สื่อจีนเฉ่งตำรวจท้องถิ่น – วันที่ 30 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ตำรวจในจีนจับผู้ต้องสงสัย 4 คน เดินขบวนไปตามถนนในเมืองจิ้งซี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางใต้ของประเทศ หลังถูกจับในข้อหาลักลอบขนคนข้ามพรมแดนที่ปิดสนิท ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 เมื่อวันอังคารที่ 28 ธ.ค.
สื่อทางการเผยแพร่วิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์เผยผู้ต้องสงสัย 4 คน สวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (พีพีอี) หน้ากากอนามัย และแว่นตากันลม แต่ละคนแขวนป้ายโชว์ชื่อและใบหน้าห้อยที่หน้าอกและแผ่นหลัง
ผู้ต้องสงสัยแต่ละคนมีเจ้าหน้าที่ 2 คน ซึ่งสวมพีพีอีและเฟซชีลด์เช่นกัน คอยควบคุมตัวขณะเดินขบวน และยังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชุดล้อมรอบ บางนายถือปืนกลและสวมชุดปราบจลาจล ขณะที่ฝูงชนขนาดใหญ่ยืนดูกัน
สื่อท้องถิ่นของทางการ กว่างซี เดลี รายงานว่า ผู้ต้องสงสัย 4 คน ต้องสงสัยช่วยผู้อื่นลักลอบข้ามพรมแดนจีนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งปิดสนิทในช่วงการระบาดเป็นส่วนหนึ่ง “นโยบายโควิดเป็นศูนย์” และว่าการลงโทษดังกล่าวมีเป้าหมายยับยั้งอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับพรมแดน และสนับสนุนให้สาธารณชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
เว็บไซต์รัฐบาลในเมืองจิ้งซีระบุว่า เมื่อวันอังคารที่ 28 ธ.ค. ทางการในเมืองจิ้งซีจับกุมผู้ต้องสงสัย 2 คนอย่างเป็นทางการ ในข้อหาขนผู้อพยพชาวเวียดนาม 2 คน เข้าจีนเมื่อเดือนต.ค. หนึ่งในนั้นตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทำให้โรงเรียนปิดตัว และผู้อยู่อาศัยเกือบ 50,000 คนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และต้องทำการตรวจหาเชื้อมากกว่า 10,000 คน
อย่างไรก็ตาม ไม่ชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยทั้งสองเป็นหนึ่งใน 4 คนที่ถูกจับเดินขบวนด้วยหรือไม่
เมืองพรมแดนต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลในการป้องกันโควิดอยู่ภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของจีน โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถูกไล่ออกหรือลงโทษเป็นระยะๆ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการระบาดที่ลุกลามที่หลบเลี่ยงมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวได้
จิ้งซีเป็นเมืองที่มีประชากรราว 670,000 คน มีพรมแดนติดกับเวียดนามเป็นระยะทาง 152 กิโลเมตร ในมณฑลยูนนานที่อยู่ติดกัน ก่อนหน้านี้ เมืองรุ่ยลี่ถูกล็อคดาวน์หลายครั้งหลายเดือนเมื่อต้นปีนี้เนื่องจากผู้ป่วยติดโควิดที่มาจากนอกพื้นที่ เรียกเสียงไม่พอใจจากชาวบ้านในท้องถิ่น
เสียงสะท้อนของการปฏิวัติวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวที่เผยแพร่ตั้งแต่วันอังคารที่ 28 ธ.ค. เป็นที่สนใจอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากสำหรับหลายๆคน การเดินขบวนและติดป้ายประจานเป็นการย้อนกลับไปถึงยุคมืดของการปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 6 ปีก่อน
การสร้างความอับอายในที่สาธารณะเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ข่มเหงโดยฝีมือของยุวชนแดง (เรดการ์ด) ของเหมา เจ๋อตง ผู้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความไร้ระเบียบ และความโกลาหลของทศวรรษแห่งความวุ่นวายทางสังคมของจีน
ต่อมา ในปี 2531 รัฐบาลจีนห้ามจัดเดินขบวนประจานผู้ต้องสงสัยและอาชญากรทั้งหมด รวมถึงผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เหตุการณ์คล้ายคลึงกันลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อของรัฐ และยังมีประกาศอื่นๆ ย้ำถึงการสั่งห้ามจากรัฐบาลด้วย
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการ รายงานว่า ในปี 2553 ที่ปรึกษารัฐบาลยกย่องคำสั่งใหม่เกี่ยวกับการห้ามจัดเดินขบวนประจานผู้ทำงานทางเพศ อันเป็นสัญญาณแห่ง “การเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของประเทศเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับเหตุการณ์ในเมืองจิ้งซี สื่อทางการมีส่วนร่วมวิจารณ์ด้วย เช่น หนังสือพิมพ์โกลเบิล ไทม์ สื่อแนวชาตินิยม รายงานโดยอ้างศาสตราจารย์กฎหมายคนหนึ่งที่ว่า การประจานผู้กระทำความผิดในที่สาธารณะเป็นการ “ละเมิดกฎหมายจีน” และ “ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของพลเมือง”
ส่วนเป่ย์จิ่งนิวส์ สื่อทางการอีกสำนัก รายงานว่า มาตรการดังกล่าว “ละเมิดเจตนารมณ์ของหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง” และไม่ควรปล่อยเกิดขึ้นแม้จะอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากการป้องกันโรคระบาด
ขณะเดียวกัน เจิ้งโจว เดลี ตำรวจเมืองจิ้งซีและรัฐบาลท้องถิ่นออกมาปกป้องการประจานผู้กระทำความผิด โดยอ้างว่าเป็น “กิจกรรมเตือนทางวินัยในสถานที่” และไม่มี “ความไม่เหมาะสม”
และไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำเช่นนี้ ล่าสุด เมื่อเดือนพ.ย. ผู้ต้องหา 3 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าลักลอบขนคนถูกควบคุมตัวบนเวที และเจ้าหน้าที่อ่านบทลงโทษต่อประชาชนหลายร้อยคน รวมถึงนักเรียนระดับประถมศึกษา ตามรายงานบนเว็บไซต์ของรัฐบาลเมืองจิงซี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ลงโทษข้าราชการเมืองซีอาน 26 คน ล้มเหลวรับมือ-โควิดระบาดจนล็อกดาวน์ รอบโลก