สำนักข่าว เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส จากสหรัฐ รายงานโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของพนักงาน ข่าวจากสื่อของทางการจีน และเอกสารขององค์กร พบว่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีน เริ่มบังคับพนักงานให้บริษัทยืมเงิน ผ่านการซื้ออสังหาริมทรัพย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของบริษัท ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา
อันฮุย ออนไลน์ บรอดแคสติง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสื่อจากจีน ระบุอีกว่า เอเวอร์แกรนด์มอบเงื่อนไขให้พนักงานว่า ถ้าไม่ทำ ก็จะถูกตัดเงินเดือนและโบนัส ทำให้พนักงานบางคนถึงกับต้องกู้ยืมจากคนในครอบครัวและเพื่อนสนิทมาอีกที เพื่อให้ได้จำนวนเงินตามที่บริษัทกำหนดไว้ แต่ไม่ได้ระบุว่าบริษัทได้เงินไปเท่าใดจากคำสั่งนี้
อย่างไรก็ตาม เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เผยว่า การรายงานดังกล่าวของอันฮุยถูกลบออกจากอินเทอร์เน็ตเมื่อวันศุกร์ (17 ส.ค.)
ย้อนปม “เอเวอร์แกรนด์” กระอักหนี้
ระยะเวลามากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ เคยเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีน ที่ทำเงินได้จากกระแสบูมของอสังหาริมทรัพย์จีนที่เติบโตอย่างร้อนแรง จากความหวังว่าจีนจะมีคนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีคนชั้นกลางมากขึ้น ความต้องการบ้าน ที่อยู่อาศัย ก็จะเพิ่มขึ้นมหาศาลด้วย
ตลอดช่วงดังกล่าว เอเวอร์แกรนด์กู้ยืมเงินจากธนาคารและนักลงทุนระดังโลกมากมาย โดยสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้สูงกว่า 10% ขณะเดียวกันยังติดเงินผู้รับเหมาแลผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง โดยออกเพียงแค่ใบยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน ขณะเดียวกัน ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์รายนี้กลับจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมหาศาล โดยที่เงินปันผลส่วนใหญ่นี้ไหลกลับไปสู่นายสวี่ เจีย-อิ้น (เหย ก้า-ยาน)
เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นอล สำนักข่าวด้านการเงินและธุรกิจในสหรัฐ ระบุว่า นายสวี่ได้เงินปันผลไปมากกว่า 34,000 ล้านหยวน (175,400 ล้านบาท) ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561
โควิดฉุดยอดขาย-ระเบียบใหม่ขวางก่อหนี้เพิ่ม
ปัญหาเรื่องนี้เริ่มแดงขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วระหว่างช่วงไวรัสโคโรนาระบาด ที่ทำให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดฮวบ จนเอเวอร์แกรนด์จัดโปรโมชันลดราคาคอนโดมิเนียมสูงถึง 30% เพื่อให้มีกระแสเงินสด ซึ่งก็ทำให้ยอดขายของปี 2563 กระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ 112,000 ล้านดอลลาร์ (3.74 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 20%
ถึงอย่างนั้น การลดราคาดังกล่าวกลับไม่ช่วยให้กระแสเงินสดมีพอ และเมื่อเอกสารที่ระบุเรื่องดังกล่าวหลุดไปในอินเทอร์เน็ตเมื่อปลายปี 2563 ราคาหุ้นและหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จึงตกลงอย่างรุนแรง ไม่ใช่แค่นั้นเอกสารนี้ยังมีข้อความส่งถึงหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นว่า ถ้าบริษัทลูกรายสำคัญที่สุดของเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ในต้นปี 2564 ตามที่สัญญากับนักลงทุนไว้ ก็อาจเกิดความเสี่ยงขึ้น ซึ่งเอเวอร์แกรนด์แถลงในเวลาต่อมาว่าเอกสารนี้ไม่ใช่ของจริงแต่อย่างใด
ปัญหาไม่จบเท่านั้น เพราะเมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานรัฐของจีนออกกฎเกณฑ์กำหนดอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage Ratios) โดยประกอบด้วยกัน 3 ข้อ คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ, อัตราส่วนหนี่สินต่อสินทรัพย์ และอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเอเวอร์แกรนด์มีตัวเลขเกินระดับปกติทุกข้อ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ก่อหนี้เพิ่มไม่ได้อีกแล้ว
เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อความกังวลต่อสถานะทางการเงินแดงขึ้นอีกครั้ง ชาวเน็ตนำโพสต์ที่เอเวอร์แกรนด์ลดราคาคอนโดอย่างหนักมาโพสต์ต่อ เพื่อชี้ว่าเอเวอร์แกรนด์กำลังขาดเงินสดจริงๆ แต่บริษัทปฏิเสธเรื่องนี้ และเมื่อวันที่่ 1 ก.ค. นายสวี่ ยังไปปรากฏตัวในงานฉลองครอบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กรุงปักกิ่ง เพื่อลดความกังวลลง
ความพยายามนี้กลับไม่เป็นผล เพราะนักลงทุนจำนวนมากยังคงขายหุ้นและหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ทิ้งตลอดกลางปี 2564 ทำให้เอเวอร์แกรนด์ยิ่งขาดสภาพคล่อง จึงต้องเริ่มมอบอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไม่ออกให้กับผู้รับเหมา และต้องเริ่มขายธุรกิจบางอย่างออกไป จนนำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้