จากกรณีคลัสเตอร์ซุ้มยาดองขายเหล้าเถื่อนผสมเมทานอล ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสีทินเนอร์ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด ส่งผลให้คนที่กินเข้าไปเกิดอาการเป็นพิษ ต้องนำส่งโรงพยาบาล ล่าสุด วันที่ 28 ส.ค. 2567 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 37 ราย รักษาหายแล้ว 9 ราย เสียชีวิตสะสม 6 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิต 2 รายล่าสุดนั้น มี 1 ราย ที่เสียชีวิตที่บ้าน
- ‘ยาดองมรณะ’ คร่าชีวิตเพิ่ม รวม 6 ราย พบผู้ป่วยสะสม 37 ราย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย มองว่า ปัญหาสุราเถื่อนหรือเหล้าเถื่อนแก้ไม่ได้ เพราะมีการรับส่วยซึ่งมีมานาน 30-40 ปีแล้ว และการตั้งซุ้มยาดอง ผิดกฎหมายอยู่แล้ว มีการดัดแปลงน้ำสุราและเหล้าขาวที่ผสมกับยาดองตามซุ้มยาดองทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็ใช้เหล้าเถื่อน ผิดกฎหมายไปเต็มๆ เมื่อมีข่าวออกมาก็จะปิดซุ้มยาดองไประยะหนึ่ง แล้วกลับมาเปิดอีก
“ซุ้มยาดองทั่วประเทศที่เปิดๆ กัน เกือบ 99% ใช้เหล้าเถื่อน มีการแย่งพื้นที่ในการขายระหว่างพ่อค้าคนกลาง ด้วยการตัดราคาเพื่อดึงลูกค้า มีทั้งเหล้าเถื่อนและซุ้มยาดองเถื่อน ไม่มีใครเอาเหล้าถูกกฎหมายมาขาย เพราะต้นทุนสูง ก็ต้องหาเหล้าขาวที่ต้นทุนต่ำๆ อย่างที่เหล้าถูกกฎหมายจากโรงงาน ขนาดแกลลอน 5 ลิตร ราคา 300 บาท หรือตกลิตรละ 60 บาท ก็ต้องแอบเอาเหล้าไม่มีแสตมป์มาขายในราคาถูก แค่ต้นทุนอากรแสตมป์ อยู่ที่ 50-60 บาท ถ้าเหล้าเถื่อนก็จะขายถูกกว่า” นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย กล่าว
กรณีเหล้าเถื่อนซุ้มยาดองใช้เมทิลแอลกอฮอล์ 95% นำมาผสมกับน้ำให้เจือจางเพื่อให้ได้ปริมาณ 3 เท่า อาจเป็นเพราะไม่มีความรู้ และทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อมีการขายถูกกว่าเจ้าอื่นก็จะมีการขายเป็นทอดๆตามซุ้มยาดอง และซุ้มยาดองทั่วประเทศผิดกฎหมายทั้งนั้น เพราะดัดแปลงน้ำสุรา ซึ่งเรื่องนี้สรรพสามิตเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ แต่ปล่อยปละละเลยให้มีการเปิดขาย ส่วนตำรวจได้ผลพลอยได้
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเอาเมทิลแอลกอฮอล์มาผสม ส่งผลกระทบต่อสุราชุมชนในแง่ภาพลักษณ์ ทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าสุราชุมชนเป็นเหล้าเถื่อน มีอันตราย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ก็อยากให้คนเข้าใจ อยากให้สุราชุมชนสามารถโฆษณาได้ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่รับรู้แค่วงจำกัดในกลุ่มที่ชื่นชอบสุราชุมชนเท่านั้น”.