ส.ส. รุมจวก พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ซัดไร้แผนกู้ แต่สุดท้ายโหวตผ่าน

Home » ส.ส. รุมจวก พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ซัดไร้แผนกู้ แต่สุดท้ายโหวตผ่าน


ส.ส. รุมจวก พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ซัดไร้แผนกู้ แต่สุดท้ายโหวตผ่าน

ฝ่ายค้าน-รัฐบาล รุมจวก พ.ร.ก.คำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน ซัด กู้จ่าย-กู้แจก รายละเอียดมีแค่ 3 แผ่น ไม่เห็นหัวปชช.เอาเงินให้โรงกลั่น สุดท้ายให้ผ่าน 239 เสียง

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 9 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาพ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังคำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำทันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในร่างพ.ร.ก.ค้ำประกันการชำระหนี้ฯ และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565

สำหรับเหตุผลความจำเป็นในการตราพ.ร.ก.ครั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์น้ำมันโลกในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ ตั้งแต่เดือนมี.ค. ปี 2563 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกอาชีพอย่างรุนแรง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 36,000 ล้านบาท ได้เข้าช่วยค่าใช้จ่ายค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการเข้าไปดูแลลดค่าก๊าซหุงต้มให้อยู่ในระดับ 318 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม จากเดิม 363 บาท แต่สถานะของกองทุนน้ำมันยังเป็นบวกในปลายปี 2563 จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท

นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าวว่า ปี 2564 ประมาณเดือนก.ค. สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง เศรษฐกิจโลกดีขึ้น และเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันโลกเริ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตน้ำมันคือโอเปก พลัส ยังมีมาตรการที่รักษาระดับการผลิตไว้เท่าเดิม สวนทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อเดือนต.ค. ปี 2564 กองทุนน้ำมันฯ จึงได้เริ่มเข้าไปรักษาเสถียรภาพ ราคาน้ำมันดีเซล 8.1 พันล้านบาท ก๊าซหุงต้ม อีก1.3 หมื่นล้านบาท รวม 2.2 หมื่นล้านบาท

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ สิ้นปี 2564 ติดลบ 4.5 พันล้านบาท และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงสูงต่อเนื่อง และสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ ติดลบมากขึ้น ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ติดลบถึง 1.3 แสนล้านบาท โดยคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 35 บาท ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ ติดลบไปเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์น้ำมันยังไม่คลี่คลาย

จากนั้น เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่ทั้งส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ค้านการออกพ.ร.ก.ดังกล่าว อาทิ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจะไปค้ำประกันต้องเอาเงินของประเทศ เงินของประชาชน ดังนั้น ต้องถามตัวเองและเอากระจกส่องด้วยว่า ตกลงแล้วท่านบริหารห่วยแตกผิดพลาดใช่หรือไม่ ถ้าท่านบริหารอย่างรัดกุมคงไม่เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนท่านคงไม่รู้จะโทษใคร

“ดังนั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะท่านมีแต่เข้ามาแล้วก็กู้ แจกแล้วก็กู้ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใหม่เป็นขอค้ำประกันเงินกู้ แต่การบริหารของรัฐบาลชุดนี้เรียกว่า หนี้ท่วมหัวยังเอาตัวไม่รอด ปลายเทอมของรัฐบาลยังมีหน้าเข้ามาขออีก 1.5 แสนล้านบาท” นายจิรายุ กล่าว

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า เราได้รับเอกสาร 3 หน้า ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ทั้งที่เป็น พ.ร.ก.ค้ำประกันหนี้ จึงต้องมีรายละเอียดของหนี้ และรายละเอียดว่าจะไปกู้หนี้จากใคร เงื่อนไขเป็นอย่างไร ชำระหนี้อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งเอกสารที่ส่งมาให้ไม่มี ตนจึงมีความลำบากใจ และต้องพิสูจน์ว่าหนี้นี้ฉุกเฉินอย่างไร ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่เกิดจากการบริหารผิดพลาด ทั้งนี้ รัฐมนตรีก็รู้ว่าหนี้เพิ่มขึ้นเลยๆ ทำไมไม่ออกเป็นพ.ร.บ. เพราะถ้าเสนอช่วงเปิดสภาก็ทัน เพราะท่านรู้ตัวตั้งแต่เดือนมี.ค.

ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคปชป. กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาล รมว.พลังงาน และผู้บริหารกองทุนฯ ขาดวิสัยทัศน์ ที่ตั้งเพดานกองทุนฯ ไว้แค่ 4 หมื่นล้านบาท จนเกิดปัญหาเมื่อต้นทุนน้ำมันลง แต่ราคาสินค้าไม่ได้ลงตาม จนเกิดภาวะผู้ประกอบการรายใหญ่ได้กำไรต่อเนื่อง แต่ไม่มีเงินมาชดเชยกองทุนน้ำมันฯ ที่จะนำไปแก้ไขวิกฤตพลังงานที่จะส่งราคาสินค้า

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า รัฐบาลและผู้บริหารกองทุนฯ ต้องชี้แจงเสียทีว่าต้นทุนการกลั่นน้ำมันคือเท่าไหร่กันแน่ ดังนั้น การที่รัฐบาลนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยโดยที่ไม่รู้ว่าต้นทุนการกลั่นจริงเท่าไหร่ จึงเหมือนกับการนำเงินภาษีของประชาชนไปเป็นกำไรให้โรงกลั่น ทั้งที่กองทุนฯ ติดลบอยู่แล้วกว่าแสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นการผลักภาระหนี้ให้ประชาชน ถ้าชี้แจงไม่ได้ ตนก็จะไม่โหวตให้แน่

ส่วนน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า การขอให้ประชาชนมาค้ำประกันเงินกู้ วงเงินถึง 1.5 แสนล้านบาท ต้องชี้แจงรายละเอียดว่า กู้แล้วจะนำเงินไปทำอะไร นำเงินจากไหนมาใช้หนี้ และจะใช้หนี้กี่ปี แต่วันนี้นายสุพัฒนพงษ์ ไม่พูดถึงแผนการกู้ การใช้เงิน และแผนการใช้หนี้ ที่ผ่านมาในการประชุมวิปฝ่ายค้าน ทางหน่วยงานส่งเอกสารแผน 3 แผน มีไม่ถึง 2 หน้า ไม่บอกว่าจะคืนเงินเท่าไหร่ และไม่บอกว่าจะหารายได้ที่ไหนมาใช้หนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนทราบว่าไม่มีที่ไหนยอมให้กู้ เพราะสภาพคล่องมีปัญหาจริงๆ แล้วแบบนี้เรายังจะกล้าค้ำประกันให้อีกหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องเร่งเก็บเงินเข้ากองทุนจำนวนมหาศาล และจะกระทบประชาชนที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงมากขึ้นหรือไม่ สุดท้ายแล้วภาษีสรรพสามิตหายไปแล้วเท่าไหร่ หนี้สาธารณะในอนาคตจะเป็นเท่าไหร่ และจะทำอย่างไรให้การเก็บภาษีลาภลอยนี้ไม่กระทบผู้บริโภค

ทั้งนี้ มีเพียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุนเท่านั้น อาทิ นายภาคิน สมมิตรธนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. อภิปรายว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้เข้ามาทุกวัน หัวใจใหญ่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการขนส่ง รัฐบาลจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือค่าครองชีพ ตนจึงสนับสนุนการให้กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันราคาน้ำมัน และมั่นใจว่าจะสามารถใช้เงินคืนได้ภายใน 1 ปี ส่วนทิศทางพลังงานของประเทศไทยขณะนี้คือการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และในอนาคตเกษตรกรก็อาจจะใช้รถไถไฟฟ้า ดังนั้น การบริหารจัดการของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว

เช่นเดียวกับ นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. ที่สนับสนุนร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลในอดีตก็ใช้นโยบายคล้ายๆ กัน แต่พอรัฐบาลนี้ใช้บ้าง กลับมาว่า ตนเชื่อว่าทุกคนรักประชาชนและประเทศชาติ รัฐบาลได้มาถูกทางแล้ว และถ้าบอกว่าไม่ดีก็ไม่เป็นธรรมกับรัฐบาล

จากนั้น นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงตอนหนึ่งว่า เราจำเป็นต้องทำ ไม่เช่นนั้นแล้ว 1.5 แสนล้านบาท ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ประชาชนคนไทยจะต้องรับภาระตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา หรือต้นปี 2565 ราคาน้ำมันอาจจะขึ้น 40-50 บาทต่อลิตรก็ได้ ถ้ากระทรวงการคลังไม่ช่วยมาสนับสนุน ราคาแอลพีจีอาจจะสูงถึง 525 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมก็ได้ แล้วประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไร ส่วนที่แบงค์รัฐไม่ปล่อยกู้นั้น เพราะมีข้อเสนอที่มีความยุ่งยาก และยังมีความจำเป็นต้องไปใช้ช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ น้ำมันยังเป็นสินค้าควบคุม จึงต้องไปถามกระทรวงพาณิชย์ด้วย

จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 239 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ