หมดเวลาของปลอม : เมื่อองค์กรกีฬาร่วมใจเปิดศึกต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

Home » หมดเวลาของปลอม : เมื่อองค์กรกีฬาร่วมใจเปิดศึกต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
หมดเวลาของปลอม : เมื่อองค์กรกีฬาร่วมใจเปิดศึกต้านสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

เสื้อก๊อป, เสื้อปลอม, เสื้อเกรดจีน, เสื้อหลังสนาม หรือชื่ออะไรก็ตามที่คุณใช้เรียกเสื้อผิดลิขสิทธิ์ คือปัญหาที่เกิดขึ้นและพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในไทย หรือในประเทศฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

แต่ที่แตกต่างกัน คือที่โลกตะวันตกกำลังเดินหน้าปราบปรามขบวนการขายเสื้อกีฬาผิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ภายใต้การร่วมมือกันของรัฐบาลกับองค์กรกีฬาที่ทรงอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็น Nike แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอันดับ 1 ของโลก, NFL ลีกอเมริกันฟุตบอลยอดนิยมของชาวอเมริกัน ไปจนถึงลีกฟุตบอลขวัญใจคอลูกหนัง อย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ

เหตุใดโลกตะวันตก จึงเลือกเปิดศึกอย่างจริงจัง กับเสื้อผ้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสังคมไทยเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง ติดตามไปกับ Main Stand

เมื่ออเมริกาถูกจีนขโมยทรัพย์สิน

ทุกคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่า สหรัฐอเมริกา กับ จีน คือสองชาติมหาอำนาจที่เป็นไม้เบื่อไม้เมามาอย่างยาวนาน แต่ไม่มียุคไหนจะตึงเครียดไปกว่า ยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ หลังผู้นำรายนี้ประกาศให้ชาติยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันออก เป็นศัตรูเบอร์ 1 ที่อเมริกาต้องเอาชนะให้ได้

1ทุกผลประโยชน์ที่ควรเป็นของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมจะจัดการโดยไม่สนว่าจะก่อปัญหาหรือความขัดแย้งกับชาติอื่นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งรัฐบาลของเขาได้พบข้อมูลสำคัญ ซึ่งเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ได้ซัดหมัดใส่จีนแบบเต็มเป้า

ย้อนไปในปี 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวอ้างว่า พวกเขามีข้อมูลการจำหน่ายสินค้าผิดลิขสิทธิ์ (ทุกรูปแบบ) ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน หรือมีชาวจีนเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ซึ่งทำให้สูญเสียรายได้ไปร่วม 460,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท

นอกจากชาวจีนจะขโมยรายได้ที่ควรตกเป็นของบริษัทสหรัฐฯ ข้อมูลยังบอกว่าคนที่ซื้อของปลอมจากประเทศจีน ส่วนใหญ่คือคนอเมริกันนี่แหละ เท่ากับว่าชาติมหาอำนาจจากฝั่งตะวันตกเสียผลประโยชน์ให้กับจีนแบบทั้งขึ้นทั้งล่อง

ถึงแม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะตั้งใจเปิดศึกกับจีนอยู่แล้ว แต่กรณีต่อสู้กับการขายสินค้าผิดลิขสิทธิ์ สหรัฐอเมริกาได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากชาติตะวันตก เพราะการเสียผลประโยชน์มาอย่างยาวนานจากการขายของปลอมกันแบบเป็นธุรกิจจริงจัง และไม่ได้รับการปราบปรามจากภาครัฐ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศของทวีปเอเชีย

หนึ่งในสินค้าที่ได้รับการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุด คือเครื่องแต่งกายประเภทกีฬา แน่นอนว่ารองเท้าสนีกเกอร์ครองตลาดคนซื้อของปลอมมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีรายงานว่า 20 เปอร์เซนต์ของรองเท้าสนีกเกอร์ที่คนบนโลกสวมใส่เป็นของปลอม เท่ากับว่ามีเม็ดเงินมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดค้าขายรองเท้าปลอม

2อีกหนึ่งตลาดที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกเสียหายนักจากการค้าขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ คือเสื้อแข่งของทีมกีฬา เอาแค่เสื้อแข่งของนักอเมริกันฟุตบอล ในลีก NFL มีการประเมินจากหน่วยงานของสหรัฐฯ ถึงจำนวนรายได้ที่ลีกสูญเสียไป สูงถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 55,600 ล้านบาทไทย 

ตลอดยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ตลอด ถึงขนาดบินไปคุยกับ สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน เพื่อหารือเรื่องสินค้าผิดลิขสิทธิ์ก็ทำมาแล้ว รวมถึงไล่แบนสินค้าตามเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่ก็ทำได้แค่ป้องกันเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ธุรกิจขายของปลอมยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่ต้องเผชิญอุปสรรคใดๆ

เดินหน้าปราบปราม

ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ถึงจะเปลี่ยนมือจาก โดนัลด์ ทรัมป์ มาสู่ โจ ไบเดน แต่นโยบายในการปราบปรามของเถื่อนไม่ได้หายไปไหน และยังมีความจริงจังมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

3หน่วยงานพิทักษ์ความมั่นคงของชาติ ได้เริ่มทำการจับคุมสินค้าผิดลิขสิทธิ์ที่เข้ามาจากจีนและฮ่องกงอย่างจริงจัง พร้อมกับออกแถลงการณ์ชัดเจนว่า การซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เท่ากับการทำลายเศรษฐกิจในประเทศ เพราะเป็นการปล่อยเงินก้อนใหญ่ออกนอกสหรัฐฯ

เนื่องจากผลประโยชน์ที่สูญเสียไปเป็นจำนวนมหาศาล สุดท้ายองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงต้องหันมาปกป้องเม็ดเงินของตัวเอง เริ่มต้นที่ NFL และ Nike ที่หันมาจับมือกัน เพื่อปราบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

NFL กลายเป็นโต้โผแกนนำในเรื่องนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานกีฬานี้ได้ทำการยื่นฟ้องต่อศาลนานาชาติ เพื่อสั่งปิดเว็บไซต์ขายสินค้าของปลอมไปมากกว่า 2,000 เว็บไซต์ ซึ่งสื่อรายงานว่า ช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ NFL ได้ถึง 273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,900 ล้านบาท

ถึงจะถือเป็นเงินส่วนน้อย แต่ความสำเร็จของ NFL ได้ส่งแรงบันดาลใจต่อมายัง Nike ที่จะต้องหันมาจัดตั้งทีมงานเพื่อเป็นกำลังในการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Nike ได้ทำการฟ้องร้องเว็บไซต์และผู้ขายของผิดลิขสิทธิ์ในโลกอินเทอร์เน็ต รวมกันมากกว่า 1,100 ราย เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง 

4ปัจจุบัน ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มตัว ทุกลีกกีฬาชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น NFL, NBA, MLB, NHL ไปจนถึงกีฬาระดับมหาวิทยาลัย ได้มีการตั้งทีมงานเพื่อจัดการกับร้านค้าผิดลิขสิทธิ์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ควรเป็นของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์

แรงบันดาลใจนี้ส่งต่อมาไกลถึงฝั่งยุโรป ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ คือหนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามสินค้าของปลอม ซึ่งทางลีกได้ออกแถลงการณ์ว่า กำลังร่วมมือกับทั้งรัฐบาลและสโมสรฟุตบอลในลีก ให้ช่วยกันจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง

พรีเมียร์ลีก รายงานว่า ได้สูญเสียรายได้ถึง 900 ล้านปอนด์ต่อปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ไปกับธุรกิจค้าขายสินค้าผิดลิขสิทธิ์ จนทำให้เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่วาระที่หน่วยงานกีฬาจะต้องจัดการ แต่เป็นสิ่งที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอย่างมหาศาล พรีเมียร์ลีกได้ปกป้องทรัพย์สินของตัวเองกลับคืนมาจากการปราบปรามร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้เพียง 30 ล้านปอนด์ ต่อปีเท่านั้น เพราะปัจจุบันมีรายงานว่า เสื้อฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่ผู้คนซื้อขายกันในปัจจุบันมีถึง 30 เปอร์เซนต์ ในตลาดที่เป็นของปลอม

เหตุใดคนจึงซื้อของปลอม?

ถึงจะมีการเดินหน้าไล่ปราบปรามสินค้าผิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง ทั้งปิดร้านค้าในโลกออนไลน์, ยึดสินค้าระหว่างการขนส่ง, ฟ้องร้องด้วยอำนาจที่ได้รับจากศาล แต่ดูเหมือนว่าการแก้ปัญหาจะทำได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น 

เพราะนี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่กลับไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ คือการหยุดไม่ให้คนซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อไม่มีคนซื้อย่อมไม่มีคนขาย ดีมานด์เท่ากับซัพพลายง่าย ๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์

5อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าเหตุใดของปลอมจึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า นั่นเป็นเพราะว่าราคาเสื้อกีฬาของจริงแพงพุ่งกระฉูดเสียดฟ้า ขณะที่ของปลอมราคาย่อมเยาว์ทุกคนจับต้องได้

ยกตัวอย่าง เช่น เสื้อแข่งเกรดแฟนบอลของลีก NFL ที่เรียกว่า Game Jersey มีราคา 99.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,270 บาท ขณะที่เสื้อของปลอมจากจีนสามารถสนนราคาให้คุณจับต้องได้ ด้วยราคาเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 320 บาทไทย แถมเป็นเกรดผู้เล่นเสียด้วย  

มองไปที่กีฬายอดนิยมของคนไทยอย่างฟุตบอล ก็จะเห็นความแตกต่างเช่นกัน ขณะที่เสื้อแข่งเกรดแฟนบอลของจริง ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,500 ถึง 2,900 บาท เราสามารถซื้อของปลอมได้ในราคาหลักร้อย และวางขายกันแบบชัดเจนตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ

คงเห็นภาพแล้วว่า ราคาเสื้อแข่งระหว่างของจริงกับของปลอมห่างกันมากขนาดไหน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนกีฬาจำนวนมากจะหันมาบริโภคสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แทนที่จะซื้อของจริง 

ในความเป็นจริง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพเศรษฐกิจโลกไม่ได้เอื้อเฟื้อให้แฟนกีฬาทุกคนสามารถซื้อเสื้อแข่งของแท้ได้แบบสบายกระเป๋าเงิน เพราะท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางสังคม ราคาเสื้อกีฬาจากแบรนด์ชั้นนำมีแต่แพงขึ้นทุกวัน 

6อย่างไรก็ตาม การซื้อของผิดลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องหรือควรกระทำ เพราะนอกจากผิดกฎหมายแล้วยังส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงกลไกการผลิตด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว วิธีแก้ไขที่ดีที่สุด คือการที่แบรนด์กีฬาต่าง ๆ ต้องยอมลดราคาสินค้าลงมา เพื่อให้แฟนกีฬาเข้าถึงได้มากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น เสื้อฟุตบอลที่ขายกันหลายพันบาทในปัจจุบัน มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 215 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่ามีส่วนต่างของกำไรมากขึ้นกว่า 10 เท่า หากพูดแบบตรงไปตรงมา นี่คือการค้ากำไรเกินควรและขูดเลือดจากลูกค้าอย่างไม่ต้องสงสัย

7ดังนั้น สุดท้ายบริษัทต่าง ๆ ต้องยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขามีส่วนที่ทำให้สินค้าของปลอมเกิดขึ้น จากการค้ากำไรเกินควรกับการจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ จนผู้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถที่จะจ่ายไหว กลายเป็นการบีบบังคับให้พวกเขาต้องไปซื้อของปลอม

หากเลือกได้คงไม่มีใครอยากซื้อของผิดลิขสิทธิ์ เพราะคุณภาพของปลอมห่างจากของจริงอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่มีอีกความจริงที่ว่าของดีก็ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป หากลดราคาลงมาได้ ทุกคนก็จะมีโอกาสได้เข้าถึงของดีในราคาที่เหมาะสม

สุดท้ายแล้ว ธุรกิจซื้อขายสินค้าของละเมิดลิขสิทธิ์จึงเหมือนด้านมืดของระบบทุนนิยม ที่คงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน เพราะความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้คนยังคงมีอยู่ เสื้อกีฬายังคงขึ้นราคากันไม่หยุด สินค้าปลอมก็จะยังคงเป็นที่นิยมต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ