สั่งเชือด "จ่าสิบตํารวจ" สน.ทองหล่อ ออกจากราชการไว้ก่อน "ปืนไว" ทำผิดอาญาเสียเอง

Home » สั่งเชือด "จ่าสิบตํารวจ" สน.ทองหล่อ ออกจากราชการไว้ก่อน "ปืนไว" ทำผิดอาญาเสียเอง
สั่งเชือด "จ่าสิบตํารวจ" สน.ทองหล่อ ออกจากราชการไว้ก่อน "ปืนไว" ทำผิดอาญาเสียเอง

ผบก.น. สั่งให้ “จ่าสิบตํารวจ” สน.ทองหล่อ ยิงปืนขึ้นฟ้าหน้าผับออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย

พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5 มีหนังสือคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 384/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน โดยคำสั่ง ระบุว่า ด้วยจ่าสิบตำรวจ มนตรี มีเดช ผู้บังคับหมู่ งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาล ทองหล่อ มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ที่ 383 /2567 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กรณีกระทำผิดอาญา ประกอบกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า หากจ่าสิบตำรวจ มนตรึ มีเดช ยังคงอยู่ในหน้าที่จะเกิดความเสียหาย แก่ทางราชการ และอาจก่อความไม่สงบสุขแก่ประชาชน

จึงมีเหตุผลให้พักราชการได้ ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) คือ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญาในเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติหรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ โดยผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำผิดอาญาเสียเอง ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนพิจารณาทางวินัยนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว

ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 105 มาตรา 131 และมาตรา 179 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 8 จึงให้ จ่าสิบตำรวจ มนตรี มีเดช ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัยทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 141 ภายใน 30 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง และประสงค์โต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ให้ทำห้ทำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 90 วันนับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ สั่ง ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2567 ลงนามโดย พล.ต.ต.วิทวัฒน์ ชินคำ ผบก.น.5

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ