ส.ฟุตบอลไทย เริ่มสร้างที่ทำการแห่งใหม่ ใช้เวลา 341 วัน

Home » ส.ฟุตบอลไทย เริ่มสร้างที่ทำการแห่งใหม่ ใช้เวลา 341 วัน


ส.ฟุตบอลไทย เริ่มสร้างที่ทำการแห่งใหม่ ใช้เวลา 341 วัน

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคาร FA Thailand Futsal and Match Operation Center ภายในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ประตู 5 โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 341 วัน เริ่มสัญญาจ้าง วันที่ 4 มกราคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 15 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางรากฐานที่จะต้องมีไว้ซึ่งสาธารณูปโภค ที่จำเป็นต่อการพัฒนากีฬาฟุตบอล ฟุตซอล ฟุตบอลชายหาด อย่างยั่งยืน และถาวร ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป จึงดำเนินการขอเช่าที่ดินภายใน กกท. และได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ด้านข้างสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย บริเวณประตู 5 โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการเขียนโครงการนำเสนอสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) จนได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการของฟีฟ่า (FIFA Development Committee) ก่อนได้รับการอนุมัติโครงการและงบประมาณเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา

FA Thailand Futsal and Match Operation Center
ตามนโยบายของฟีฟ่าที่ต้องการให้สมาคมประเทศสมาชิก ได้มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อการบริหารจัดการฟุตบอลให้ดำเนินงานอย่างยั่งยืน จึงมีการตั้งงบประมาณสนับสนุนเฉพาะนำไปพัฒนาด้านสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ภายใต้ชื่อ “FIFA Forward 2.0 : Infrastructure Project ”

เดิม สมาคมฟุตบอลประเทศไทยฯ พยายามที่จะผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติเป็นอันดับแรก แต่ข้อจำกัดในการสรรหาที่ดินขนาดใหญ่ จึงอยู่ในระหว่างรออนุมัติการใช้ที่ดินจากหน่วยงานภาครัฐ จึงจะเตรียมดำเนินการต่อไป

ภายใต้การดำเนินงานของ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และสภากรรมการ มีนโยบายและเล็งเห็นความสำคัญยิ่งที่จะวางรากฐาน เพื่อให้สมาคม ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตามจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ใช้งาน และเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารต่อไปในภายภาคหน้า จึงเห็นว่าระหว่างที่รอที่ดินในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาตินั้น สมาคมฯ ยังสามารถขยับสร้างโครงการสิ่งปลูกสร้างย่อยอื่น ๆ แบบ “QUICK WIN” เป็นประโยชน์ จับต้องได้ ภายในระยะเวลาสั้น ทันต่อช่วงเวลาที่ฟีฟ่าจะสามารถสนับสนุนได้

จึงมีการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ จากฝ่ายการทำงาน เพื่อทางออกที่จะตอบโจทย์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟุตบอลได้ ในพื้นที่ขนาดจำกัดภายในบริเวณการกีฬาแห่งประเทศไทย และใกล้กับสนามราชมังคลากีฬาสถาน จนออกมาเป็นการผสมผสานของการใช้เป็น ศูนย์ฝึกอบรม (ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน บุคลากร) ศูนย์ปฏิบัติการจัดการแข่งขัน ห้อง VAR ห้องสัมมนาและจัดการประชุม สนามซ้อมฟุตซอลขนาดมาตรฐานในร่ม ห้องจัดเก็บอุปกรณ์ ห้องพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงพื้นที่สำนักงานที่ร่วมกันระหว่างสมาคม และไทยลีก ในชื่อ FA Thailand Futsal and Match Operation Center

แนวคิด Small but Functional
ภายในอาคารที่ได้รับการอนุมัติโครงการจากฟีฟ่า จะเป็นอาคาร 3 ชั้นในพื้นที่ไม่มากนัก แต่สมาคมได้พยายาม ใช้พื้นที่เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาคารอเนกประสงค์รองรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำของสมาคมได้

Futsal Pitch + Multipurpose Hall
โจทย์แรกคือการแก้ปัญหาสนามซ้อมทีมชาติฟุตซอล ที่ในปัจจุบันต้องเช่าห้องโถงเปล่าเพื่อทำการเก็บตัวฝึกซ้อมเมื่อใกล้การแข่งขัน บางครั้งพื้นที่ฝึกซ้อมก็ไม่ได้เป็นขนาดสนามที่ได้มาตรฐานบวกกับระยะเวลาที่อาจจะตรงกับกิจกรรมอื่นของเจ้าของพื้นที่ ทางสมาคมฯ จึงได้ปรึกษากับฝ่ายพัฒนาฟุตซอล เล็งเห็นว่าฟุตซอลทีมชาติไทยต้องมีสนามฝึกซ้อมที่อยู่ในพื้นที่กลางเมือง มีห้องแต่งตัว มีสนามขนาดมาตรฐาน และการอยู่ใกล้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและฟิตเนสของ กกท. ยิ่งเป็นการทำงานที่สอดคล้องและสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม

จึงเป็นที่มาของการใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารเพื่อกีฬาฟุตซอล ในขณะเดียวกันสามารถลดค่าใช้จ่ายสมาคม ในการหาห้องประชุม ห้องสัมมนา จัดงานมอบรางวัล ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ทุกๆ ครั้งที่มีกิจกรรม เพราะสามารถสลับสับเปลี่ยนสนามฟุตซอล เป็นห้องโถงเอนกประสงค์ กั้นห้องขนาดย่อยต่างๆ ได้อีกด้วย

ห้องปฏิบัติการจัดการแข่งขัน
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ติดกับสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันหลักของทัวร์นาเมนต์ทีมชาติไทยในรุ่นอายุต่างๆ จากในอดีตการลำเลียง จัดเก็บอุปกรณ์ และการเข้าเตรียมงานจะประสบปัญหาการเดินทางระหว่างฝ่ายจัดการแข่งขันไปยังสนามแข่งขัน ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลงไปได้ อาคารใหม่จะสามารถสนับสนุนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า เอเอฟซี หรือฝ่ายจัดการแข่งขัน สามารถใช้ในการเตรียมงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงห้อง Match Center และห้อง VAR ของไทยลีก ที่จะขยายให้รองรับหากว่ามีการนำ VAR มาใช้ในจำนวนมากขึ้น

ห้องสัมมนา ห้องประชุม
เช่นเดียวกันกับการจัดกิจกรรมฝึกอบรมต่างๆ เช่น ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน บุคลากรสโมสรฟุตบอล ฯลฯ ก็จะมีห้องสัมมนาที่มีอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอที่ครบครัน ใกล้กับสนามแข่งขัน และสนามซ้อมในบริเวณการกีฬาแห่งประเทศไทย ตอบโจทย์การฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ง่ายต่อการกำกับดูแลมาตรฐาน รวมถึงการประชุมทีมชาติ ประชุมสโมสรสมาชิก การประชุมสภากรรมการ การประชุมใหญ่สามัญ งานแถลงข่าว หรืองานมอบรางวัล FA Awards ของสมาคมก็จะสามารถดำเนินการได้ภายในอาคารนี้ได้

ส่วนสำนักงาน พิพิธภัณฑ์ และส่วนบริการ
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ สำนักงานสมาคมที่มีพื้นที่ในการรองรับบริการสโมสรสมาชิก ที่เข้ามาติดต่อ ประสานงาน เป็นสัดส่วนชัดเจน ห้องทำงานที่รองรับจำนวนเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และส่วนของ Co-working area สร้างบรรยากาศในการทำงานแบบ Shared space ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลร่วมสมัยขนาดย่อมที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้อีกด้วย

อนึ่ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ มีโครงการ FIFA Forward 2.0 Infrastructure Project เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ชาติสมาชิกนำเสนอโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคด้านฟุตบอล โดยฟีฟ่าจะพิจารณาให้ประเทศสมาชิกละไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 60 ล้านบาท ในวงรอบ 4 ปี โดยมีเงื่อนไขจะต้องปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งเป็นของสมาคมฟุตบอลฯ ประเทศสมาชิก หรือมีสัญญาเช่าในระยะยาวเท่านั้น

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ