‘สุรนันทน์’ ชี้ต้องนำอารมณ์ร่วมประชาชน มาร่วมวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง มองคะแนนเสียงในกทม.อาจเทไปฝั่งพรรคปชต.
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.66 ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดเวทีวิชาการ “วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง” ซึ่งนับเป็นเวทีที่ 2 ในแคมเปญ “มติชน เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศไทย”
โดยจัดเสวนาในหัวข้อ ภูมิทัศน์การเมืองจากเลือกตั้ง 2562 ถึงเลือกตั้ง 2566 โดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
การพูดคุยในวงเสวนาได้พูดคุยถึงประเด็นการนำข้อมูลตัวเลขมาพูดคุยและวิเคราะห์ว่า สุดท้ายแล้วมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากรวมกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า คิดว่าการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เป็นสิ่งที่ดีมาก ฐานข้อมูลเป็นของปี 2562 อาจจะต้องย้อนกลับไปปี 2544-2548 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเขตเยอะ ประชากรเปลี่ยน อารมณ์ร่วมของประชาชนเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 2562-2566 อย่างที่เราทราบว่าจะใช้คะแนนปี 2562 เป็นหลัก และมาวางว่า ถ้าแบ่งเขตตามปี 2566 แล้วจะเป็นอย่างไร
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกพรรครวมไทยสร้างชาติแย่งฐานคะแนน และอารมณ์ร่วมประชาชนเป็นปัจจัยที่เป็นประโยชน์ ต้องมาวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า คะแนนระดับตำบลหรือระดับหมู่บ้านจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ในแง่ความรู้สึกของประชาชนอย่างปี 2562 ในกทม. กระแสพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแรงมาก ฝั่งอนุรักษ์นิยมในกทม. เลือกพล.อ.ประยุทธ์ กระแสของพปชร. ก็มา แต่ปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ตัวแม่เหล็กเหมือนเดิม พล.อ.ประวิตรก็ยังไม่ใช่แม่เหล็ก การรวมพรรค รทสช. และพปชร. อาจจะกินกันเองในกทม.ด้วยซ้ำ ทำให้ทั้ง 2 พรรคไม่เข้าวิน
เราเชื่อว่ากทม. อาจจะออกไปทางฝ่ายประชาธิปไตย-เสรีนิยม อย่างเพื่อไทย (พท.) หรือก้าวไกล (ก.ก.) มากกว่า โดยพื้นฐานของชุมชนต่างๆ มีอะไรที่ต้องวิเคราะห์เยอะ เพราะฉะนั้นสถิติปี 2566 คิดว่าเราคงต้องมาคุยกันเรื่องโพล โดยเอาสถิติของโพลต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะโพลที่ทำโดยพรรคการเมือง ไม่ใช่ว่าสำนักโพลไม่ดี จะเห็นได้ว่าลิสต์คำถามแต่ละสำนักที่ออกมาสู่สาธารณะ อาจจะไม่ออกทั้งฉบับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เห็น collation การมา cross tabulation ระหว่างคำถาม เราจะเห็นแค่ว่า รายชื่อใครที่โดนที่สุด ถ้าถามระหว่างชื่อพล.อ.ประยุทธ์ คุณหญิงสุดารัตน์ คุณแพทองธาร หรือคุณพิธา มันจะโดดเด่นกว่าชื่อคนอื่นอยู่แล้ว
ตนไม่แน่ใจว่าโพลแต่ละโพลที่ออกมา ถามแค่นั้นหรือไม่ แต่ถ้าถามลึกๆ อย่างที่โพลหลายพรรคการเมืองทำ ความรู้สึกที่เปลี่ยนไป จะเปลี่ยนไปจากปี 2562 เยอะ ทั้งนี้ ไม่มีใครรู้ หลังจากยุบสภาแล้ว อีก 30 วันข้างหน้า นักการเมืองยังสามารถย้ายพรรคได้อีก หลังจากนั้นเราก็มาวิเคราะห์กัน เบื้องต้นมาคุยกันเรื่องอารมณ์ร่วมของประชาชน จะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งสุโขทัย ภาคเหนือตอนล่างหรือตอนบน ที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปอยู่พปชร. จะกระทบพรรค พท. แค่ไหน