"สุลต่านอิบราฮิม" ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มาเลเซียพระองค์ใหม่

Home » "สุลต่านอิบราฮิม" ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มาเลเซียพระองค์ใหม่
"สุลต่านอิบราฮิม" ผู้ปกครองรัฐยะโฮร์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มาเลเซียพระองค์ใหม่

สุลต่านอิบราฮิม อิสกันดาร์ ที่รู้จักในฐานะผู้เป็นเจ้าของคอลเลคชันรถหรู ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์มาเลเซียพระองค์ใหม่ ในพิธีราชาภิเษกเมื่อวันพุธ ท่ามกลางความคาดหมายว่า ประมุขแห่งรัฐพระองค์นี้จะมีบทบาทสำคัญต่อเสถียรภาพการเมืองมาเลเซีย

สุลต่านอิบราฮิม จากรัฐยะโฮร์ เข้าพิธีราชาภิเษกตามราชประเพณีเมื่อวันพุธ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม และตระกูลสุลต่านทั้งหลายเข้าร่วมในพิธีที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

บลูมเบิร์ก ประเมินว่า สุลต่านอิบราฮิม อิสกันดาร์ และครอบครัวจากรัฐยะโฮร์ มีมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อย 5,700 ล้านดอลลาร์ ที่รวมทั้งที่ดินในสิงคโปร์ และการลงทุนในธุรกิจน้ำมันปาล์ม อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคมในหลายบริษัท

นอกจากนี้ สุลต่านอิบราฮิมที่คลั่งไคล้การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ยังเป็นที่รู้จักจากการสะสมรถหรู รถจักรยานยนต์ และเครื่องบินส่วนตัว เป็นนายทหารกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่เคยศึกษาเล่าเรียนในสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงในการขับฮาร์เลย์ไปทั่วรัฐยะโฮร์ เพื่อแจกจ่ายเงินให้กับคนรายได้น้อยเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

Instagram / @officialsultanibrahim

บทบาทใหม่ของสุลต่านอิบราฮิม ส่วนมากแล้วจะเป็นเพียงผู้นำในทางสัญลักษณ์และมีพระราชอำนาจเพียงจำกัด แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้บทบาทของพระราชาธิบดีมาเลเซียเริ่มชัดเจนในภูมิทัศน์การเมืองที่แตกแยกของมาเลเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลังจากภาวะไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองหลังการพ่ายแพ้ของพรรค UMNO เมื่อปี 2018 ทำให้สถาบันกษัตริย์มาเลเซียมีอิทธิพลมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสในการใช้พระราชอำนาจต่าง ๆ เช่น อำนาจในการเลือกนายกฯ การพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษ รวมทั้งยังรับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพมาเลเซียอีกด้วย

สุลต่านอิบราฮิม เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเดอะสเตรตส์ไทมส์ ของสิงคโปร์ เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อนว่า ตนไม่ได้แสวงหาการเป็น “กษัตริย์หุ่นเชิด” โดยบอกว่า “มีพวกคุณ(ส.ส.) 222 เสียงในสภา มี(ประชาชน)กว่า 30 ล้านคนอยู่นอกสภา ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ข้างพวกคุณ แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างพวกเขา” และว่า “ข้าพเจ้าจะสนับสนุนรัฐบาล แต่หากข้าพเจ้าคิดว่าพวกเขาทำบางสิ่งที่ไม่เหมาะสม ข้าพเจ้าก็จะบอกเอง”

ทั้งนี้ มาเลเซียมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขที่มีเอกลักษณ์ โดยจะให้ตัวแทนจากตระกูลสุลต่าน 9 ตระกูลผลัดกันขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐ และจะดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ