หมอโอภาส แนะเลิกใช้วิธีตรวจแบบ Rapid Test หลังพบประวัติผู้ป่วยเสียชีวิตรายหนึ่ง ช่วงแรกผลตรวจเป็นลบ รู้ตัวอีกทีอาการหนัก
(21 เม.ย.64) ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Opass Putcharoen เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดของไทยรายหนึ่ง ที่ใช้ Rapid Test ตรวจให้ผลเป็นลบ กว่าจะรู้ว่าติดเชื้อก็อาการหนัก และในที่สุดก็เสียชีวิต ระบุว่า
“ประเด็นเรื่องการเลือกและแปลผลการตรวจ ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อทางระบบหายใจชัดเจนแต่ใช้ rapid test ตรวจให้ผลเป็นลบ มารู้อีกทีตอนมีอาการมากแล้ว การตรวจอีกครั้งจากการแยงจมูกและ PCR เป็นโควิด ในที่สุดผู้ป่วยเสียชีวิต สาเหตุหนึ่งก็น่าจะเป็นจากการเลือกวิธีตรวจคัดกรองครั้งแรกที่ไม่ไวพอ เลยไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ การตรวจ PCR เองก็ต้องแปลผลด้วยความระมัดระวังในทุกราย แต่อย่างน้อยก็มีปัญหาน้อยกว่าการตรวจวิธีอื่น ความเห็นส่วนตัวไม่ควรใช้ rapid test โดยเฉพาะแอนติบอดี ในการตรวจในสภาวะแบบนี้ เพราะอาจทำให้คนติดเชื้อไม่รู้ว่าตัวเองเป็น จึงไม่ได้รักษาและอาจจะไม่ได้ระวังตัวเรื่องการแพร่กระจายเชื้อครับ”
โดยก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส ยังได้ให้ข้อมูลไว้ว่า จากเคส 200 กว่ารายของระลอกนี้ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าเชื้อในการระบาดลระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าเดิม
- ปกติโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้ว เชื้อจะน้อยลงแม้ว่าตรวจ PCR บวกแต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
- รอบก่อนๆ ไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ แต่รอบนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม
- หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ คนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการให้เห็น แต่รอบนี้เร็วกว่าเดิม ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็ว การให้ยาต้านไวรัสกับยาสเตียรอยด์ต้องพร้อม การวินิจฉัยปอดอักเสบต้องทำได้เร็ว
- ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย
- สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เราจะเห็นเคสหนักในไอซียูมากขึ้น
จากที่เห็นก็น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษ ที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พบว่าควรมีวิธีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่การป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชน ด้วยมาตรการต่างๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค