หนุ่มโพสต์ถาม รอยแปลกๆ บนภูหินร่องกล้า ล่าสุดยืนยัน "รอยตีนไดโนเสาร์" ของแท้

Home » หนุ่มโพสต์ถาม รอยแปลกๆ บนภูหินร่องกล้า ล่าสุดยืนยัน "รอยตีนไดโนเสาร์" ของแท้
หนุ่มโพสต์ถาม รอยแปลกๆ บนภูหินร่องกล้า ล่าสุดยืนยัน "รอยตีนไดโนเสาร์" ของแท้

หนุ่มโพสต์ถาม รอยแปลกๆ บนภูหินร่องกล้า ล่าสุดยืนยันแล้ว “รอยตีนไดโนเสาร์” ของแท้ มีหลายรอย หลายตัว อายุกว่า 120 ล้านปี

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nuttorn Daraphongsathaporn โพสต์ภาพในกลุ่ม นี่ตัวอะไร เป็นภาพรอยคล้ายรอยเท้าสัตว์ขนาดใหญ่ ประทับอยู่บนหิน ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โดยสอบถามว่า “ใช่รอยเท้าไดโนเสาร์หรือไม่ครับมีอยู่หลายรอย หลายแบบ พิกัดที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ที่ลานกางเต็นท์ภูหินร่องกล้า” โพสต์ดังกล่าวสร้างความฮือฮาและเป็นที่สนใจอย่างมากในโลกออนไลน์

ซึ่งต่อมา กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการตรวจสอบรอยดังกล่าว โดยวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นางสาวดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง  ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่โดยว่าที่ร้อยตรีกฤษณะ สุดชา นักธรณีวิทยาปฏิบัติการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสำรวจธรรมชาติ แจ้งว่าค้นพบร่องรอยตรงนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 แต่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจ และได้เข้ามาท่องเที่ยวเดินสำรวจบริเวณนี้อยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าอาจจะเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน และเผยแพร่ไปทางสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นข่าว

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรธรณีพบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง ประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีจำนวนมากกว่า 10 รอย และแสดงเป็นแนวทางเดิน จำนวนอย่างน้อย 2 แนว ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ แสดงรอยประทับของของนิ้วตีนข้างละสามนิ้วชัดเจน ทั้งนี้ คณะสำรวจจะลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อศึกษาวิจัยต่อไป

พื้นที่บริเวณรอยตีนไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่นี้ เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโบราณที่กว้างขวาง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิด รวมถึงไดโนเสาร์ ซึ่งเดินเพ่นพ่านไปมาตามริมแม่น้ำที่เป็นดินโคลนอ่อนนุ่ม เกิดเป็นรอยตีนประทับไปบนพื้นตะกอนเป็นแนวทางเดิน ต่อมาตะกอนเหล่านี้เริ่มแห้งและแข็งขึ้นทำให้คงสภาพรอยตีนที่ประทับลงไปได้ จนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากในปีถัดไปได้พัดพาเอาตะกอนชุดใหม่มาปิดทับทำให้ร่องรอยต่างที่อยู่ตะกอนชุดเก่าถูกเก็บรักษาไว้ใต้ดิน กาลเวลาผ่านกว่าร้อยล้านปีตะกอนค่อยๆ แข็งตัวกลายเป็นหินตะกอน จำพวกหินทรายและหินโคลน ฝังอยู่ใต้ผิวโลก

ต่อมากระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน ทำให้ชั้นหินที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลก จึงเป็นเหตุว่าทำไมจึงพบรอยตีนไดโนเสาร์ประทับอยู่บนหินแข็งที่อยู่บนภูเขาสูง

พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เคยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์แล้ว บริเวณลำน้ำหมันแดง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ห่างออกไปจากจุดที่ค้นพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร และเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอดเช่นเดียวกัน โดยบริเวณที่ค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์แห่งใหม่ เป็นพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้กับลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งสามารถเข้าถึงได้สะดวก และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและพักแรมในอุทยาน เหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เจ้าของเฟซบุ๊ก  Nuttorn Daraphongsathaporn ที่โพสต์ถามในกลุ่มคือ นพ.ณัฐธร ดาราพงศ์สถาพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ.น่าน โดยคุณหมอได้เล่าเพิ่มเติมว่า ตนเองและครอบครัวเพื่อนๆ ได้ไป อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีเด็กๆ 9 คน มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จัก สัมผัสใกล้ชิด และรักธรรมชาติ  และแล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพื่อนของเรานั้นก็พาเราไปดูรอยอะไรบางอย่างบนลานหินใกล้ๆ ลานกางเต็นท์ พาเด็กๆ ไปเดินสำรวจ ไปสัมผัสกับบรรยากาศ ความลึก ระยะห่าง ระยะย่างก้าว และความหลากหลาย ของการค้นพบนั้น ทำให้พวกเรามั่นใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแล้ว

พอกลับมาเราก็คิดได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป ถ้าสิ่งที่ค้นพบนั้นเป็นอย่างที่พวกเราคิดจริง ถ้ามันคือ“รอยเท้าไดโนเสาร์” (พ่อแม่ทุกคนคงรู้ว่าเรื่องไดโนเสาร์กับเด็กๆนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันคือสุดยอดแล้ว) มันคือสมบัติชาติ มันคือการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่

ผู้ค้นพบคือ คุณรัฐพล ใกล้ชิด คุณพิชญา ใกล้ชิด ด.ช.น่านพนา ใกล้ชิด

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ