วันนี้ (18 มิถุนายน) ที่ประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญครั้งที่ 1 มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม”
เมื่อเวลา 14:51 ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบในพรบ.สมรสเท่าเทียม โดยจากผู้ร่วมลงมติจำนวน 152 คน มีผู้เห็นชอบ 130 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเบื้องต้น มีดังต่อไปนี้
- สถานะทางกฎหมายคือ “คู่สมรส” คือมีสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย
- ให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17 ปี
- เปลี่ยนจากชายหญิง เป็นผู้หมั้น
- กำหนดให้การสมรสหรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง
ลำดับต่อไปนายกรัฐมนตรีจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย และจะมีการบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
การผ่านร่างกฎหมายในวันนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย (รองจากไต้หวันและเนปาล) อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีร่างกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน และนับเป็นประเทศที่ 38 ของโลก ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถือเป็นบทสรุปการต่อสู้กว่าสิบปีที่น่ายินดีอย่างยิ่ง