หนุน รบ.ทำงานครบวาระ 'รองเลขา ปชป.' จี้ กกต.เร่งกำหนดเขตลต.ให้ชัด มีเลือกตั้งแน่

Home » หนุน รบ.ทำงานครบวาระ 'รองเลขา ปชป.' จี้ กกต.เร่งกำหนดเขตลต.ให้ชัด มีเลือกตั้งแน่
หนุน รบ.ทำงานครบวาระ 'รองเลขา ปชป.' จี้ กกต.เร่งกำหนดเขตลต.ให้ชัด มีเลือกตั้งแน่



“รองเลขา ปชป.” เชื่อปี’66 มีเลือกตั้งแน่ จี้ กกต.เร่งกำหนดเขตลต.ให้ชัด เพื่อให้พรรคการเมืองแก้ปัญหาได้ทัน หนุน รบ.ทำงานครบวาระ ป้องกันบางพรรคหวังผลใช้หาเสียง ชี้จับตาการเมืองหลังเลือกตั้ง เชื่อทุกค่ายติดปัญหา ‘เดทร็อก’ แนะควรตั้งรัฐบาลให้จบภายใน ก.ค.

1 ม.ค. 65 – นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวอวยพรปีใหม่ 2566 แด่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศว่า เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2566 นี้ ตนขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนคนไทยนับถือ ดลบันดาลให้ประชาชนชาวไทยมีความสุข สุขภาพแข็งแรง คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา และขอให้ผ่านพ้นทุกอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ด้วย

นายชัยชนะ ยังวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปี 2566 ว่า เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่า ปีนี้จะเกิดมีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป แต่ในส่วนการเตรียมการของแต่ละฝ่ายในเวลานี้ ก็ตั้งอยู่บนความไม่ชัดเจน เนื่องจากว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ระบุว่า จะต้องรอความชัดเจนเรื่องจำนวนประชากรเมื่อสิ้นปี 2565 ที่จะส่งมายัง กกต.ภายในวันที่ 10 มกราคม เสียก่อน

ซึ่งคาดว่า จะมีผลอย่างยิ่งต่อการคิดคำนวณจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกัน เมื่อมี ส.ส. และนักการเมือง ต่างเข้าออกพรรคต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวทางไหน

ดังนั้นตนจึงขอให้ กกต.มีการประกาศอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเขตเลือกตั้ง และถ้ามีการมอบให้ กกต.แต่ละจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งภายในพื้นที่แล้ว ก็ขอให้ดำเนินกระบวนการทั้งหมด ซึ่งต้องรวมถึงการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบของการแบ่งเขตด้วย ภายใน 1 เดือน นับจากการประกาศของ กกต.ที่ระบุว่า แต่ละจังหวัดได้ ส.ส. เท่าใด เพราะจะเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะทำให้แต่ละพรรคการเมือง ได้ดำเนินการคัดสรรสมาชิกพรรคที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการยุบสภานั้น หากทุกฝ่ายมีความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีก็สามารถยุบสภาได้ทันที แต่ถ้าให้ตนวิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ยุบสภาก่อนครบวาระ จะเป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองเพียงแค่ลดเวลาการสังกัดพรรคจาก 90 วัน เป็น 30 วัน และการยุบสภาส่วนใหญ่ ก็เป็นกรณีมีเหตุปัจจุบันทันด่วนทำให้นักการเมืองจำต้องรีบเร่งพิจารณาทางเลือกของตนเอง

แต่ในเมื่อขณะนี้มีการคาดการณ์เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หากครบวาระจะต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม และมีนักการเมืองหลายต่อหลายคน ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองไปแล้วนั้น ตนก็ขอสนับสนุนให้รัฐบาลบริหารประเทศไปจนครบวาระ เนื่องจากเป็นความตั้งใจของรัฐบาลแต่แรกที่ต้องการจะทำงานให้กับประชาชนไปจนครบวาระ

รวมทั้ง เป็นการกำหนดอย่างชัดเจนไปว่า หากจะตัดสินใจอย่างไรทางการเมือง จะมีเวลาสิ้นสุดประมาณวันที่ 6 กุมภาพันธ์เท่านั้น และยังจะเป็นการปิดช่องของบางพรรคการเมือง ที่จะเอาการอยู่ไม่ครบวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไปเทียบกับบางรัฐบาลในอดีตเพื่อหวังผลในการหาเสียงอีกด้วย

“ขณะนี้บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองแต่ละคน ต่างเตรียมความพร้อมโดยเอาการแบ่งเขตเลือกตั้งในที่ กกต.ประกาศในปี 2565 เป็นพื้นฐาน โดยหลายจังหวัดก็มีจำนวน ส.ส.เหมือนกับปี 2562 บางจังหวัดก็มี ส.ส. เพิ่มขึ้นมา 1 คน และบางจังหวัดที่มีประชากรอพยพย้ายถิ่นเข้ามามากก็จะมีถึง 2-3 คน

ซึ่งผมคาดว่า หากมีการประกาศจำนวน ส.ส. ที่พึงมีของแต่ละจังหวัด โดยมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวน ส.ส.แล้ว สถานการณ์การเมืองจะเกิดฝุ่นตลบอีกระลอกหนึ่งโดยจังหวัดที่มี ส.ส.เพิ่ม ก็จะมีนักการเมืองรีบวิ่งเข้าหาพรรคที่มีกระแส เพื่อโอกาสการันตีการได้เป็น ส.ส. แต่หากมีการลดจำนวน ส.ส.ลง ก็จะเกิดปรากฏการณ์ความวุ่นวายทั่วทั้งจังหวัด เพราะต้องยอมรับว่า โอกาสการเป็น ส.ส.ในระบบเขต มีสูงกว่าการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่รู้ว่า ผลคะแนนจะมากพอให้ได้ถึงลำดับการเป็น ส.ส.หรือไม่

ดังนั้น อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่มีสมาชิกได้เปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครฯ แล้วไม่ได้ลงสมัครจะดำเนินการในวิธีการต่างๆ ที่จะรักษาสิทธิการเป็นว่าที่ผู้สมัครเอาไว้ ฉะนั้นผมขอเรียกร้องในสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ง่ายและมีผลต่อประชาชนโดยส่วนรวมคือ การเร่งรัดให้มีการประกาศจำนวน ส.ส.ที่จะมีในแต่ละจังหวัด เพี่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายดำเนินการเตรียมการและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ส่วนเรื่องการยุบสภานั้น ผมไม่สามารถเดาใจนายกฯได้เลยว่าจะยุบสภาตอนไหน แต่ในเมื่อเวลากระชั้นชิดขนาดนี้ และมีการคาดการณ์กันว่า 7 พฤษภาถึงเวลากาบัตรแล้วก็ขอให้ท่านนายกฯ สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐบาลอีกชุดหนึ่งที่อยู่จนครบวาระ” นายชัยชนะกล่าว

รองเลขาธิการ ปชป. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในสภาช่วงสมัยประชุมสุดท้าย ที่มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำคัญที่บางพรรคการเมือง หมายมั่นปั้นมือว่า จะเอาไปเป็นนโยบายหาเสียง และมีการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ของพรรคฝ่ายค้านนั้น ตนคิดว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะขณะนี้ นักการเมืองต่างมุ่งสมาธิไปยังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งการอภิปรายทั่วไปฯ ถือเป็นการทิ้งทวนในการทำงานตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านว่า จะมีข้อมูลอะไรที่เป็นทีเด็ดมากกว่าคำปรามาสที่ว่าเนื้อหาในการอภิปรายส่วนใหญ่ มาจาการนำเสนอของสื่อมวลชน

แต่ที่สำคัญคือ หลังจากการเลือกตั้ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองเป็นอย่างมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจากการวิเคราะห์ของสื่อทั่วๆ ไปจะเห็นว่า ต่างฝ่ายต่างก็ติดเดดล็อคกันทั้งสิ้น เพราะเชื่อกันว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง อาจจะต้องหลีกทางให้พรรคที่มี ส.ส.น้อยกว่า แต่มี ส.ว.หนุนหลัง เป็นนายกรัฐมนตรี บางพรรคที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็ติดปัญหาเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่จะต้องพ้นตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568 จนเป็นที่มาของคำว่า ‘นายกฯ คนละครึ่ง’ แต่ไม่ทราบว่า จะไปคนละครึ่งกับใคร

บางพรรคพยายามชูเรื่องแลนด์สไลด์ เพื่อหนีข้อจำกัดบางประการในรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ สถานการณ์การเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ออกมาชิมลางกระแสนั้น ปรากฏว่า ถูกจับได้ไล่ทันว่าลอกของเก่าที่ประสบความล้มเหลว บางนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังทำอยู่และเกิดผลสำเร็จไปแล้ว

นายชัยชนะ กล่าวว่า ดังนั้น ตนจึงเห็นว่า กระบวนการตั้งแต่หลังเลือกตั้งไปจนถึงการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ควรให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 เพราะถ้าหากลากยาวเหมือนกับปี 2562 ที่กว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)บริหารประเทศได้ก็ใช้เวลาถึง 5 เดือน เกรงว่า จะไม่ทันสำหรับการแก้ปัญหาอีกมากที่ยังรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาเร่งแก้ไข

รวมทั้ง ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ต่อระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอีกด้วย และบรรยากาศสภาหลังจากนั้น ก็จะต้องประเมินกันเป็นช่วงๆ เพราะคาดว่า ยังมีร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญและญัตติต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเมืองในปีนี้

“ผมเชื่อว่า สถานการณ์การเมืองในปี 2566 นี้ ทุกฝ่ายต่างเดินหน้าให้ไปสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ทาง กกต.ต้องกำหนดให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนในวันเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่าในเมื่อทราบกันอย่างไม่เป็นทางการว่า จะเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ก็ควรจะเป็นวันนั้น

และหลังจากวันนั้น สถานการณ์การเมืองก็จะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น หากมีข้อสรุปในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและคนในตำแหน่งต่างๆ แล้ว สถานการณ์การเมืองก็จะเป็นไปตามจังหวะเวลา ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประชาชนและวงการเมืองอย่างมาก ก็จะต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงเหตุที่เกิดขึ้นต่อไปด้วย” นายชัยชนะกล่าว

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ