วุฒิสภา เล่นเกมยื้อประชามติ ชงตั้ง กมธ. อ้างเป็นเรื่องสำคัญ เสรี ชงแก้ปมวาระนายกฯ ไม่จำกัดให้อยู่แค่ 8 ปี ชี้ช่วงไม่มีการเลือกตั้งบ้านเมืองเจริญกว่าเยอะ
วันที่ 21 พ.ย.2565 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ (ตามข้อบังคับ ข้อ 39/2) หรือเป็นการถามประชามติประชาชนว่าให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
ทั้งนี้ ส.ว.ได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขส่วนที่ไม่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมในปัจจุบัน
เวลา 10.50 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ถ้าเลือกได้ อยากให้เป็นการแก้รายมาตราเหมือนที่สมาชิกอภิปราย เพราะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถ้าจะมีต้องใช้เวลาอีกยาว ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแล้ว และไม่เห็นว่ามีเหตุผลอะไรที่จะคัดค้านข้อเสนอนี้ จึงเห็นด้วยกับญัตตินี้
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า เหตุผลในญัตติดังกล่าว มีการระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นต้นตอความขัดแย้ง ทั้งที่ความเป็นจริงความขัดแย้งในบ้านเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาของนักการเมืองแล้วไปโทษรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วผ่านการทำประชามติ
นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าสร้างความถดถอยทางประชาธิปไตย ขยายอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเข้าใจว่าหมายถึงส.ว. ซึ่งเป็นความไม่เข้าใจว่าระบบทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกสถาบัน ทุกองค์กร ไม่ใช่ว่ามาจากการเลือกตั้ง แล้วอยากจะพูดอะไรทำอะไรเป็นผู้วิเศษ บางครั้งช่วงไม่มีการเลือกตั้ง บ้านเมืองเจริญกว่าช่วงที่มีการเลือกตั้งก็เยอะ
“ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหตุผลที่ท่านเสนอเท่าไหร่ แต่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ควรมีการแก้ไข ซึ่งมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องทำใหม่ เช่น ประเด็นการบัญญัติว่านายกรัฐมนตรี ต้องมีวาระ 8 ปี ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตความเป็นผู้นำประเทศ ตนไม่ได้พูดถึงตัวนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ หากบ้านเมืองไปเจอคนดีมีความรู้ความสามารถสร้างความเจริญให้ประเทศได้ เขาจะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา 8 ปี ถ้ามีคนดี 8 ปีก็ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผมยังกังวลในเนื้อหาบางส่วน ซึ่งญัตติที่เสนอมาเราต้องให้วุฒิสภายืนอยู่บนความชอบธรรมในหลักการ” นายเสรี กล่าว
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเสนอญัตติให้ที่ประชุมตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.)สามัญ ประกอบด้วยผู้แทนจาก กมธ.26 คณะ ทำหน้าที่ศึกษาเรื่องนี้ก่อนลงมติ อาศัยข้อบังคับการประชุมข้อที่ 77 เพื่อให้วุฒิสภามีข้อมูลเพียงพอ เพราะนี่คือวุฒิภาวะของวุฒิสภา เพื่อศึกษารายละเอียดแล้วนำข้อมูลมาพิจารณาว่าจะโหวตเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติ
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.อภิปรายสนับสนุน เห็นด้วยให้ตั้งกมธ.สามัญขึ้นมาศึกษาก่อน การจะใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมงโหวตไปก่อนคงไม่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำตามระเบียบ และกติกา ว่าน่าจะปรึกษาหารือกันก่อนกับครม.ที่มีอำนาจตัดสิน ว่าจะให้ทำประชามติหรือแก้รัฐธรรมนูญ หรือไม่อย่างไร ซึ่งเราควรทำให้ครบ ไม่ให้เป็นที่ข้อครหาว่านักการเมือง จะเอาข้อได้เปรียบเหล่านี้ไปขยำปนเป ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีเร็วๆนี้ ตนคิดว่า การตั้งกมธ. ในวันนี้ เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ทั้งนี้ หลังจากอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.สามัญขึ้นมาพิจารณาส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ (ตามข้อบังคับ ข้อ 39/2) หรือเป็นการถามประชามติประชาชนว่า ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ด้วยคะแนน 151 ต่อ 26 งดออกเสียง 15 เสียง พิจารณาภายในเวลา 30 วัน