สั่งรื้อบ้านตากอากาศหรู 20ล้าน ริมทะเลสาบเขื่อนศรีนครินทร์ จ่อคิวยึดอีก7แห่ง มูลค่า100ล้าน หลังพบมีการบุกรุกพื้นที่ป่า เขตอุทยานแห่งชาติ
วันที่ 18 ก.พ.2565 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตาม นโยบาย ทส.ยกกำลังเอ็กซ์ ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาน ให้ดำเนินการปราบปรามขั้นเด็ดขาดกับนายทุนผู้บุกรุกป่า แล้วยึดคืนกลับมาฟื้นฟูให้เป็นผืนป่าธรรมชาติดังเดิม นั้น
ล่าสุดตนได้รับรายงานจากนายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ร่วม 15 นาย ได้ดำเนินการติดประกาศแจ้งเตือนสั่งรื้อบ้านพักตากอากาศหรูที่ริมทะเลสาบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พื้นที่ป่าบ้านหาดแตง หมู่ 8 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ เนื่องจากสร้างบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดในคดี ตาม ปจว. ข้อ 3 เวลา 11.00 น. คดีอาญาที่ 111/2557 ยึดทรัพย์ที่ 43/2557 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2557 รวมพื้นที่ที่ถูกบุกรุก จำนวน 17-0-81 ไร่ ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างลักษณะรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศลักษณะใหม่ จำนวน 10 รายการ
ในคดีนี้มีผู้กระทำผิด 1 ราย คือ น.ส.พัชรินทร์ (สงวนนามสกุล) ซึ่งมีสามีเป็นชาวต่างชาติ มาบุกรุกสร้างบ้านพักตากอากาศในอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบ ตรวจยึดดำเนินคดีและนำส่งพนักงานสอบสวนสภ.ด่านแม่แฉลบ
ซึ่งศาลจังหวัดกาญจนบุรี มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขดำ 3970/2560 และหมายเลขแดงที่ 5730/2560 พิพากษาว่า มีความผิดตาม พ.ร.บอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1)(2)(15)(24),24,27 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 24,200 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ริบของกลางและให้จำเลยรื้อบ้านพัก อาคารตามฟ้องออกไปให้พ้นเขตอุทยานแห่งชาติ
ในส่วนคดีแพ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ยื่นฟ้องค่าเสียหายกรณีบุกรุกพื้นที่ ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 664/2560 และศาลได้นัดไกล่เกลี่ย และน.ส.พัชรินทร์ ได้ตกลงและชำระเงินให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท สำหรับคดีทางปกครอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกคำสั่งที่ 77/2557 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2557 ให้ผู้กระทำผิดทำลายหรือสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมออกไปให้พ้นอุทยานฯ
หรือทำให้สิ่งนั้นกลับสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ตามความมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้กระทำผิดรื้อถอน ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ผู้กระทำผิดมิได้ใช้สิทธิ์ตามกระบวนการทางปกครองหรือยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในระยะเวลากำหนดแต่อย่างใด
ดังนั้นอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จึงได้มีประกาศอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ฉบับลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 และมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังน.ส.พัชรินทร์ ให้ดำเนินการทำลายหรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง หรือสิ่งอื่นใด ที่ผิดไปจากเดิมออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ ให้เสร็จสิ้น ภายใน 30 วัน (วันที่ 18 มีนาคม 2565) หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเจ้าของยังไม่ดำเนินการรื้อถอน
พนักงานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์จะเข้ามาดำเนินการทำลายรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปให้พ้นเขตอุทยานฯด้วยตนเอง โดยผู้กระทำผิด จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเสียเองเป็นเงิน 366,666.80 บาท พร้อมทั้งต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15/ปี ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
นายนิพนธ์ฯ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า ตนได้ลงนามในคำสั่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ที่ 378/2564 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคดีปกครอง คดีอาญา ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง แต่ยังไม่ดำเนินการรื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง ที่มีลักษณะเป็นที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ และแพรีสอร์ท
โดยมีนายสันติ ศิริเลิศ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร เป็นประธาน และผู้อำนวยการส่วนต่างๆเป็นกรรมการ ในการตรวจสอบคดีบุกรุก ยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า โดยเฉพาะของนายทุนที่เป็นที่พักอาศัย โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ หรือแพรีสอร์ท ในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพื่อที่จะตรวจสอบรายละเอียดในแต่ละคดี และจะดำเนินการสั่งทุบรื้อถอนออกไปให้พ้นพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ทั้งนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังมีคดีแปลงตรวจยึดของนายทุนที่มีลักษณะเป็นรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์จะต้องดำเนินการรื้อถอน ทุบทิ้ง ตามกระบวนการของกฎหมาย อีกจำนวน 7 แปลง ได้แก่
1.พื้นที่ตรวจยึดคดีบ้านสามหลัง คดีราย น.ส. ปาจารีย์ กับพวก 3 คน พื้นที่ตรวจยึด 90-0-00 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักตากอากาศ 9 รายการ คดีตามคำพิพากษา ศาลฎีกา ที่ 14817/2556
2. พื้นที่ตรวจยึด รีสอร์ต ภูฟ้าอิงน้ำ คดีราย นายประชา พื้นที่ตรวจยึด 19-0-00 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักตากอากาศ ลักษณะรีสอร์ต จำนวน 25 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 3 เวลา 11.30 น.คดีอาญาที่ 39/2551
3. .พื้นที่ตรวจยึด ARK รีสอร์ต คดีรายนางอลิสา พื้นที่ตรวจยึด 35-1-60 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักตากอากาศ ลักษณะรีสอร์ท จำนวน 11 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 6 เวลา 17.40 น.คดีอาญาที่ 106/2557 ยึดทรัพย์ที่ 39/2557
4. พื้นที่ตรวจยึดบ้านพักตากอากาศหรูริมเขื่อน คดีรายนายสุเทพ พื้นที่ตรวจยึด 14-2-57 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักตากอากาศ ลักษณะรีสอร์ท จำนวน 22 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 10 เวลา 21.00 น.คดีอาญาที่ 108/2557 ยึดทรัพย์ที่ 49/2557
5. พื้นที่ตรวจยึด KPS รีสอร์ต คดีรายนายวิทยา พื้นที่ตรวจยึด 12-2-83 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง บ้านพักตากอากาศ ลักษณะรีสอร์ต จำนวน 9 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 5 เวลา 16.50 น.คดีอาญาที่ 105/2557
6. พื้นที่ตรวจยึดลุงเทพ โฮมสเตย์ คดีรายนายสุเทพ พื้นที่ตรวจยึด 6-0-77 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง ลักษณะรีสอร์ท จำนวน 16 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 6 เวลา 10.50 น.คดีอาญาที่ 138/2560
และ 7. พื้นที่ตรวจยึดบ้านพักตากอากาศ คดีรายนายสายชล พื้นที่ตรวจยึด 16-0-80 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง ลักษณะบ้านพักตากอากาศ จำนวน 6 รายการ คดีตาม ปจว. ข้อ 2 เวลา 16.30 น.คดีอาญาที่ 101/2562
ซึ่งตอนนี้สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล ทางกฎหมายในการดำเนินการสั่งรื้อถอน หรือพิจารณาเข้ารื้อถอนเองในคดีแต่ละแปลง ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามกฎหมาย สำหรับพ้นที่ทั้ง 7 แห่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 100 ล้านบาท
ดังนั้นจึงขอฝากไปยังนายทุนหรือเจ้าของแปลงบุกรุกข้างต้น หากคดีดังกล่าวผู้กระทำผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสียเอง ทางกรมอุทยานฯ จะไม่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าดำเนินการในการรื้อถอน และทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเจ้าของยังสามารถนำวัสดุไปใช้ประโยชน์ต่อได้
ทั้งนี้แม้ปัจจุบันกรมอุทยานฯจะมีแนวทางผ่อนผันให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 แต่พื้นที่แปลงตรวจยึดดำเนินคดี และเป็นของนายทุนที่มิใช่ราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทมาก่อน ผู้ครอบครองจะไม่ได้รับสิทธิใดๆจากกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด”นายนิพนธ์ เผย