอายุเพราะผู้ชายที่ขอนแก่น อายุมากแล้ว 40 50 57 เป็นต้น ก็ยังเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่กรณีอย่างนั้นเป็นกรณีซึ่งมีโรคประจำตัวอยู่บ้าง เช่นโรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ แต่ตรงนั้นเป็นเส้นเลือดตีบอยู่แล้ว ถ้าเกิดเรื่องตรงนี้ คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุขถ้าเกิดมาแล้วก็ให้ปรึกษาหมอทางสมองเช่นผม หรือหมอสมองทั่วๆ ไป แต่เนื่องจากหมอทางสมองอย่างเราๆ ไม่ได้มีเยอะในประเทศไทย สิ่งที่เราสามารถแนะนำได้ เราคุยมา 3-4 วันแล้ว ว่ามียาขยายหลอดเลือด สำหรับคนที่เจ็บหัวใจ ใช้ช่วยผ่อนคลายอาการเจ็บหัวใจ อาจต้องเตรียมไว้ แม้ไม่ได้ออกฤทธิ์ทันที ต้องเรียนย้ำสองสามประเด็น หนึ่งตรงนี้หายเองได้ แต่รอไปก่อน สักประมาณ 5-15 นาที แต่คำว่ารอ ถ้าไม่หาย ตามสถิติแล้วที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีน ที่เจออยู่ขณะนี้ 100 คนหายได้เกือบหมดเลย แต่คำถามถ้ารอไป 2-3 ชม. แล้วไม่หายกิดอะไรขึ้น ต้องเลือกดูอวัยวะ เช่นตาบอดไปข้างนึง ถ้าเป็นไปแล้วสัก 10-15 นาทีเราไม่รู้ว่าจะหายเองหรือเปล่าเพราะถ้ารอ 1 วันแล้วไม่หายก็ตาบอด อวัยวะสำคัญ เช่น ตา จอรับภาพในสมอง ทำให้เลอะเลือนมองไม่เห็น หรืออาการอ่อนแรงชัดเจน ตรงนั้นเองอาจไม่รอ อาจต้องให้ยาขยายหลอดเลือดเลย ณ ตอนนั้น
ถ้าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต้องให้กินยาขยายหลอดเลือด ณ ตอนนั้นเลย อันนั้นช่วยได้?
นพ.ธีระวัฒน์ : อันนั้นช่วยได้ แต่ถ้ากินแล้วช่วยไม่ได้ มีอาการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ทุกคนต้องกินนะครับ ถ้าเกิดขึ้นตา มีอาการอ่อนแรงอาจต้องสเต็ปต่อไปคือฉีด
หมอบอกว่าวัคซีนไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน แต่เป็นแค่บางล็อต ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมา ภาวะเส้นเลือดหดเกร็ง อาจทำให้มีอาการอัมพฤกษ์ ตาพร่ามัว ไม่เห็นไปข้างนึง สิ่งต้องแก้ไขคือให้ยาขยายหลอดเลือด สองการป้องกัน คนเป็นประจำเดือน ควรฉีดก่อนหน้าเป็นประจำเดือนและหลัง 7 วัน ส่วนมุมผู้ชายนี่ยังไง?
นพ.ธีระวัฒน์ : ผู้ชายที่มีโรคประจำตัวอาจต้องระวัง แต่ยังไงก็ตาม เนื่องจากย้ำเป็นครั้งที่ร้อย วัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เราต้องฉีดอย่างยิ่ง ปรากฎการณ์ที่พูดมาตรงนี้ เราได้รับทราบและรับรู้ เราป้องกันได้ระดับหนึ่งและสามารถป้องกันรักษาเยียวยาได้ ที่เราพูดในโหนกระแส ไม่ใช่ข้อมูลให้ทุกคนตกใจกลัว แต่เป็นข้อมูลที่บอกว่าเรารู้แล้วเกิดอะไรขึ้น และเราสามารถรักษาและป้องกันได้
แต่คนจะยิ่งไม่กล้าฉีดหรือเปล่า?
นพ.ธีระวัฒน์ : ที่เราพูดวันนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เพราะวัคซีนทุกชนิดในโลกนี้ โดยเฉพาะวัคซีนโควิด ไม่ว่าจะไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์นา หรือตรงนี้ก็ตาม มีผลข้างเคียงทั้งสิ้น มีทุกยี่ห้อ อย่างแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเรื่องลิ่มเลือด ไฟเซอร์ก็เช่นเดียวกัน ลิ่มเลือดเหมือนกัน โมเดอร์นาก็เหมือนกัน แต่ความจำเป็น ณ ขณะนี้เราต้องหยุดการระบาดนี้ให้ได้ด้วยการรักษาวินัย รักษาระยะห่างและเรื่องวัคซีน ถ้าเราไม่สามารถยับยั้งตรงนี้ได้ รพ.เองไม่สามารถจัดการได้ในเรื่องเตียงและอุปกรณ์ต่างๆ
มีสายจาก “คุณเฟรม” ลูกชายคุณแม่ที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ไม่แน่ใจผลเกิดจากวัคซีนหรือเปล่า ตอนนี้มั่นใจเลยใช่มั้ยว่าทั้งหมดเกิดจากวัคซีน?
เฟรม : เบื้องต้นไม่สรุปได้ แต่คิดว่าน่าจะมีโอกาสเกิด หรือมีส่วนช่วยทำให้อาการแม่กำเริบขึ้นมาได้ แม่อายุ 57 ปี เป็นพยาบาลวิชาชีพ เบื้องต้นแกตรวจทุกปี มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หมอให้ควบคุมอาหาร ระดับน้ำตาล ส่วนโรคอื่นไม่มีอะไร แกยังปฏิบัติงานเป็นพยาบาลอยู่
ได้รับเข็มแรกหรือเข็มที่สอง?
เฟรม : เข็มแรกวันที่ 7 เม.ย. วันแรกไม่มีอาการอะไร จนมา 1 อาทิตย์หลังฉีดวัคซีน คุณแม่เสียชีวิตวันที่ 14 เม.ย. เบื้องต้นคุณแม่ก่อนหน้านั้นวันที่ 13 เป็นวันสงกรานต์ เรามีการไปรดน้ำดำหัวกันปกติ แม่ไม่ได้มีอาการมาก่อนหน้านั้นเลย เข้านอนปกติ จนตีสองของวันที่ 14 ได้ยินเสียงคุณแม่อาเจียน ผมเลยลุกไปดู ถามว่าเป็นอะไร แกปวดเมื่อยตามเนื้อตัว รู้สึกไม่ค่อยสบายตัว ผมเลยพามานอนพัก เช็ดตัวให้ก็ดีขึ้น และพาไปเข้าห้องน้ำ จนสักตีสี่ ผมพาแกไปเข้าห้องน้ำอีกรอบ แกเหมือนลุกจากห้องน้ำไม่ไหว ผมเลยประสานทางคุณพ่อกับพี่ชายเพื่อส่งคุณแม่ไปรพ. แต่ติดต่อรพ.ไม่ได้ จนคุณแม่ตาค้างไป ด้วยความผมเคยเป็นพยาบาลมาก่อน ก็ช่วยปั๊มหัวใจขึ้นมารอบแรก และนำตัวส่ง รพ.เอง พอถึงรพ. หมอนึกถึงว่าน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่ง ณ ตอนนั้นไม่มีการให้การรักษาใดๆ เลย จนครึ่งชม.ถัดมาแกก็ไปอีกรอบ แล้วครั้งที่สองไม่ได้กลับมา
อาการอื่นๆ เช่นแน่นหน้าอก อัมพฤกษ์ไม่มีเกิดขึ้นเลยถูกมั้ย?
เฟรม : เบื้่องต้นก่อนหัวใจหยุดเต้นไปรอบแรก แกบอกว่าปวดตามเนื้อตัว ขาชาทั้งสองข้าง จนลุกมาจากห้องน้ำไม่ได้ รอบสองแกบอกว่าขาชาจนไม่รู้สึกอะไรเลย จนแกน็อกไป
ฝั่งภาครัฐหรือคนที่รับผิดชอบ ติดต่อมาหรือยัง?
เฟรม : เบื้องต้นตั้งแต่คุณแม่เสีย จนผ่านมาสัก 1 อาทิตย์ ไม่ได้รับการติดต่ออะไรมาเลย จน รพ. เห็นว่ามีข่าวลือว่าแม่ผมเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน พวกผมใจจริงต้องการรอผลชันสูตรอย่างเป็นทางการก่อน แต่อยู่ดีๆ รพ.เขามาโพสต์ในเฟซทาง รพ. ว่าแม่ผมเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่เกิดจากมีโรคประจำตัว และทานยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง ข้อมูลที่ลงคุณไม่ได้สอบถามทางครอบครัวหรือได้รับอนุญาตจากครอบครัวก่อน ซึ่งมีการแชร์ไปค่อนข้างเยอะ จน รพ.ได้ลบโพสต์ออกไปและออกมาขอโทษ และได้ติดต่อกลับมาจะให้ความช่วยเหลือ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ติดต่ออะไรมาเลย
คุณเฟรมติดอยู่ในใจว่าเกี่ยวกับวัคซีนหรือเปล่า?
เฟรม : ใช่ครับ บอกตรงๆ ไม่มีใครทราบเลยว่าวัคซีนตัวนี้จะทำให้เกิดลิ่มเลือดหรืออะไรต่างๆ ได้ แต่อย่างน้อยถ้ามีโอกาสเกิดแค่ 1% 1 ใน 100,000 หรือ 1 ในล้าน มันก็เกิดขึ้นได้ อยากให้ภาครัฐเล็งเห็นตรงนี้หน่อย อยากให้แม่ผมเป็นกรณีตัวอย่างสร้างมาตรฐานที่ดีกว่านี้ จะได้ไม่มีเคสต่อๆ ไป และเกิดความสูญเสียเหมือนที่ผมได้เจอ
อาการที่คุณเฟรมบอกมาเข้ามั้ย?
นพ.ธีระวัฒน์ : อาจเป็นสาเหตุร่วม ปรากฎการณ์ที่เราเจอ หลอดเลือดหดเกร็ง ตรงนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว อาการภายในวันนั้นเอง หรือไม่กี่นาทีหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามขอแสดงความเสียใจด้วย
คนถามว่าแล้วตกลงถ้ามีการปนเปื้อนเราจะไปมั่นใจได้ยังไง ฉีดหรือไม่ฉีด?
นพ.ธีระวัฒน์ : ฉีดแน่และต้องส่งสัญญาณไปที่ผู้การผลิตว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เปลี่ยนล็อตใหม่ ล็อตที่ใช้อยู่ปัจจุบันเปลี่ยนคืนไป ส่งล็อตใหม่มา ไม่งั้นเราก็ต้องป้องกันและเตรียมพร้อมรักษากันอยู่ค่อนข้างเยอะพอสมควร
ภาครัฐบอกว่าเป็นอัมพฤกษ์ชั่วคราว คิดขึ้นเอง?
นพ.ธีระวัฒน์ : ต้องให้คนออกแถลงการณ์ ลองเป็นดูได้