สื่อนอกเกาะติด จนท.ระดับสูงสหรัฐ-จีน นัดพบที่กรุงเทพฯ หลังไต้หวันได้ ปธน.คนใหม่

Home » สื่อนอกเกาะติด จนท.ระดับสูงสหรัฐ-จีน นัดพบที่กรุงเทพฯ หลังไต้หวันได้ ปธน.คนใหม่

สื่อนอกเกาะติดประชุม ‘หวัง-ซัลลิแวน’ ที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน-สหรัฐฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง อี้ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน หารือกันที่กรุงเทพฯ ในวันศุกร์และวันเสาร์ (26-27 ม.ค. 2567) เพื่อหารือกันในหลายประเด็น รวมทั้งความสัมพันธ์ของสองประเทศ ประเด็นไต้หวัน และประเด็นระดับภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

สื่อรอยเตอร์รายงานว่า การหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กับจีน ครั้งนี้มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยใช้เวลาในการหารือที่กรุงเทพฯ มากกว่า 12 ชม. ในช่วงสองวัน

  • ความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการแข่งขัน

สื่อเอเอฟพีชี้ว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมามา สหรัฐฯ กับจีน มีประเด็นกระทบกระทั่งกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เทคโนโลยี การค้า และสิทํธิมนุษยชน ตลอดจนกรณีไต้หวันและทะเลจีนใต้ แต่หลังการประชุมสุดยอดของปธน.ไบเดน และปธน.สี ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อเดือนพฤศจิกายน ความสัมพันธ์ของสองประเทศกลับมาอยู่ในภาวะคงที่อีกครั้ง

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่เผยแพร่ในวันเสาร์ หลังการประชุมที่กรุงเทพฯ ระบุว่า “หวังและซัลลิแวนมีการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ได้ผลและมีสาระสำคัญ ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันจากการประชุมที่ซานฟรานซิสโก ตลอดจนการจัดการอย่างเหมาะสมต่อประเด็นที่สำคัญและอ่อนไหวในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีน”

ด้านแถลงการณ์ของทำเนียบขาวยืนยันว่า ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อจัดให้มีการสื่อสารที่เปิดกว้างระหว่างผู้นำสองประเทศ และการจัดการสถานะการแข่งขันของความสัมพันธ์สองประเทศอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ความพยายามทางการทูตระดับสูง”

รอยเตอร์ชี้ว่า เศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลงอาจทำให้รัฐบาลกรุงปักกิ่งลดระดับความสัมพันธ์ในเชิงแข่งขันกับกรุงวอชิงตันลงได้เช่นกัน

  • ประเด็นไต้หวัน

การหารือที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ไต้หวันเพิ่งมีประธานาธิบดีคนใหม่ คือ ไล ชิงเต๋อ ซึ่งสื่อรอยเตอร์รายงานว่า เขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 พ.ค. โดยที่ผ่านมา ไลยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงสถานะของไต้หวัน ขณะที่ทางการจีนประณามว่าที่ผู้นำคนใหม่ของไต้หวันว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน และปฏิเสธที่จะมีการเจรจาตามที่ไลได้เสนอไป

สื่อเอพีรายงานอ้างแถลงการณ์ของทางการจีนว่า รัฐมนตรีหวังได้ขอให้สหรัฐฯ ทำตามคำมั่นที่จะไม่สนับสนุนไต้หวัน พร้อมยืนยันว่าการที่ไต้หวันมีผู้นำคนใหม่มิได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

รัฐมนตรีหวังกล่าวด้วยว่า “ความเป็นอิสระของไต้หวัน” คือประเด็นที่ท้าทายความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ มากที่สุด

สื่ออัลจาซีรารายงานว่า ก่อนการประชุมในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมไต้หวันเปิดเผยว่ามีเครื่องบินจีน 33 ลำ และเรือจีน 6 ลำ โคจรรอบเกาะไต้หวันในวันศุกรืและวันเสาร์ และมีเครื่องบินรบ 13 ลำที่บินข้ามช่องแคบไต้หวัน

ทางด้านเอเอฟพีระบุว่า ทำเนียบขาวมีคำแถลงว่า ระหว่างการประชุม เจค ซัลลิแวน ได้เน้นย้ำความสำคัญของการมีสันติภาพและความมั่นคงข้ามช่องแคบไต้หวัน

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักการเมืองอเมริกันสองคนได้เดินทางไปพบกับไล ชิงเต๋อ ที่ไต้หวัน เพื่อยืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวัน

  • แรงกดดันต่ออิหร่าน

สื่อรอยเตอร์ระบุว่า ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้กดดันให้รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ใช้อิทธิพลทางการทูตเพื่อโน้มน้าวให้อิหร่านยุติการสนับสนุนให้แก่กลุ่มฮูตีในเยเมน เป้าหมายเพื่อให้กลุ่มฮูตีหยุดการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง อ้างอิงจากเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลอเมริกันผู้หนึ่ง

สื่อเอพีชี้ว่า ซัลลิแวนได้อ้างถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเหนืออิหร่าน และย้ำถึงความไร้เสถียรภาพในการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง โดยเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งกล่าวกับเอพีว่า ก่อนหน้านี้จีนได้เรียกร้องไปยังอิหร่านให้ลดระดับความขัดแย้งในตะวันออกกลางด้วย

  •  ผลกระทบต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ไบเดน พยายามที่จะรักษาช่องทางการสื่อสารกับปธน.สี จิ้นผิง เอาไว้ โดยมองว่าการเจรจาโดยตรงคือวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับยุทธศาสตร์ของจีน ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งสำคัญของไบเดนที่มีโอกาสจะชิงชัยอีกครั้งในการเลือกตั้งปลายปีนี้ มีวิธีรับมือกับจีนที่แตกต่างออกไป

รอยเตอร์มองว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปีเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและอาจกระทบต่อคะแนนนิยมของปธน.ไบเดน อีกด้วย นอกจากนี้อาจยิ่งเพิ่มภาระให้กับคณะทำงานด้านความมั่นคงของไบเดนที่ต้องรับมือกับสงครามยูเครนและความขัดแย้งในตะวันออกกลางอย่างเต็มกำลังอยู่แล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ