ยุคนี้คือยุคที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ เพียงแค่เปิดช่องยูทูบ และทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าผู้คนจะชอบ บอกเล่าเรื่องราวที่ตัวเองมีความรู้มีความสามารถ และหากทำได้ดี พวกเขาก็จะกลายเป็น อินฟลูเอนเซอร์ ที่ได้รับการยอมรับเฉพาะกลุ่มขึ้นมาในทันที
อย่างไรก็ตามในโลกของฟุตบอล การจะได้เป็นสุดยอดสื่อหรือนักวิจารณ์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศจนไปถึงวงกว้างได้จริง ๆ คือการได้ออกโทรทัศน์เพื่อบรรยายหรือวิจารณ์เกมในการถ่ายทอดสดที่มีคนดูทั้งโลก
กว่าจะไปถึงจุดนั้น มันมีที่มาอย่างไร และคนแบบไหนที่จะมีสิทธิ์จะไปยืนอยู่บนจุดนั้นได้ ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
กำเนิดกูรูฟุตบอล
จุดกำเนิดของกูรูฟุตบอลเริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กับวงการฟุตบอลอังกฤษ และเริ่มพัฒนาไปจากนั้นตามยุคสมัย จากคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ สู่กูรูหน้าจอโทรทัศน์ผ่านการถ่ายทอดสด จนถึงทุกวันนี้ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำตัวเป็นกูรูหรือนักวิจารณ์ได้ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
ทว่าเรื่องราวของความรุ่งเรืองในอาชีพนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ก็ตั้งแต่ยุค 1960s เป็นต้นมา เมื่อสถานีโทรทัศน์ BBC ประเทศอังกฤษ ได้เปิดตัวรายการไฮไลท์และวิเคราะห์บอลชื่อ Match of the Day ที่มีอายุยาวจนถึงทุกวันนี้ โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 1964 หลังจากนั้นจึงเกิดรายการแนวเดียวกันจากช่องอื่น ๆ ออกมาอีกหลายรายการ
Photo : www.thefa.com
ความมันและเข้มข้นที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อปี 1990 ที่ เกร็ก ไดค์ เจ้าพ่อสื่อด้านโทรทัศน์ ผู้บริหารของ LWT หรือ London Weekend Television (ต่อมาได้เป็นประธานสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA ระหว่างปี 2013-2016) ตัดสินใจเรียก 5 ผู้บริหารของทีมชั้นนำของฟุตบอลอังกฤษในเวลานั้นมาร่วมพูดคุย ประกอบไปด้วย เดวิด ดีน จาก อาร์เซน่อล, เออร์วิ่ง โชล่าร์ จาก ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์, ฟิลิป คาร์เตอร์ จาก เอฟเวอร์ตัน, โนเอล ไวท์ จาก ลิเวอร์พูล และ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ใจความที่ ไดค์ จะสื่อให้ทุกคนที่ร่วมประชุมกับเขาเข้าใจคือ เขาต้องการให้ทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษแยกตัวจาก EFL หรือ สมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ ออกมาตั้งองค์กรบริหารเอง เพื่อความเป็นเอกเทศและก้าวไปข้างหน้าได้ง่ายกว่า ซึ่งกว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดให้เป็นความจริงได้ (เปลี่ยน ดิวิชั่น 1 ให้เป็นพรีเมียร์ลีก) ก็ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อทำให้เรื่องนี้ลุล่วง
พรีเมียร์ลีก ถูกก่อตั้งขึ้นผ่านการรีแบรนด์จาก ดิวิชั่น 1 ในปี 1992 เป้าหมายขององค์กรคือการทำให้ฟุตบอล “แมส” และสามารถก้าวข้ามโลกของกีฬาให้กลายเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ หรือความบันเทิงสำหรับผู้คนทั้งโลก
และการรีแบรนด์นี้เองที่นำมาซึ่งยุคทองของรายการวิเคราะห์ วิจารณ์เกมฟุตบอลต่าง ๆ เพราะคนดูที่มีมากขึ้น และพวกเขาก็ต้องการทำให้กระแสนี้จุดติดอยู่ตลอดทั้งสัปดาห์ โดยไม่ได้จบลงแค่ 90 นาทีของเกมการแข่งขัน ที่จบแล้วจบเลย สัปดาห์หน้าค่อยมาว่ากันใหม่เหมือนที่เคยเป็น (สำหรับคนดูต่างประเทศ)
พวกเขาต้องการทำให้คนดูพูดถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกตลอดทั้งสัปดาห์ไม่รู้จบ เพื่อเพิ่มอรรถรส และยอดคนดูที่มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ผ่านการถ่ายทำและการนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ผลการแข่งขันอย่างเดียว
ผลลัพธ์คือ พรีเมียร์ลีก กลายเป็นลีกที่น่าสนใจยิ่งกว่าที่เคยเป็น และสามารถทำเงินได้มากมายจากส่วนแบ่งด้านการถ่ายทอดสดแบบที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่มีแต่ผลบวก แต่ความจริงนั้นไมใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องปรับโปรแกรมต่าง ๆ ให้เหมาะกับแผนมาร์เก็ตติ้งที่วางไว้ และทุก ๆ การปรับอาจส่งผลเสียต่อการทำทีมของกุนซือแต่ละคนได้
Photo : www.theguardian.com
เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด เคยเถียงกับ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานสโมสรในยุคนั้นว่า การทำตามสิ่งที่สถานีโทรทัศน์ต้องการคือหายนะ เพราะโปรแกรมต่าง ๆ จะถูกขยับเลื่อนไปตามใจสื่อ และทำให้งานของเขายากขึ้น อาทิ การเพิ่มแมตช์การแข่งขันในวันอาทิตย์หรือกลางสัปดาห์ ที่อาจจะส่งผลกระทบกับทีมที่มีโปรแกรมฟุตบอลยุโรป ทำให้ได้พักน้อยกว่า จนเสียเปรียบทีมอื่น ๆ รวมถึงการขยับเวลาให้เตะช่วงเที่ยงวันของอังกฤษ เพราะต้องการเวลาแข่งขันที่เอื้อต่อผู้ชมในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก
แต่สุดท้าย หลังผ่านการโต้เถียงกันมากมาย พรีเมียร์ลีก ก็ยึดรายได้เป็นที่ตั้ง และบังคับให้แต่ละสโมสรต้องปรับตัวกับโลกทุนนิยมกันเอง
ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป ก็ต้องบอกว่าพวกเขาคิดถูก ที่ปล่อยให้บางสโมสรต้องเสียเปรียบไปบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วพรีเมียร์กลายเป็นลีกฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก มียอดผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดตลอดฤดูกาลเป็นอันดับที่ 1 แบบที่ไม่มีลีกไหนทำได้ใกล้เคียงอีกเลย
สิ่งที่ตามมาจากการถ่ายทอดสดที่ขยับโปรแกรมเพื่อคนดูทั่วโลกที่ดูผ่านโทรทัศน์ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชียแสดงให้เห็นความนิยมที่เพิ่มขึ้นจริง และฟุตบอลก็ไม่ได้เป็นแค่การแข่งขันอีกต่อไป ช่องโทรทัศน์อย่าง BBC และ Sky Sports ติดต่อเข้ามาขอซื้อลิขสิทธิ์การฉายไฮไลท์ระหว่างแข่งขัน ซึ่งทำให้แต่ละช่องมีรายการไฮไลท์และวิเคราะห์วิจารณ์โดยเหล่ากูรูฟุตบอลเพิ่มขึ้นมา
BBC มีรายการ Match of the Day ที่ปรับโฉมจากยุคเก่าจนกลายเป็นรายการยอดนิยม ขณะที่ Sky Sports ก็ต่อกรด้วยรายการ Soccer Saturday ซึ่ง 2 รายการนี้เอง คือจุดเริ่มต้นของเหล่านักวิจารณ์, นักวิเคราะห์ และนักพากย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย จนเกิดวัฒนธรรมที่คนดูยึดติดกับตัวพิธีกรเป็นหลัก จากกระแสนี้เองการสร้างคาแร็กเตอร์ของเหล่ากูรูจึงมีความสำคัญมากขึ้น … และการแข่งขันก็เข้มข้นขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
Commentator, Analyst, Pundit
ก่อนที่จะเข้าสู่โลกแห่งอินเทอร์เน็ต ตำแหน่งนักวิจารณ์ หรือที่เรียกกันว่า Pundit ในวงการฟุตบอลนั้น ไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ เลย หน้าที่ของพวกเขาเหล่านักวิจารณ์คือการพูดในสิ่งที่ “คิดว่า” มันจะเกิดขึ้นก่อนเกมจะเริ่ม, วิเคราะห์ถึงปัญหาและสิ่งที่ขาดไปในระหว่างพักครึ่ง และเมื่อเกมจบลงพวกเขาต้องสรุปเกมทั้ง 90 นาที ออกมาให้ได้ใจความ และสื่อสารกับผู้ชมให้ได้ง่ายที่สุด
Photo : www.bbc.com
การจะทำหน้าที่ดังกล่าวทั้งหมดนี้ ผู้พูดต้องมีประสบการณ์ และมีความรู้มากพอที่จะทำให้คนฟังเชื่อถือได้ ดังนั้นนักวิจารณ์ในยุคแรก ๆ จึงออกมาในรูปแบบของ อดีตนักฟุตบอลที่เคยผ่านเกมระดับสูงและเห็นโลกฟุตบอลมามากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น อลัน แฮนเซ่น ตำนานนักเตะของ ลิเวอร์พูล ที่ถือเป็นกูรูฟุตบอลชื่อดังของ BBC ขณะที่ Sky Sports นำทัพโดย 2 พิธีกรผู้ดำเนินรายการที่เป็นอดีตนักเตะอย่าง แอนดี้ เกรย์ และ ริชาร์ด คีย์ส นอกจากนี้ยังมีมือเก๋าอีกมากมายที่ผ่านการค้าแข้งในระดับสูงมาแล้วทั้งสิ้น
ทุกคนล้วนแต่มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่แนวทางการวิจารณ์หรือวิเคราะห์เกมนั้น จะอ้างอิงตามหลักความเป็นจริง เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมกับประสบการณ์ในสนามที่พวกเขาเคยผ่านมา พิธีกรจะทำตัวเหมือนกับน้ำที่ไหลไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้รายการออกมาลื่นไหลตั้งแต่ต้นจนจบ
อย่างไรก็ตามเมื่อโลกแห่งอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนไปมาก คนดูมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้น ในหมวดหมู่รายการวิเคราะห์วิจารณ์ฟุตบอล มีทั้งแบบวิเคราะห์แบบมันถึงใจ, ด่าเอามัน, มีสาระความรู้มากมาย และการวิเคราะห์ผ่านประสบการณ์ หรืออื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หรือ แชนเนลยูทูบ ยกตัวอย่างเช่น AFTV (หรือ ArsenalFanTV เดิม) ที่มีไฮไลท์คือการนำแฟนบอลของ อาร์เซน่อล มาระบายอารมณ์หลังเกม ยิ่งทีมปืนใหญ่แพ้ขึ้นมาเมื่อไหร่ บรรยากาศยิ่งดุเด็ดเผ็ดมันจนได้รับความนิยมมาก แม้แต่แฟนบอลทีมอื่น ๆ ก็ยังต้องอดใจที่จะมาสนุกด้วยไม่ไหว
Photo : www.express.co.uk
โลกที่เปลี่ยนไปทำให้เหล่ากูรูทางโทรทัศน์ตามสื่อหลักต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนวิธีการกันใหม่ พวกเขาจะมาเล่นเพลย์เซฟ พูดแบบเป็นกลางจะทำให้หาจุดขายไม่ได้อีกต่อไป อย่างน้อย ๆ ที่สุด พวกเขาจะต้องเอาคาแร็คเตอร์ของตัวเอง มานำเสนอเพื่อทำให้คนดูจำได้และอยากจะติดตามพวกเขา ดังนั้นในการถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับฟุตบอลยุคใหม่ จะมีการแบ่งหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการอย่างชัดเจนว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง
3 ตำแหน่งหลัก ๆ นอกเหนือจากพิธีกรที่ทุกรายการต้องมีคือ
1. คอมเมนเตเตอร์ (Commentator) ที่คอยบรรยายเกมและเสริมความรู้เพื่อช่วยอธิบายให้คนดูเข้าใจง่ายที่สุด
2. นักวิเคราะห์ (Analyst) ผู้มีหน้าที่อธิบายทุกอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามอย่างจริงจัง ด้วยองค์ความรู้ที่ต้องอยู่ในระดับรู้จริง ยกตัวอย่างเช่น เธียร์รี่ อองรี ซึ่งเคยเข้ามารับงานกับ Sky Sports เมื่อราว ๆ 4-5 ปีก่อน โดยตัวของ อองรี มักจะอธิบายเพลย์ต่าง ๆ ของทีมที่แข่งขันในวันนั้น หรือนักเตะที่พวกเขากำลังเจาะลึก ครั้งหนึ่ง อองรี ได้วิเคราะห์ถึงการวิ่งและการจบสกอร์ของ อัลบาโร โมราต้า ในสมัยที่เล่นให้กับ เชลซี (เกมที่เขายิงแฮตทริกใส่ สโต๊ค ซิตี้) ซึ่ง อองรี ได้วิเคราะห์ทุก ๆ จุดตั้งแต่การวิ่งตอนไม่มีบอล การพาบอลเข้าเขตโทษ และจังหวะสังหาร … นี่คือหน้าที่ของนักวิเคราะห์ที่พอจะทำให้ทุกคนเห็นภาพได้ชัดที่สุด
3. นักวิจารณ์ (Pundit) ในส่วนของนักวิจารณ์นี้ปกติแล้วมีมานานนม เพียงแต่ระดับของนักวิจารณ์ในฟุตบอลของโลกยุคใหม่ จะต้องเพิ่มความเอ็นเตอร์เทนผสมกับเสน่ห์ของผู้วิจารณ์เข้าไปด้วย นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นจริง ๆ และสามารถบอกเล่าสิ่งที่พวกเขาเห็น หรือสิ่งที่พวกเขาคิดออกมาให้คนดูเข้าใจไปพร้อม ๆ กับการสร้างความบันเทิงที่ช่วยให้รายการมีสีสัน
Photo : www.football.london
สามตำแหน่งที่กล่าวมานี้สำคัญมาก ในการทำให้รายการฟุตบอลมีความสนุกสนานสำหรับผู้ชม จนผู้ชมต้องยอมเปิดโทรทัศน์ดูในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงอย่างง่ายดาย หากจะยกตัวอย่างให้ชัดเจนคงเป็นรายการของช่อง Sky Sports ที่มักจะเอาทั้ง พิธีกร, คอมเมนเตเตอร์, นักวิเคราะห์ และ นักวิจารณ์ มานั่งโต๊ะเดียวกัน และพวกเขาจะเริ่มถกเถียงประเด็นต่าง ๆ จากมุมมองของแต่ละคน ซึ่งความสนุกมันอยู่ตรงนี้เอง
นักวิเคราะห์มองสิ่งที่พวกเขาเห็น นักวิจารณ์เล่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อ คอมเมนเตเตอร์ใส่รายละเอียดต่าง ๆ ที่พวกเขาเกาะติดตลอดทั้งเกม โดยมีพิธีกรมือดีคอยโยนคำถาม ใส่ไฟ และปั่นให้เกิดการวิจารณ์ที่ร้อนแรงและเป็นประเด็น … นี่คือรูปแบบของรายการที่นอกจากคนดูจะได้ความรู้แล้ว พวกเขายังได้ความสนุก ความดราม่าเหมือนกับดูละครเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
ก่อนจะขึ้นโต๊ะได้ … หาสไตล์เจอหรือยัง ?
การที่ คอมเมนเตเตอร์, นักวิเคราะห์ และ นักวิจารณ์ มานั่งโต๊ะเดียวกันและพูดคุยเรื่องฟุตบอลออกทีวีได้นั้น ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่เปลี่ยนแปลง แม้คอนเทนต์จะดี (การแข่งขันสนุก มีการยิงประตูเยอะ) แต่ถ้าผู้นำสารสื่อสารออกมาได้ไม่ดีทุกอย่างก็จบเห่ได้ง่าย ๆ
ดังนั้นในยุคนี้ที่ต้องขายความเข้มข้น เหล่านักวิจารณ์และนักวิเคราะห์จึงเริ่มปรับตัวให้เหมาะตามยุคสมัย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวว่าพวกเขาจะอายุมากหรือน้อย แต่มันขึ้นอยู่กับว่าจุดขายของพวกเขาตรงจริตและสร้างภาพจำให้กับคนดูได้มากแค่ไหน
Photo : www.thescottishsun.co.uk
ตัวอย่างที่ชัด ๆ เลยคือ แกรม ซูเนสส์ อดีตนักเตะและกุนซือของ ลิเวอร์พูล ที่หากย้อนกลับไปหลังจากที่เขาเริ่มจับงานคุมทีมและเข้าสู่งานโทรทัศน์ ตอนนั้นเขาไม่ได้พื้นที่บนหน้าสื่อมากนัก เพราะสไตล์ที่ไม่ชัดเจนของเขา บวกกับการวิเคราะห์วิจารณ์ของเขาก็ไม่ได้เฉียบขาดเหมือนกับกูรูคนอื่น ๆ แต่ทุกวันนี้เขายังคงทำงานนี้อยู่ และกลายเป็นคนที่อยู่บนพาดหัวหน้า 1 ได้เพราะอะไร ? … หากคนที่ติดตามจะรู้ในทันทีว่า เขามีคาแร็กเตอร์ของ “นักด่า ปอล ป็อกบา” มาช่วยไว้
ปอล ป็อกบา เป็นนักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีไลฟ์สไตล์ฉูดฉาด มีค่าตัวแพงเป็นสถิติโลกอยู่พักหนึ่ง และถูกสื่อจับตาตลอด เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ซูเนสส์ จงใจจะด่าและวิจารณ์เขาในแง่ลบเพื่อให้ตัวเองมีชื่อเสียงขึ้นมาหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ หากย้อนไปถึงสิ่งที่เขาเคยพูดถึง ป็อกบา ซํ้าแล้วซํ้าเล่ามานาน ก็อาจทำให้ผู้ชมเชื่อว่านี่แหละคือสไตล์ของ ซูเนสส์ ที่ทำให้เขายังขายได้ วันไหนที่ ป็อกบา เล่นไม่ดี ทำพลาด ซูเนสส์ จะกลายเป็นนักวิจารณ์ที่ทุกคนนึกถึงขึ้นมาทันที
ซูเนสส์ ไม่เคยชม ป็อกบา แบบตรงไปตรงมา แม้ในวันที่เขาเล่นดีสุด ๆ ซูเนสส์ ก็จะบอกว่า “ก็ธรรมดานี่ นี่คือสิ่งที่นักเตะราคา 100 ล้านปอนด์ต้องทำในทุกสัปดาห์อยู่แล้ว” ไม่ว่า ป็อกบา จะเล่นดีหรือไม่ดี ทุกคนก็อยากฟังในสิ่งที่ ซูเนสส์ พูดกันทั้งนั้น จะจริงหรือไม่ใครจะสน ? เพราะฟุตบอลทุกวันนี้คือความบันเทิง และ ซูเนสส์ ก็ทำได้ดีมาก ๆ ในการเรียกแขกเรียกกระแสให้กับรายการของเขา
แฟน ๆ ที่รัก ป็อกบา จะรอสมน้ำหน้า ซูเนสส์ ในวันที่ ป็อกบา ระเบิดฟอร์ม ขณะที่เหล่า Hater ของ ป็อกบา ก็จะรอดูว่า ซูเนสส์ จะซ้ำ ป็อกบา แบบไหนในวันที่เขาเล่นแย่ … ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน รายการก็ได้เรตติ้งทั้งขึ้นทั้งล่องอยู่ดี
จากสิ่งนี้เราน่าจะพอคาดเดาได้ในระดับหนึ่งว่า ซูเนสส์ ตั้งใจจะใช้คาแร็กเตอร์นี้เพื่อให้หน้าที่การงานของเขายังคงรุ่งโรจน์ต่อไป ในอนาคตหาก ป็อกบา ไม่ดังและเป็นที่สนใจน้อยลง มันก็เป็นไปได้ว่าเขาต้องหาเป้าหมายใหม่ ที่วิจารณ์แล้วได้แอร์ไทม์ จนมีคนอยากจะฟังเหมือนที่เขาทำมาตลอด
คุณอาจจะเห็นภาพชัดกว่านี้หากเรายกตัวอย่างอีกสักคน … ไมเคิล โอเว่น
“เบบี้โกล” นักเตะอังกฤษคนสุดท้ายที่ได้รางวัลบัลลงดอร์ แต่กลับไม่ได้รับความเคารพมากนักในช่วงบั้นปลาย หลังจากแขวนสตั๊ด โอเว่น หันมาทำหน้าที่เป็นนักวิจารณ์ของช่อง BT Sport เป็นงานใหม่
เราไม่รู้ว่าควรจะคาดหวังอะไรกับเขาในฐานะนักวิจารณ์ แต่ทุกครั้งที่ โอเว่น พูดผ่านสื่อ มันมักจะมีประโยคแบบที่ “อิหยังวะ” กล่าวคือ มันงง ๆ แบบจับต้นชนปลายไม่ถูก และไม่อิงกับความเป็นจริง และคนดูไม่เข้าใจว่าเขาต้องการจะสื่ออะไรกันแน่
Photo : www.yorkshireeveningpost.co.uk
“เป็นการวิ่งที่เยี่ยมเลย แต่มันเป็นการวิ่งที่แย่ถ้าคุณรู้ว่าผมหมายถึงอะไร ?”, “นักฟุตบอลสมัยนี้มักใช้เท้าเป็นหลัก”, “สุดยอด ! นี่คือการยิงประตูที่สมบูรณ์แบบที่ไม่ว่าใครก็หยุดไม่อยู่ แต่สำหรับผมคิดว่าผู้รักษาประตูควรทำได้ดีกว่านี้”, “วันนี้มีฝนตกเล็กน้อย ผมคิดว่ามันน่าจะทำให้สนามเปียก” และ “วันไหนที่พวกเขายิงไม่ได้ พวกเขาแทบจะไม่ชนะเลย” … นี่คือตัวอย่างคำพูดงง ๆ ของโอเว่นที่เว็บไซต์ Sportskeeda.com รวบรวมเอาไว้
เป็นอีกครั้งที่เราไม่รู้ว่าควรจะคาดหวังการวิเคราะห์ที่หลักแหลมทะลุปรุโปร่งจากโอเว่นได้แค่ไหน แต่สิ่งที่พวกเรารู้ได้ในทันทีจากประโยคเหล่านี้คืออะไร ? แน่นอนที่สุดภายใต้ความงงคือความฮา ซึ่งหากจะเอาสาระก็คงไม่ได้อะไร แต่ถ้าคุณจะรอดู โอเว่น เพราะความสนุก รับรองได้เลยว่าคุณจะไม่ผิดหวัง
โอเว่น ตั้งใจจะพูดแบบนั้นหรือไม่ใครจะสน ? เพราะหลังจากที่เขาแจ้งเกิดในเวย์ “มึน” นี้เอง คาแร็กเตอร์นักวิจารณ์ของเขาก็ขายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกคนรอคอยอย่างช่วง “ฟันธงลงสกอร์” ที่ทั่วโลกรู้ตรงกันว่า โอเว่น เดาฝั่งไหน ฝั่งตรงข้ามมักจะเป็นผู้ชนะเสมอ…
การเป็นเจ้าพ่อบอลสวนทำให้ใคร ๆ ก็อยากจะรอดู โอเว่น ฟันธง จะจริงไม่จริงไม่รู้ จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ (หลายครั้งหลายหนที่เจ้าตัวฟันธงให้กับเว็บไซต์พนัน BetVictor) ก็ช่างเถอะ แต่การเดาสกอร์ของเขาก็กลายเป็นคอนเทนต์ได้ทุกวัน แม้แต่คนไทยหลายคนก็ยังเข้าใจมุกล้อเลียนโอเว่นมุกนี้เลยด้วยซ้ำ
ตัวของ ซูเนสส์ และ โอเว่น คือตัวอย่างของการหาทิศทางในการขายของตัวเองในฐานะนักวิจารณ์ได้เป็นอย่างดี ซูเนสส์ แจ้งเกิดจากการ “ด่า” ส่วน โอเว่น เกิดจากการ “เดามั่ว” (แม้จะใช้คำแรงไปหน่อยแต่มันน่าจะเป็นคำที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน) จนได้ดี และยังมีพื้นที่ในสื่ออยู่ในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่านักวิเคราะห์วิจารณ์ที่อิงอยู่บนความเป็นจริง และขายสาระจะหมดค่าเสียทีเดียว พวกเขายังคงมีความสำคัญอยู่เหมือนเดิม นักวิจารณ์สายจริงจังจำเป็นต้องมาถ่วงน้ำหนักกับฝั่งที่ไร้สาระ (ขอโทษที่ต้องใช้คำนี้) เพื่อให้รายการออกมาครบรสที่สุด ไม่ใช้เน้นแต่ขายความบันเทิงจนคนดูไม่ได้อะไรเลย
เจมี่ คาร์ราเกอร์ และ แกรี่ เนวิลล์ อดีตนักเตะ ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่กลายเป็นคู่ซี้นักวิจารณ์ของช่อง Sky Sports คือคนที่ทำงานในฐานะนักวิจารณ์ได้ดีเสมอ พวกเขาพูดหลายสิ่งที่อิงไปกับโลกแห่งความจริง มีวิธีการสื่อสารที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยตัวของ คาร์ราเกอร์ นั้น ก่อนจะมาเป็นนักวิจารณ์ เขาได้เข้าคอร์สพูดเพื่อสื่อสารในที่สาธารณะมาก่อน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชื่อเสียงในฐานะนักวิจารณ์ของทั้งคู่จึงอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการจนทุกวันนี้
Photo : www.teamtalk.com
การทำงานของทั้งคู่คือสูตรสำเร็จที่นักวิจารณ์หรือใครก็ตามที่อยากทำงานสายนี้ต้องเรียนรู้ พวกเขามีภาพที่ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำงาน คนหนึ่งมาจาก ลิเวอร์พูล อีกคนมาจาก แมนฯ ยูไนเต็ด 2 ทีมอริที่เจอกันเมื่อไหร่ก็ปากดีใส่กันเมื่อนั้น แค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว
ยิ่งพวกเขาได้มาทำงานด้วยกัน ยิ่งทำให้เห็นเคมีที่ตรงกัน แกรี่ และ เจมี่ เล่นมุกหยอกล้อกันกันอย่างรู้ใจ เล่าเรื่องที่ซีเรียสพร้อมสอดแทรกความฮาเข้าไปโดยไม่กลัวอีกฝ่ายจะโกรธเคือง ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ทำงาน
เทปแรกที่พวกเขาทำงานด้วยกัน ในรายการ Monday Night Football ในปี 2011 วันนั้น แกรี่ เปิดช่องให้ คาร์ราเกอร์ ยิงมุกแจ้งเกิดได้ในทันที
“เขา (ฟาน เพอร์ซี่) เหมือนกับหัวขโมยที่ย่องเข้าบ้านของคุณ คุณไม่มีทางรู้ว่าเขาจะอยู่ห้องไหน” แกรี่ กล่าว … แล้ว คาร์ราเกอร์ ก็ตอบกลับว่า “งั้นนายคงเป็นพวกที่หลบอยู่ใต้เตียง” เพื่อสื่อว่าเกมรับของเขาช่วยป้องกัน ฟาน เพอร์ซี่ ไม่ได้เลย … นั่นคือช็อตแจ้งเกิดของสองคู่หูที่ผสมผสานออกมาได้อย่างลงตัว ทั้งตลก บันเทิง และได้สาระในยามที่จำเป็น
สไตล์ของทั้งคู่คือสิ่งที่คนดูรอฟังในทุกสัปดาห์ พวกเขาลื่นไหลเข้ากับแขกรับเชิญและพิธีกรได้ดีเสมอ จนกลายเป็นที่นิยมและเป็นคู่หูที่ขาดไม่ได้ของช่อง Sky Sports ในเวลานี้ … เรื่องทั้งหมดที่ร่ายมายาวเหยียด เราต้องการเพียงจะบอกว่า “สไตล์” คือสิ่งที่สำคัญสำหรับนักวิจารณ์รุ่นใหม่ ๆ ในยุคที่คนดูมีทางเลือก และพร้อมจะเปลี่ยนช่องหนีพวกเขาอย่างง่ายดาย
ซูเนสส์ พูดจาดี ๆ ชื่นชมและเชิดชู ป็อกบา แบบคนอื่น ๆ ได้ไหม ? คำตอบคือได้แน่นอน แต่เขาจะได้อะไรหลังจากนั้น เขาก็จะมีสไตล์ที่ซ้ำกับนักวิจารณ์คนอื่น ๆ ดังนั้นการยึดมั่นในแนวทางนั้นดีกว่าเยอะ
โอเว่น ทำไมชอบเดาสกอร์ประหลาด ๆ แบบที่คนอื่น ๆ ไม่คาดคิดกัน ? … เขาตั้งใจเดาผิดให้เป็นข่าวใช่ไหม ? ใครจะรู้ล่ะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีคนรอดู โอเว่น หน้าแหกทุกสัปดาห์อยู่ดี
ตอนนี้วงการสื่อหรือนักวิจารณ์ฟุตบอลกำลังเปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าจะในอังกฤษหรือทุก ๆ ที่ทั่วโลก นักวิจารณ์จะเป็นใครก็ได้ จะน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือจะพูดความจริงมากแค่ไหน นั่นไม่ใช่ปัญหากับคนดูเลย
Photo : www.jakehumphreyofficial.com
ตามที่กล่าวในข้างต้น คือคนดูมีทางเลือกเยอะเกินไป และพวกเขาก็เบื่อง่ายกับอะไรที่ซ้ำเดิม ดังนั้นพวกเขาก็จะติดตามนักวิจารณ์หลาย ๆ แบบเพื่อให้เหมาะกับสิ่งที่พวกเขาอยากจะดู … วันไหนเครียด ๆ พวกเขาอาจจะอยากดูนักวิจารณ์ที่บ้า ๆ บอ ๆ ด่าแหลกไม่สนใจใคร, วันไหนที่ทีมที่พวกเขาเชียร์เล่นดี พวกเขาก็อาจจะมองหากูรูฟุตบอลที่วิเคราะห์ในแง่บวกจนพวกเขาฟินแบบต่อเนื่อง หรือวันไหนที่ต้องการรู้อะไรแบบจริงจัง พวกเขาก็จะเลือกดูรายการที่วิเคราะห์กันช็อตต่อช็อตแบบใส่ศัพท์เทคนิคมาเต็ม ๆ … นี่แหละคือโลกยุคใหม่ ที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่า คาแร็กเตอร์คือสิ่งที่ผู้ดำเนินรายการต้องหาให้เจอ
พวกเขาต้องตามโลกให้ทัน ต้องอ่านทิศทางว่าทำแบบไหนคนดูถึงจะติดและจดจำสไตล์ของพวกเขาได้ … นี่คือโลกแห่งความบันเทิง และบางครั้งความบันเทิงก็ไม่ได้ต้องการความสมเหตุสมผล พวกเขาแค่อยากจะดูว่า ผู้นำเสนอคอนเทนต์ได้ทำในสิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นหรือไม่ เท่านั้นเอง