สำนักข่าวนิกเกอิ จากญี่ปุ่น เผยแพร่บทความฉบับหนึ่งเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 กำลังเปิดเผยว่าอัตราการว่างงานของไทยอาจสูงกว่า 2% ที่ภาครัฐมีข้อมูล และตัวเลขที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ยุ่งยากไปอีก
บทความนี้ระบุว่าตัวเลขว่างงานที่ภาครัฐของไทยมีอยู่นั้น ไม่ได้รวมคนที่ทำงานนอกระบบหรือคนกลุ่มอื่นที่ตกหล่นไปด้วย ทำให้เมื่อมีการเลิกจ้าง โดยเฉพาะเมื่อมีการสั่งปิดกิจการเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 คนจำนวนมากจึงไม่มีการนับเข้าไปในตัวเลขอัตราว่างงาน และแม้ว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะเผยว่าช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 อัตราการว่างงานของไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบ 12 ปี แต่ตัวเลขก็อยู่ที่ 1.96% เท่านั้น
นอกจากนี้ นิกเกอิระบุอีกว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายหนึ่งเผยว่า มีคนย้ายออกจากเมืองใหญ๋และเมืองท่องเที่ยวไปยังภูมิลำเนาของตัวเองระหว่างเดือน ธ.ค. 2562 ถึงเดือน เม.ย. 2564 ถึง 1.6 ล้านคน
นิกเกอิ อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าตัวเลขการว่างงานที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงนี้ทำให้ไทยตอบสนองต่อปัญหาเกี่ยวกับแรงงานไม่ถูกต้องไปด้วย อย่างเช่น การเยียวยาโควิดที่ไม่ครอบคลุม การขาดการปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน หรือการขาดการปฏิรูปการศึกษา จึงผลิตแรงงานออกมาได้ไม่ตรงกับความต้องการของโลกในยุคดิจิทัล
หากคนว่างงานมากขึ้น แต่ภาครัฐยังไร้ตัวเลขที่สะท้อนข้อมูลจริง และไม่เร่งแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นิกเกอิมองว่า ผู้คนที่นอกจากกลุ่มเยาวชนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้คนในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น