ส่อง “ชีวิตในเกาหลีเหนือ” กับอิสระที่ถูกเผด็จการพรากไป พร้อมเผยแผนการหนีออกจากประเทศ

Home » ส่อง “ชีวิตในเกาหลีเหนือ” กับอิสระที่ถูกเผด็จการพรากไป พร้อมเผยแผนการหนีออกจากประเทศ
ส่อง “ชีวิตในเกาหลีเหนือ” กับอิสระที่ถูกเผด็จการพรากไป พร้อมเผยแผนการหนีออกจากประเทศ

เคยสงสัยไหมว่า ชาวเกาหลีเหนือมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร?

เกาหลีเหนือ’ เป็นประเทศที่รู้จักกันในนาม ‘เผด็จการของโลก’ ด้วยความที่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปิดจากโลกภายนอก ทำให้คนทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่อาจทราบได้ว่าภายในเกาหลีเหนือ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีผู้หลี้ภัยจากเกาหลีเหนือหลายคน เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือให้ทั่วโลกรับรู้ อีกทั้งยังมีการเปิดเผยแผนการหนีจากประเทศเกาหลีเหนืออีกด้วย

วันนี้ Sanook จึงไม่พลาด รวบรวมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกาหลีเหนือมาฝากทุกคนกัน พร้อมทั้งเผยประสบการณ์การหลบหนีจากประเทศจากปากผู้แปรพักตร์เกาหลีเหนือ

ปฎิทินที่ไม่เหมือนใคร

สำหรับประเทศเกาหลีเหนือเอง ได้มีการกำหนดปีในปฏิทินขึ้นมาเอง โดยเรียกว่า “ปฏิทินจูเช (Juche Calendar)”  

วันแรกของปฏิทินนี้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 วันเกิดของคิมอิลซอง ผู้นำเกาหลีเหนือคนแรก ซึ่งวันดังกล่าวถูกระบุให้เป็นวันที่ 1 ปีจูเช 1 หากนับมาปัจจุบัน (ค.ศ.2024) ประเทศเกาหลีเหนือจะอยู่ในปีจูเชที่ 113 

ที่มาของชื่อ ‘จูเช’ มาจากศัพท์เฉพาทางการเมืองของเกาหลีเหนือ ซึ่งหมายถึงอุดมการณ์แบบพึ่งพาตัวเอง ของคิมอิลซอง ซึ่งนิยมใช้อุดมการณ์นี้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับการเขียนวันเดือนปีของเกาหลีเหนือจะเขียนได้ 2 รูปแบบ คือ 

  • เดือน วัน ปีจูเช (ปีค.ศ.) : กรกฎาคม 9, ปีจูเช 113 (2024)
  • เดือน วัน ปีจูเช : กรกฏาคม 9, ปีจูเช 113

หากปีที่ต้องการระบุนั้น อยู่ในช่วงก่อนปีจูเช (เช่น ใน ค.ศ.1910 – 1985) จะไม่ใช่คำว่า ก่อนจูเชxx แต่จะใช้ปีตามปฏิทินกริกอเรียน (Gregorian)

จริง ๆ แล้วการที่ในประเทศมีการใช้ปีเฉพาะอาจไม่ได้แปลกอะไรกับโลกปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการยกย่อง ‘ผู้นำ’ ของชาวเกาหลีเหนือ

การเลือกตั้งที่ไม่ได้ให้เสรีภาพ

เป็นเรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ในประเทศเกาหลีเหนือถึงแม้จะเป็นเผด็จการก็มีการเลือกตั้งนะ แต่จะเรียกว่าการเลือกตั้งซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง “มีเพียงแค่ผู้สมัครคนเดียวเท่านั้น” 

สำหรับวิธีการเลือกตั้งของเกาหลีเหนือ สำนักข่าวบีบีซี รายงานไว้ว่า เกาหลีเหนือจะมีการเลือกตั้งทุก ๆ 5 ปี และในกฎหมายบังคับว่า ประชาชนทุกคนที่มีอายุมากกว่า 17 จะต้องไปเข้าร่วมลงคะแนนเสียงการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งของเกาหลีเหนือจะรู้ผลอยู่แล้วว่าใครจะชนะก็ตาม

โดยประชาชนจะได้รับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่มีแค่ชื่อผู้สมัครเพียงคนเดียว ไม่มีช่องให้กาเครื่องหมายหรือให้ขีดเขียนอะไรลงไป ประชาชนเพียงแค่นำบัตรเลือกตั้งไปใส่กล่องลงคะแนนที่เปิดโล่งอยู่เท่านั้น

อย่างไรก็ตามในทางทฤษฎีประชาชนสามารถขีดฆ่าชื่อผู้สมัครออกได้ แต่คงไม่มีใครกล้าทำ เพราะตำรวจเกาหลีเหนือจะไปตามตัว นอกจากนี้ยังถูกประณามจากสังคมว่าเป็นคนวิปริต สติฟันเฟื่องอีกด้วย

เมื่อเลือกตั้งที่คูหาเสร็จ ประชาชนจะต้องไปยืนรวมกันหน้าหน่วยเลือกตั้ง เพื่อเฉลิมฉลองและแสดงออกว่ามีความสุขกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

ขัดขวางเสรีภาพในการเลือกทรงผม

เมื่อปี 2013 คิมจองอึน ได้ออกกฎให้ประชาชนตัดผมได้เพียงแค่ 28 ทรง ตามที่รัฐกำหนด (18 ทรงสำหรับผู้หญิง และ 10 ทรงสำหรับผู้ชาย) โดยประชาชนห้ามตัดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้

ขัดขวางเสรีภาพในการรับข้อมูล 

รัฐบาลเกาหลีเหนือได้มีการกีดกันไม่ให้ประชาชนรับข้อมูลและวัฒนธรรมจากสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ โดยได้มีการระบุกฎหมายไม่ให้ประชาชนเสพสื่อและวัฒนธรรมจากต่างประเทศ หากใครฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิต 

หากย้อนไปในปี 2022 จะเห็นประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยในปีนั้น ชายหนุ่มจากจังหวัดฮวางแฮใต้ถูกประหารชีวิตต่อหน้าผู้คน เพราะถูกทางการจับได้ว่าฟังเพลงจากฝั่งเกาหลีใต้ 70 เพลง, ชมภาพยนตร์เกาหลีใต้ 3 เรื่อง และจัดจำหน่ายผลงานเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายปี 2020 ที่ห้ามเสพหรือครอบครอง “วัตถุที่สื่อถึงอุดมการณ์และวัฒนธรรม”

  • เกาหลีเหนือประหารชีวิต “หนุ่มวัย 22 ปี” ในที่สาธารณะ ความผิดข้อหา “ฟังเพลง K-Pop”

ไม่เพียงแต่สื่อภาพยนต์หรือเพลง แต่การใช้คำหรือแสลงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเกาหลีใต้ก็ถือเป็นความผิดเช่นเดียวกัน โดยเมื่อ 2023 เกาหลีได้มีการระบุในพรบ.คุ้มครองภาษาวัฒนธรรมเปียงยาง ว่า ประชาชนห้ามสื่อสารด้วย ‘ภาษาหุ่นเชิ่ด (ภาษาเกาหลีใต้)’ หากใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุกอย่างน้อย 6 ปี และในกรณีที่รุนแรงอาจถึงขั้นประหารชีวิต 

โดยทางการเกาหลีเหนือจะมีการสอดส่องโทรศัพท์ของประชาชน ว่ามีการใช้แสลง สำนวนภาษาหรือคำที่มีอิทธิพลจากเกาหลีใต้หรือไม่ หากพบประชาชนคนนั้นก็จะถูกลงโทษ 

ถูกสาปสามชั่วโคตร (Thrice-cursed)

ถูกสาปสามชั่วโคตร” หรือ “Thrice-cursed” เป็นศัพท์ที่มักใช้บ่อยในสื่อทางการของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการลงโทษที่ขยายจากตัวผู้กระทำผิดไปยังญาติถึงสามชั่วคน อธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น คือ หากนาย A กระทำความผิด มีโทษประหารชีวิต ครอบครัวนาย A ต้องได้รับโทษประหารชีวิตด้วยเช่นกัน 

ซึ่งความผิดส่วนใหญ่สำหรับการลงโทษลักษณะนี้มักเป็นสิ่งที่เกาหลีเหนือระบุว่าเป็นความผิดมหันต์ เช่น การหนีออกจากประเทศ การลักลอบนำสื่อจากต่างประเทศเข้ามา เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามการประหารชีวิตลักษณะนี้ ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือ แต่ในประเทศไทยเองในสมัยก่อนก็มีการประหารเช่นนี้ โดยจะเรียกว่า “การประหาร 7 ชั่วโครต” สำหรับผู้ที่ก่อกบฎ ในปัจจุบันประเทศไทยได้ยกเลิกแล้ว แต่เกาหลีเหนือยังมีการบังคับใช้อยู่ 

การหลบหนีของผู้แปรพักตร์

ผู้แปรพักตร์” เป็นคำที่เกาหลีเหนือไว้ใช้เรียกประชาชนที่กระทำผิดมหันต์ และมีความคิดขัดต่ออุดมการณ์รัฐ เช่น ผู้ที่นำสื่อต่างประเทศเข้ามา และผู้ที่หลบหนีออกนอกประเทศ เป็นต้น 

ซึ่งหากเรามองไปที่กฎข้อบังคับที่กล่าวไปข้างต้น จะไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ถึงมีหลายคนในเกาหลีเหนือ ยอมถูกเรียกว่าผู้แปรพักตร์ และเสี่ยงอันตราย เพื่อหลบหนีออกจากประเทศเกาหลีเหนือ

ส่วนใหญ่เส้นทางที่ชาวเกาหลีเหนือมักใช้เป็นเส้นทางในการหลบหนี คือ การข้ามฝั่งไปประเทศจีน และต่อด้วยการหลบหนีไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สำหรับบริเวณชายแดนของจีนและเกาหลีเหนือ มีการตั้งด่าน เพื่อป้องกันการหลบหนี โดยหากทหารเกาหลีเหนือพบว่ามีคนมาที่บริเวณนี้จะยิงทิ้งทันที 

นอกจากนี้ประเทศจีนและเกาหลีเหนือมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงมีกฎว่าหากพบชาวเกาหลีเหนือเข้ามาในจีน จะทำการส่งกลับให้เกาหลีเหนือลงโทษทันที 

ถึงแม้ว่าการข้ามฝั่งไปประเทศจีนนั้นจะ “ยาก” และ “เสี่ยงอันตราย” เพียงใด แต่ชาวเกาหลีเหนือก็เลือกที่จะยอมเสี่ยงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น 

โดย ฮยอนซอ ผู้อพยพจากเกาหลีเหนือ ได้เล่าถึงประสบการณ์การหนีออกจากเกาหลีเหนือมาประเทศจีน ในเวที TedTalk ว่า 

เธอได้หนีออกจากประเทศไปคนเดียว ในตอนที่เธอยังเด็กมาก ๆ โดยในตอนแรกเธอเล่าว่าไม่เคยคิดที่จะหนีออกจากประเทศ เพราะที่โรงเรียนสอนให้เธอรู้เพียง ประวัติคิมอิลซอง ไม่มีการกล่าวถึงโลกภายนอก ถึงมีก็รู้แค่ว่าอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นศัตรู

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธออยากหนีออกมา ก็ตอนที่เธอเริ่มรู้ความจริงว่าประเทศสร้างความทุกข์ทรมานด้วยข้อจำกัดทางอิสระเสรีภาพ จึงตัดสินใจหนีออกประเทศผ่านเส้นทาง “แม่น้ำอัมร็อก (Amrok River)” ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นระหว่างชายแดนเกาหลีเหนือและจีน 

เธอหนีไปคนเดียวได้สำเร็จ แต่ในระหว่างที่อยู่ที่จีนเธอต้องอยู่อย่างระหวาดระแวง ว่าจะมีใครจับได้ว่าเธอเป็นชาวเกาหลีเหนือ

และต่อมาอีก 14 ปี เธอตัดสินใจกลับไปช่วยครอบครัว โดยพาครอบครัวหลบหนีผ่านชายแดนของจีน โดยต้องนั่งรถเป็นระยะทาง 2,000 ไมล์ (ประมาณ  6,437 กิโลเมตร)

พวกเขาใช้เวลากว่า 1 อาทิตย์ กว่าจะเดินทางออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งระหว่างทางเธอต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ถูกจับได้

ขณะการหลบหนีได้มีตำรวจจีนมาขอค้นรถ ตอนนั้นเธอกลัวมาก เพราะครอบครัวไม่มีใครพูดภาษาจีนได้นอกจากเธอ กลัวว่าตำรวจจะรู้และส่งกลับไปยังเกาหลีเหนือ เธอจึงอ้างว่าครอบครัวหูหนวก จึงไม่สามารถพูดหรือเข้าใจสิ่งที่ตำรวจพูดได้ โชคดีที่ตำรวจเชื่อคำพูดและปล่อยเธอไป

แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลกเมื่อพวกเขาข้ามมายังฝั่งลาว ครอบครัวของเธอถูกจับในข้อหาคดี “หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ในตอนนั้นเธอไม่มีเงินที่จะจ่ายสินบนเจ้าหน้าที่ ไม่รู้จะช่วยเหลือครอบครัวอย่างไร

จนมีชายคนหนึ่งใจดียื่นมือเข้าช่วยเหลือเธอ มอบเงินจำนวนหนึ่งให้เธอ พร้อมบอกว่า “อยากช่วยชาวเกาหลีเหนือ” นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นหนึ่งในคนที่จะได้ช่วยเหลือชาวเกาหลีเหนือที่ยังติดอยู่ในประเทศ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ