‘สาธิต’ เผยแนวโน้มฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นใกล้แตะค่ามาตรฐาน 10 จังหวัดค่าเริ่มเกินแล้ว อาจรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ออก 9 ข้อ สั่งการรองรับ
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการติดตามสถานการณ์พบว่า แนวโน้มค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้ค่าฝุ่นเข้าใกล้ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม.
แต่บางช่วงเวลาบางพื้นที่เริ่มสูงเกินค่ามาตรฐาน ขณะนี้พบ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม จ.สมุทรสงคราม จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และจ.นครพนม สูงสุดอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 64 คือ 69 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อาจจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากความกดอากาศสูง ทำให้สภาพอากาศนิ่งจนเกิดการสะสมของฝุ่นได้ง่าย ร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น ทั้งการเดินทางและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การจัดการทางการเกษตร รวมถึงไฟป่า
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 64 เป็นต้นไป โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ กลาง กรุงเทพตะวันออก และกรุงธนเหนือ ซึ่งมีพื้นที่การจราจรที่หนาแน่น
นายสาธิต กล่าวต่อว่า ตนมีข้อสั่งการถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัดขอให้เตรียมการเฝ้าระวังดูแลและป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1)เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ สื่อสารข้อมูลผลกระทบ การปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อยกระดับความรอบรู้สุขภาพ
2)เตรียมความพร้อมในการดูแลและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงจาก PM 2.5 ในพื้นที่ตนเอง ให้ทีมหมอติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก เตรียมพร้อมจัดบริการสาธารณสุข
โดยให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกมลพิษ ให้คำปรึกษาและการรักษา พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้มีการเปิดคลินิกมลพิษออนไลน์แล้ว 49 แห่งทั่วประเทศ และจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข สถานที่มีกลุ่มเสี่ยง คือ ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ หรือบ้านเรือนประชาชน
3)เตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ โดยเปิดระดับจังหวัดเมื่อค่าฝุ่นสูงเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 3 วัน เปิดระดับเขตสุขภาพ เมื่อเปิดศูนย์ระดับจังหวัดมากกว่า 2 จังหวัด เปิดระดับกรมเมื่อเปิดระดับเขตสุขภาพมากกว่า 2 เขตสุขภาพ และเปิดระดับกระทรวงเมื่อเปิดมากกว่า 3 เขตสุขภาพ โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ทุกวัน
4)เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา และรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากกว่าปกติให้รายงานทันที
รวมถึงเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมในการป้องกันตนเองจากการสัมผัสฝุ่นผ่าน Line Official Account “ONE4U” หรือเว็บแอปพลิเคชัน 4health เนื่องจากมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ไม่ได้ไปโรงพยาบาล ช่วยให้จังหวัดมีข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่
5)รายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ตลอดช่วงเวลาการเฝ้าระวัง ในกรณีสถานการณ์วิกฤต (สีแดง) ให้รายงานไปยังเขตสุขภาพและกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 6)จัดทำหน่วยงานสาธารณสุขให้เป็นต้นแบบองค์กรลดฝุ่น โดยจัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นในสำนักงานและสถานบริการสาธารณสุขในจังหวัด 7)สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และจัดการเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง 8)ให้บูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งสื่อสารความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ทั้งการป้องกันสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการลดฝุ่นละอองต่อไป
9)ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเรื่องการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นโดยขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการทันที