‘สิระ’ ขึ้นเบิกความฟ้อง ‘หมอเหรียญทอง’ หมิ่นประมาท เรียก “ไอ้กุ๊ยหลักสี่” ลุยฟ้องอีกหลายคดี ส่วนที่ศาลสั่งจำคุก 16 เดือน ไม่รออาญา เตรียมยื่นอุทธรณ์
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 31 ส.ค. 2565 นายสิระ เจนจาระ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ พร้อมทนายความเดินทางมาศาลอาญา เพื่อสืบพยานโจทก์ในคดี อ.1919/2564 ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “เหรียญทอง แน่นหนา” โพสต์ข้อความ ทำนองว่า…ไอ้กุ๊ยหลักสี่..และข้อความว่า…มันไม่รู้เรื่องอะไรเลยจริงๆ ทั้งที่มันเป็นถึงประธานกรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร..” และข้อความอื่นๆ ที่จำเลยกล่าวนั้นย่อมหมายถึงโจทก์และหากผู้ใดได้อ่านข้อความแล้วย่อมเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงตัวโจทก์ทั้งสิ้น
เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2564 และคำว่า “ไอ้กุ๊ย” หรือ “กุ๊ย” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ว่า คนเลว, คนไม่สุภาพไร้มารยาท, คนชั่วต่ำช้า โดยเจตนาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
โดยช่วงบ่ายวันนี้ศาลได้สืบพยานโจทก์จำนวน 2 ปาก ประกอบด้วย นายสิระ โจกท์ ซึ่งอ้างตัวเองเป็นพยานเบิกความต่อศาล กับประชาชนที่ส่งข้อความที่จำเลยโพสต์มาให้จำเลยทราบ ทั้งนี้ ภายหลังพยานโจทก์เบิกความเสร็จแล้ว ศาลจึงนัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.) เวลา 13.30 น.
นายสิระ เปิดเผยว่า วันนี้ตนมาเบิกความเพื่อสืบพยาน ซึ่งศาลจะสืบพยานอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ อย่างไรก็ตามนอกจากนี้แล้ว ยังมีคดีที่ตนไปแจ้งความหมิ่นประมาทไว้กับพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง ล่าสุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อ.1015/2565 โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 30 พ.ค.2566 รวมทั้งคดีที่ยื่นฟ้อง นพ.เหรียญทอง เป็นคดีหมายเลขดำ อ.326/2565 และศาลนัดสืบพยานวันที่ 13 มิ.ย.2566
นายสิระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีทั้งหมด 3 คดีที่ตนยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อศาลอาญา คาดว่าจะยื่นฟ้องอีกหลายคดี เพื่อขอใช้สิทธิปกป้องตัวเอง เนื่องจากพบว่ายังมีการโพสต์เฟซบุ๊กอยู่ตลอด สำหรับคดีที่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องตนเป็นจำเลย และเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านา ศาลแขวงดอนเมืองได้พิพากษาลงโทษจำคุกตนเองเป็นเวลา 16 เดือน ไม่รอลงอาญานั้น เราไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษา ดังนั้นจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาต่อไป