ศาลปกครองกลาง เพิกถอนมติยกเลิกประมูลสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ของ กก.คัดเลือกฯ-ประกาศยกเลิกของ รฟม. ชี้เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอน มติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว
และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.มีประกาศดังกล่าว ตามที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และรฟม. กรณีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นเหตุให้บีทีเอส ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ศาลปกครอง ให้เหตุผลว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 3 ก.พ.2564 ว่า การมีมติยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว เพื่อช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
แต่ปรากฏเพียงความเห็นของ รฟม. ในเรื่องนี้ว่า เอกชนผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา และ บีทีเอส ไม่มีความเสียหายใดๆ จากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว เนื่องจากเหตุแห่งคดีพิพาทสิ้นสุด และจะคืนซองข้อเสนอ หลักประกันซอง และเงินค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอ เงินค่าซื้อเอกสาร คืนเอกชนทุกรายเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับการความชอบด้วยกฎหมายของการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ดังนั้น การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ประกาศยกเลิกการประมูลโดยไม่เปิดให้ บีทีเอส หรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อมาช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ หรือ รอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาก่อน
จึงฟังไม่ได้ว่า มติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม. ในวันที่ 3 ก.พ.2564 มีเหตุผลและความจำเป็น ตามพ.ร.บ.การร่วมทุนฯ ถือเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม.ดังกล่าว