กรุงเทพมหานคร เตรียมการเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ กกต. ส่งหนังสือ 4 ฉบับแจ้ง ‘ผอ.เขต’ ทั้ง 50 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร รายงานข่าวแจ้งว่า นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กกต.) ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต (กทม) 0002/ว11 ลงวันที่ 3 ธ.ค.64 เรื่อง แนวทางการพิจารณาแต่งตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง โดยเนื้อหาระบุว่า
สำนักงาน กกต. ประจำกรุงเทพมหานคร ขอซักซ้อมความเข้าใจในเบื้องต้นให้ต้องตรงกัน เกี่ยวกับ แนวทางการพิจารณาแต่งตั้งบุคคล เป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ดังนี้ คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ให้แต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นกรรมการประจำหน่วย ดังนี้
กรณีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นพร้อมกัน ให้มีคณะกรรมการประจำหน่วย 9 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอีก 8 คน กรณีเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นให้มี คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 7 คน มีประธานกรรมการ 1 คนและกรรมการ 7 คน ทั้งนี้ เฉพาะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ให้พิจารณาแต่งตั้งจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่ผ่านการอบรบตามหลักสูตรที่กกต.กำหนด นอกจากนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำที่เลือกตั้ง อย่างน้อย 2 คน ให้แต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. กกต. ได้ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต (กทม) 0002/ว12 เรื่อง แนวทางการกำหนดที่เลือกตั้ง และหน่วยเลือกตั้ง โดยระบุว่า ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เห็นว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยเลือกตั้งละ 600 คน เป็นจำนวนที่เหมาะสมเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการกำหนดที่เลือกตั้งแล้วหน่วยเลือกตั้งยังมีปัจจัยสำคัญรวมทั้งข้อจำกัดอื่นๆที่จะต้องหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กันไป ดังนี้
หากเขตหมู่บ้านเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีความหนาแน่นอาจกำหนดให้ใช้แนวถนน ตรอก ซอย หรือแยก คลองหรือแม่น้ำ เป็นแนวของหน่วยเลือกตั้งได้ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในการไปลงคะแนนเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้สถานที่เลือกตั้งจะต้องเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าออกได้สะดวก ในกรณีมีข้อจำกัดทางด้านอาคาร สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นที่เลือกตั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้ที่เลือกตั้งของหลายหน่วยเลือกตั้งอยู่ในสถานที่แห่งเดียวกัน
และในวันเดียวกัน กกต. ได้ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต (กทม) 0002/ว13 เรื่อง แผนผังการเลือกตั้งและขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่น โดยระบุว่า แนวทางการจัดสถานที่เลือกตั้งและขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะต้องจัดให้มีกระบวนการคัดกรองอย่างเข้มงวด รวมทั้งการจัดให้มีช่องทางลงคะแนนเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ได้ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต (กทม) 0002/ว14 เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ระบุว่า ปัจจุบันการเลือกตั้งครั้งแรกของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 บทเฉพาะกาลมาตรา 142 คงเหลือเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับเมืองพัทยาเท่านั้น ซึ่งคาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองแห่งพร้อมกัน
ดังนั้น กกต. จึงประสานมาเป็นการด่วนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนในระยะเริ่มต้น ตลอดจนกรอบระยะเวลาของการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 โดยสังเขปดังนี้ เมื่อครม. เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ เมื่อทราบแล้วจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน
เมื่อประกาศแล้ว ให้ประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และ คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติทุกฉบับที่เกี่ยวกับการงดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สิ้นผลบังคับ
ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จนถึงเวลา 18:00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานคร รองประธานสภาสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
หากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ใดประสงค์จะลงสมัคร ผู้นำต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งหากไม่ได้ลาออกภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร