หนุ่มเอารองเท้าตบหน้าพระ ฉุนบนให้เมียกลับมาแล้วไม่ได้ ที่แท้เป็นหลานเทียด “พ่อท่านซัง” คิดว่าจะได้รับสิทธิพิเศษ
จากกรณีปรากฏคลิปจากกล้องวงจรปิดในหอรูปเคารพพระครูอรรถธรรมรส หรือที่รู้จักในชื่อ “พ่อท่านซัง” พระเถราจารย์เกจิรูปสำคัญของเมืองร่อนพิบูลย์ ภายในวัดเทพนิมิต หรือ วัดวัวหลุง ตำบลควนชุม อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชายหนุ่มรายนี้ได้เข้าแสดงท่าทางเกรี้ยวกราดต่อหน้ารูปหล่อเหมือนพ่อท่านซัง ก่อนใช้รองเท้าแตะตบไปที่ใบหน้าของรูปเหมือน และยังขว้างรองเท้าใส่ โดยคลิปนี้ถูกนำออกมาเผยแพร่เพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุ และในที่สุดนั้นทราบแล้วว่าชายดังกล่าวเป็นชายหนุ่มรายหนึ่งมีบ้านอยู่บริเวณด้านหลังวัด
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (15 มี.ค.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาสายตรวจตำบลควนชุม ได้นำหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราช ไปยังบ้านพักของชายที่ปรากฏในภาพแล้วเพื่อให้พบพนักงานสอบสวน สภ.ร่อนพิบูลย์ ในข้อหาทำให้เสียทรัพย์เป็นการเบื้องต้น เนื่องจากการใช้รองเท้าเข้าไปตบบริเวณใบหน้าของรูปเหมือนนั้นพบว่ามีความเสียหายบริเวณดวงตาของรูปเหมือน ช่างต้องนำไปติดตั้งคืน
และอาจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตาม มาตรา 206 อีกหนึ่งข้อหา คือ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุว่าชายรายดังกล่าวที่ปรากฏนั้นอยู่ในสายตระกูลของพ่อท่านซัง มีศักดิ์เป็นเหลนเทียด หรือ พ่อท่านซังเป็นเทียด มีภาวะที่ไม่ค่อยปกติจากความเครียดเนื่องจากภรรยาได้แยกทาง และออกไปจากบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว ชายรายดังกล่าวอาศัยอยู่ในบ้านเพียงคนเดียวไม่สุงสิงกับใคร
เข้าใจว่าเหตุที่ทำให้เกิดอาการเกรี้ยวกราดจากที่เข้าไปบนบานกับรูปเหมือนให้ภรรยากลับมา แต่ไม่เป็นผลจึงก่อเหตุ โดยเข้าใจว่าเขาเป็นเหลนเทียดคงจะได้รับสิทธิพิเศษพ่อท่านจะตอบรับการบนบาน แต่เมื่อไม่เป็นไปตามที่ต้องการจึงโกรธ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความทุกข์ใจให้กับครอบครัวอย่างมาก เตรียมที่จะตั้งเครื่องขอขมาและนำตัวมาขอขมาต่อหน้ารูปเหมือนเร็ว ๆ นี้
สำหรับ พ่อท่านซัง หรือ พระครูอรรถธรรมรส เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่ทรงวิทยาคมจนเป็นที่ร่ำลือเมื่อกว่า 80 ปีก่อน และยังเป็นพระสงฆ์นักพัฒนา มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อปี 2478 อายุ 84 ปี แต่ความศรัทธาของชาวร่อนพิบูลย์ และชาวนครศรีธรรมราช ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมีการจัดประเพณีสรงน้ำในช่วงเทศกาลเป็นประจำทุกปี