สาเหตุของ “ต้อลม” ในวัยทำงาน ไม่ต้องรอให้ชราก็เป็นได้

Home » สาเหตุของ “ต้อลม” ในวัยทำงาน ไม่ต้องรอให้ชราก็เป็นได้
สาเหตุของ “ต้อลม” ในวัยทำงาน ไม่ต้องรอให้ชราก็เป็นได้

โรคที่เกี่ยวกับดวงตาที่เกิดจากเซลล์ในตาเสื่อมสภาพ เช่น ต้อลม ต้อหิน ต้อกระจก มักจะเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นโรคของ “คนแก่” หรือผู้สูงอายุที่อาจจะมีอายุเกิน 50 ปีเป็นต้นไป หรือเฉพาะวัยเกษียณแล้วเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วในวัยทำงานที่อายุยังไม่แตะเลข 4 ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคต้อเหล่านี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะ “ต้อลม” ที่สร้างความลำบากในการทำงาน และการใช้ชีวิตพอสมควร

 

โรคต้อลม คืออะไร?

นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคต้อลมเกิดจากการเสื่อมของเยื่อบุตาขาว มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อขนาดเล็ก นูน สีขาวหรือเหลืองอยู่บริเวณเยื่อบุตาขาว แต่ไม่ใช่เนื้องอกมักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา

 

สาเหตุของโรคต้อลม

สาเหตุของโรคต้อลมยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่จะมีปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคต้อลม ได้แก่

  • ดวงตาสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือที่เรียกว่ารังสี UV ซึ่งมีอยู่ในแสงแดดเป็นเวลานาน
  • ดวงตาสัมผัสกับลม ฝุ่น ควัน และความร้อนที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาขาว
  • มีอาการตาแห้งบ่อยๆ แต่ไม่รีบรักษา หรือไม่ใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ทำงานในที่ๆ ดวงตาต้องสัมผัสกับความร้อน ฝุ่น ควัน และแสงแดดตลอดเวลาโดยไม่มีการป้องกันดวงตา เช่น คนงานก่อสร้าง ช่างเชื่อมโลหะ ช่างเจียระไนเครื่องประดับ เป็นต้น

 

อาการของโรคต้อลม

ผู้ที่เริ่มเป็นต้อลมช่วงแรกมักไม่แสดงอาการให้เห็น แต่จะรู้สึกถึงความผิดปกติ เช่น

  • เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล
  • ตาบวม ตาแดง
  • รู้สึกเหมือนมีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา ทำให้รู้สึกคันตา
  • มีอาการมากขึ้นขณะอยู่กลางแจ้ง โดนแดด โดนลม เมื่อต้อลมมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเกิดการอักเสบ
  • ลืมตาไม่ขึ้น
  • เริ่มมีปัญหาในการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อันตรายของโรคต้อลม

เมื่อเยื่อบุตาขาวระคายเคือง หรือเสื่อม จนเกิดเป็นก้อนเนื้อขาวๆ เล็กๆ ที่ตาขาว จะเรียกว่า ต้อลม แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา หรือยังคงปล่อยให้ดวงตาสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่น ควัน และความร้อนอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดอาการอักเสบจนลามไปถึงตาดำได้ เรียกว่า ต่อเนื้อ ซึ่งอันตรายกว่าต้อลม และอาจเกิดความผิดปกติของสายตาอย่างถาวรได้

 

วิธีรักษาต้อลม

โดยทั่วไปหากเป็นโรคต้อลมไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำไม่ให้อาการเป็นมากกว่าเดิม (หลีกเลี่ยงดวงตาจากแสงแดด ฝุ่น ควัน ผลภาวะต่างๆ) หากแพทย์พิจารณาว่าลักษณะอาการที่เป็นอยู่ไม่ได้ส่งผลอันตรายร้ายแรงอะไร แต่ถ้าหากพบว่าดวงตามีอาการอักเสบ ก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นมีขนาดใหญ่ หรืออยู่ในตำแหน่งที่อันตรายต่อการมองเห็น แพทย์อาจจัดยาหยอดตา หรือพิจารณาการผ่าตัดได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามาหยอดตาเอง เพราะการเลือกยาหยอดตาที่ไม่เหมาะสมกับอาการ หรือเลือกยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ อาจทำให้เสี่ยงต่ออาการต้อหิน ที่อันตราย และรักษายากกว่าเดิมได้

 

วิธีป้องกันโรคต้อลม

  1. หลีกเลี่ยงดวงตาจากการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง ด้วยการสวมใส่แว่นตากันแดดที่ได้มาตรฐาน มีการรับรองว่าสามารถกรองรังสี UV ได้จริง ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือทุกครั้งที่ขับรถกลางแดด
  2. หากต้องทำกิจกรรมในที่ๆ มีฝุ่น ควัน เยอะ ควรสวมใส่แว่นตาที่ช่วยป้องกันจากฝุ่นควันเหล่านั้นทุกครั้ง
  3. ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาแห้ง หากดวงตารู้สึกแห้ง ควรหยอดตาด้วยน้ำตาเทียม
  4. หากมีอาการแสบตา คันตา ตาแดง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ