สั่งประหารตัวเอง : ย้อนรอยปีสุดท้ายสุดช็อกของ "คล็อปป์" กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

Home » สั่งประหารตัวเอง : ย้อนรอยปีสุดท้ายสุดช็อกของ "คล็อปป์" กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์



สั่งประหารตัวเอง : ย้อนรอยปีสุดท้ายสุดช็อกของ "คล็อปป์" กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

ว่ากันว่าอดีตมีไว้ให้เรียนรู้ และอดีตที่มีค่าจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คู่ควรแก่การศึกษา..

หากเป็นเช่นนั้น เรื่องราวในปีสุดท้ายของ เยอร์เกน คล็อปป์ กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คงเป็นเรื่องที่ควรนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะมีความคับคล้ายคับคลากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ณ ปัจจุบัน ที่สโมสร ลิเวอร์พูล

คล็อปป์ คือทุกอย่างที่ดอร์ทมุนด์ มีคำกล่าวที่ว่าเสียนักเตะคนไหนไปก็ได้ แต่ห้ามเสียเขาไปเด็ดขาด … แต่คนที่เป็นทุกอย่างก็ประกาศลาออก เพราะความล้มเหลวที่แม้แต่เจ้าตัวก็ยังทนไม่ได้ จนต้องแสดงความรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยตัวเอง

เกิดอะไรขึ้นกับชายที่แฟนบอล นักเตะ และผู้บริหารของ ดอร์ทมุนด์ รักที่สุด.. ทำไมเขาจึงต้องประกาศอำลา ? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

สร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไปนานโขกว่าที่ เยอร์เกน คล็อปป์ จะเข้ามาเป็นเฮดโค้ชของ ดอร์ทมุนด์ สโมสรแห่งนี้ได้เจอกับการเรียนรู้ครั้งใหญ่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากพวกเขาพยายามจะวัดรอยเท้ากับ บาเยิร์น มิวนิค มหาอำนาจของประเทศ ทว่าที่สุดแล้วพวกเขาชิงความยิ่งใหญ่มาจากเสือใต้ไม่ได้ และการทุ่มเงินก้อนใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นไม่สามารถงอกเงยเป็นกำไร แต่กลับกลายเป็นหนี้ที่ต้องตามเช็ดตามล้างอย่างไม่มีทีท่าจะจบลงง่าย ๆ

1

พวกเขาสามารถเอาชนะ บาเยิร์น ได้ก็จริง ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาล 2001-02 แต่หลังจากนั้นปัญหาคือความต่อเนื่อง พวกเขาเริ่มยืนระยะไม่ไหว การแย่งชิงครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์แค่ชั่วคราวที่ไม่ยั่งยืน สุดท้าย ดอร์ทมุนด์ก็แพ้ภัยตัวเอง ผลงานตกต่ำ ติดหนี้ค้างชำระมากมาย และสุดท้ายพวกเขาเกือบล้มละลาย 

“เราเกือบจะล้มละลายแล้วจริง ๆ ในเวลานั้น มันใกล้เคียงกับคำนั้นมาก ๆ” มิชาเอล ซอร์ก ผอ. กีฬาของดอร์ทมุนด์ ที่ครั้งหนึ่งคือตำนานนักเตะของทีม ว่าไว้ในช่วงปี 2004 

ช่วงระยะเวลาแห่งความตกต่ำของ ดอร์ทมุนด์ ลากยาวตั้งแต่ปี 2003 จนกระทั่งปี 2008 ที่พวกเขาตัดสินใจดึงกุนซือหนุ่มจากสโมสร ไมนซ์ อย่าง เยอร์เกน คล็อปป์ เข้ามา จากนั้นช่วงเวลาแห่งการสร้างรากฐานก็เกิดขึ้น 

คล็อปป์ และทีมงานซื้อขาย ทำในสิ่งที่ตอบโจทย์ทุกอย่าง ดึงนักเตะโนเนมที่มีประสิทธิภาพ ปั้นนักเตะดาวรุ่งในทีม รีดศักยภาพของทุกคนออกมาให้ได้อย่างเต็มที่ และจัดการพวกนักเตะที่ใช้การไม่ได้ ค่าเหนื่อยแพง ทัศนคติไม่ผ่าน ออกไปจากทีมจนหมดภายในเวลาไม่นาน … สิ่งเหล่านี้คือโครงสร้างที่หากสร้างขึ้นมาแบบถูกวิธีแล้ว มันจะแข็งแกร่ง จนสามารถต่อเติมให้ใหญ่โตและสวยงามขึ้นไปอีกได้ในอนาคต

2

คล็อปป์ มีแนวคิดการบริหารองค์กรแบบผู้นำที่แท้จริง ไม้อ่อนกับนักเตะที่พยายามแล้วแต่ยังไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ไม้แข็งกับพวกที่ควบคุมไม่ได้และไม่เคารพการทำงานในฐานะทีม และไม้นวมในการสร้างนักเตะธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นนักเตะที่ดีได้ภายในเวลาอันสั้น นอกจากนี้ เขายังปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานในทีม ให้ทุกฝ่ายผนวกเข้าด้วยกัน ใส่ใจการทำงานของกันและกันให้เต็มที่ กล้าพูดในสิ่งที่ขาด และกล้ากล่าวชื่นชมในยามที่มีคนทำหน้าที่ได้ดี … หากจะให้อธิบายถึงเหตุผลที่ คล็อปป์ รวม ดอร์ทมุนด์ เป็นหนึ่งได้ คงจะประมาณนี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ 1 ในกองหน้าที่ดีที่สุดแห่งยุคนี้อย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ที่ คล็อปป์ ดึงตัวเขามาจาก เลซ พอซนัน ทีมในลีกโปแลนด์ … ปีสองปีแรก เลวานดอฟสกี มีปัญหาการปรับตัว ทำให้ฟอร์มการเล่นไม่ดีเท่าที่ควร แต่สิ่งที่ดึงเขากลับมาและกลายเป็น “หมายเลข 9” ที่เด็ดขาดที่สุดคนหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ในองค์กรที่ทุกคนเชื่อใจกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจาก เยอร์เกน คล็อปป์ ที่ไม่เคยสูญเสียศรัทธาในตัวเขาเลย

“ในช่วงฤดูกาลที่ 2 ตอนนั้นผมเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับฟอร์มการเล่นของผม และผมก็รู้สึกว่าคล็อปป์ต้องการอะไรบางอย่างจากผม ผมได้เข้าไปคุยกับคล็อปป์แบบตรงไปตรงมาว่า เขาต้องการอะไรจากตัวของผม คุณคาดหวังอะไรจากผมบ้าง”

3

“ในวันนั้น ผมเองก็จำได้ไม่หมดสักทีเดียว เพราะภาษาเยอรมันผมไม่ได้เก่งขนาดนั้น แต่ผมพอจะจับใจความสำคัญและภาษากายที่เขาต้องการจะสื่อให้ผมได้รับรู้ และนั่นคือการสนทนาที่ดีมาก ๆ สำหรับเรา”

“ตอนนี้ผมคิดถึงการพูดคุยในวันนั้นระหว่างผมกับคล็อปป์ มันเหมือนกับสิ่งที่ผมคาดหวังว่าจะได้จากพ่อของผม ซึ่งผมไม่ได้รับรู้ความรู้สึกแบบนี้มานานหลายปีแล้ว” เลวานดอฟสกี เผยถึงการดูแลนักเตะและทีมงานของ คล็อปป์ เมื่อครั้งที่ร่วมงานกันที่ ดอร์ทมุนด์ ก่อนจะเสริมว่า

“อีกเรื่องที่ผมรู้สึกคือ คล็อปป์ เหมือนครูใจร้ายที่คอยขัดเกลาให้นักเรียนเป็นคนดี เขาเป็นคนที่เข้มงวดมาก ๆ กดดันและผลักดันคุณสุด ๆ”
 
สิ่งที่ เลวานดอฟสกี กล่าว ทำให้เราสามารถนึกภาพบรรยากาศในทีมออก ทุกคนเชื่อใจกัน มีเป้าหมายตรงกัน และพยายามจะก้าวไปถึงจุดสูงด้วยด้วยกัน และนั่นคือเหตุผลที่ คล็อปป์ พา ดอร์ทมุนด์ คว้าแชมป์ บุนเดสลีกา 2 สมัย, เดเอฟเบ โพคาล 1 สมัย และรองแชมป์ยุโรปอีก 1 สมัย … แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการที่เขาสร้างแบรนด์ให้ ดอร์ทมุนด์ กลายเป็น 1 ในยอดทีมของโลก ณ เวลานั้น และเหนือสิ่งอื่นใด นักเตะในทีมของเขากลายเป็นยอดนักเตะกันอย่างพร้อมเพรียง

นั่นคือสิ่งที่เขาสร้าง ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ ดอร์ทมุนด์ ไม่มีใครไม่รัก คล็อปป์ หากย้อนกลับไปตอนนั้น และบอกว่าอีกไม่นาน เยอร์เกน คล็อปป์ จะทำทีมย่ำแย่ และต้องหนีตกชั้นหัวซุกหัวซุน จนตัวเองต้องลาออก ใครคนนั้นจะต้องถูกมองว่า “บ้า” แน่นอน … ทว่านี่คือโลกของฟุตบอล ไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ เพราะหลังจากเข้าสู่ฤดูกาล 2014-15 สิ่งที่หลายคนมองว่า “บ้า” กลับเวียนมาเกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ 

4

หากจะถามว่าฤดูกาล 2014-15 ของ ดอร์ทมุนด์ ย่ำแย่ขนาดไหน ก็คงต้องบอกว่า ย่ำแย่แบบเหลือเชื่อมาก ๆ จากทีมที่ถูกตีค่ามาตรฐานไว้สูง ไม่จบด้วยแชมป์ก็รองแชมป์ ทว่าหลังจากเริ่มฤดูกาลได้ 10 เกมแรก ดอร์ทมุนด์ ตกไปอยู่อันดับที่ 17 ของตาราง จากนั้นไม่นานก็ตกไปเป็นทีมบ๊วย อันดับที่ 18 …  นี่คือเรื่องที่ประหลาด และไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น จน คล็อปป์ ประกาศว่า “หลังจบฤดูกาลนี้ ผมจะลาออก” … เกิดอะไรขึ้นในฤดูกาลที่บั่นทอน เยอร์เกน คล็อปป์ ได้ขนาดนั้นกันแน่?

“เกเกนเพรสซิ่ง” เสื่อมมนต์ขลัง 

หลังจากวนเวียนอยู่ในแดนสวรรค์มาหลายปี เมื่อฤดูกาล 2014-15 มาถึง ดอร์ทมุนด์ และ เยอร์เกน คล็อปป์ ต้องเจอกับสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหาคำตอบได้ นั่นคือผลงานของทีมตกต่ำลงอย่างน่าเหลือเชื่อ อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผ่านเกมลีกไปเกือบครึ่งฤดูกาล พวกเขาเป็นบ๊วยของบุนเดสลีกา … นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอน  ซึ่งเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีต มันคล้าย ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ลิเวอร์พูล ที่มี เยอร์เกน คล็อปป์ เป็นกุนซือในเวลานี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

“เกเกนเพรสซิ่ง” หรือระบบการเล่นที่เล่นเกมรับและเกมรุกทั้งทีม นักเตะของ คล็อปป์ จะช่วยกันแย่งวิ่งไล่แย่งบอลกลับเมื่อทีมเป็นฝ่ายเสียบอล ปรัชญาของ คล็อปป์ คือความเชื่อที่ว่า ไม่มีทีมไหนสามารถขึ้นเกมได้ง่าย ๆ ถ้าถูกไล่ล่าพร้อมกันแบบทั้งทีม  

5

ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันคือวิธีการที่มีประสิทธิภาพและทำให้ทีมได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนมีข้อแม้ เกเกนเพรสซิ่ง จะมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อนักเตะที่ลงสนามมีความฟิตในระดับสูง มีความเข้าใจแท็คติก และทิศทางการวิ่งในแต่ละครั้ง เพราะนี่คือระบบที่ต้องเคลื่อนที่พร้อมกันทั้งหมด หากใครสักคนหยุด หรือวิ่งผิดทาง ช่องก็จะเปิด และมันก็จะรวนไปโดยปริยาย

อธิบายให้เห็นภาพ คือนี่คือสไตล์การเล่นที่ต้องอาศัยพละกำลังและความฟิตอย่างสูงที่สุด และสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ดอร์ทมุนด์ ในฤดูกาล 2014-15 คือนักเตะพวกเขาไม่ได้ฟิตขนาดนั้น นักเตะตัวหลักหลายคนมีอาการบาดเจ็บรบกวนตลอดทั้งปี โดยเว็บไซต์อย่าง Transfermarkt ที่จดบันทึกสถิติดังกล่าวเอาไว้เผยว่า ดอร์ทมุนด์ มีนักเตะบาดเจ็บทั้งหมด 17 คนในฤดูกาลดังกล่าว และมีหลายคนที่เจ็บซ้ำหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะตัวหลักอย่าง มาร์โก รอยส์ สตาร์เบอร์ 1 เจ็บระยะเวลารวมกันนานถึง 3 เดือน (และต้องไม่ลืมด้วยว่าก่อนหน้านั้น เจ้าตัวเจ็บจนอดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 กับทีมชาติเยอรมันแบบน่าเสียดาย), นูริ ซาฮิน เจ็บไปครึ่งปี, มัตส์ ฮุมเมิลส์ กัปตันทีม เจ็บ 1 เดือน, ลูคัส พิสซ์เช็ก เจ็บ 2 เดือน, เฮนริค มคิตาร์ยาน เจ็บ 1 เดือนครึ่ง และ เอริค ดวร์ม เจ็บไปอีกเกือบ ๆ 2 เดือน 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะที่ ดอร์ทมุนด์ ในเวลานั้นทำให้ เกเกนเพรสซิ่ง อันเลื่องชื่อต้องตะกุกตะกัก หาความเพอร์เฟกต์แบบที่เคยไม่ได้ คล็อปป์ พยายามแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าในแต่ละเกม แต่ผลงานของ ดอร์ทมุนด์ แย่มากจนถึงขั้นที่ว่าผ่านครึ่งฤดูกาลพวกเขาอยู่ในโซนตกชั้น และเล่นมาถึงนัดที่ 18 ของฤดูกาล พวกเขากลายเป็นบ๊วยของลีก คล็อปป์ ให้เหตุผลว่าสภาพจิตใจของทีมแย่มาก ในแต่ละเกมพวกเขาจะมีจุดผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ความผิดพลาดส่วนบุคคลที่เวียนคิวกันไป จนที่สุดแล้วมันกลายเป็นการขาดความมั่นใจ การพลาดนิดเดียว แต่ผลลัพธ์คือแพ้บ่อย ๆ ยิ่งทำให้ทีมหาโมเมนตัมกลับมาสู่ฟอร์มที่เคยดุดันไม่ได้ 

6

“ช่วงครึ่งฤดูกาลแรกถือเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลย มันเป็นสิ่งที่มาเยือนแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย สะสมกลายเป็นความเครียดครั้งใหญ่ ความพ่ายแพ้ทำให้เราต้องกลับมานั่งตั้งสติและรีบูตกันใหม่อีกครั้ง เราควรจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเอาตัวตนของเรากลับมาใช้ในสนามให้ได้ ไม่เช่นนั้นชัยชนะจะไม่มีทางกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง” คล็อปป์ กล่าวในช่วงพักครึ่งซีซั่น 

การแพ้ติด ๆ กัน และปัญหานักเตะไม่พร้อมแบบไม่จบไม่สิ้น จนได้ผลลัพธ์ที่แม้แต่ตัวเองไม่อยากจะเชื่อ ไม่ได้ส่งผลต่อนักเตะอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ตัวของ คล็อปป์ เองที่เคยเป็นคนที่มีเสน่ห์ในการให้สัมภาษณ์ก่อนเกมแต่ละครั้ง ก็ยังไม่เป็นตัวเอง

ก่อนเกมพบกับ พาเดอร์บอน คล็อปป์ โดนนักข่าวถามถึงเรื่องที่ว่า ทำไมสไตล์การเล่นของทีมเขาจึงไม่เหมือนเดิม เป็นเพราะทีมชุดนี้ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งตามปกติแล้ว คล็อปป์ จะตอบกลับด้วยคำพูดที่มีวาทะศิลป์เฉียบขาด แต่การแพ้บ่อย ๆ และโดนจี้จุด ทำให้เขาถึงกับตะคอกใส่นักข่าวเยอรมัน ณ เวลานั้น แบบที่เขาไม่เคยเป็นมาก่อน 

“ผมไม่ควรต้องมานั่งตอบคำถามโง่ๆของคุณแบบนี้เลยด้วยซ้ำไป (I will even answer this stupid question.) ถ้าคุณจะบอกว่าเราโดนคู่แข่งจับทางได้ ก็แล้วทำไมปีสองปีก่อน ไม่เห็นมีใครมาบอกว่าพวกเขาจับทางเราได้บ้างล่ะ ?” คล็อปป์ ว่าเช่นนั้น 

7

ชัดเจนว่าเมื่อขาดนักเตะที่มีประสิทธิภาพ เกเกนเพรสซิ่ง และฟุตบอลของ เยอร์เกน คล็อปป์ ก็ไม่ได้ไร้เทียมทานเหมือนเก่า การเผชิญหน้ากับความผิดหวังแบบรุนแรง และผลการแข่งขันที่ช็อกเกินกว่าจะรับมือติด ๆ กัน ทำให้ความมั่นใจแทบไม่เหลือ และนั่นคือเหตุผลแรกที่ คล็อปป์ ต้องเผชิญกับ “ปีที่เขาไม่อยากจะเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น”

คนเดียวไม่พอ..

อย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้น คล็อปป์ คือคนที่ลงแรงลงกำลังเต็มพิกัดในการสร้างทีมขึ้นมาทีมหนึ่ง เขาทำให้ ดอร์ทมุนด์ กลายเป็นทีมระดับท็อปของโลก และเป็นทีมที่มียอดรายรับติดอันดับท็อป 10 ของยุโรป แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เขาควรจะต้องมีของดีในมือให้ใช้ เขาต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่นในเรื่องบางเรื่องที่เขาตัดสินใจเองไม่ได้ 

ในฤดูกาล 2014-15 ดอร์ทมุนด์ เสียกองหน้าคนที่เก่งที่สุดในทีมอย่าง เลวานดอฟสกี ให้กับ บาเยิร์น มิวนิค ด้วยเหตุผลเพราะไม่สามารถสู้ค่าเหนื่อย และโอกาสความสำเร็จที่เสือใต้มอบให้ “เลวาน” ได้ พวกเขาจึงต้องเสีย “เอซ” ของทีมไปแบบฟรี ๆ และต้องมานั่งหาตัวแทนใหม่ ซึ่งในปีนั้น พวกเขาไปได้ตัว ชิโร อิมโมบิเล ดาวซัลโวกัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี จาก โตริโน และ อาเดรียน รามอส กองหน้าจาก แฮร์ธา เบอร์ลิน มาประสานงานกับ ปิแอร์-เอเมอริก โอบาเมยอง ที่อยู่กับทีมก่อนหน้า ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่า ผู้มาใหม่ ไม่มีใครทำหน้าที่ได้แม้ครึ่งเท่าที่ เลวานดอฟสกี ทำไว้ 

8

สิ่งที่ คล็อปป์ ปวดใจแต่อาจจะไม่พูด คือเขาทำทีมจนมาถึงขนาดนี้แล้ว หากมีการลงทุนเพิ่มเติม เพิ่มกระสุนดินดำ (เม็ดเงิน) ให้กับเขา เขาสามารถทำให้ ดอร์ทมุนด์ โตขึ้นไปยิ่งกว่านี้ได้ แต่ปัญหาคือปรัชญาทีมของ ดอร์ทมุนด์ ที่เคยเจ็บมาจากอดีตทำให้พวกเขามีบทเรียน นั่นคือนักเตะทุกคนมีราคาที่เหมาะสม แม้จะเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในทีม แต่ถ้าได้ราคางาม ๆ พวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะขายและเอาปั้นใหม่ 

เลวานดอฟสกี ไม่ใช่คนแรกที่ย้ายออกจาก ดอร์ทมุนด์ ไปในขณะเป็นที่พึ่งอันดับ 1 ของทีม ในปี 2013 พวกเขาเสีย มาริโอ เกิตเซ อีกหนึ่งเอซของทีมให้กับ บาเยิร์น มิวนิค (แต่รอบนั้นพวกเขาได้เงินค่าตัว) ซึ่ง คล็อปป์ ก็ทำได้เพียงสัมภาษณ์ว่า “ผมไม่สามารถพูดสเปน และทำให้ตัวเล็กลงกว่านี้ 15 เซนติเมตรได้” โดยเป็นการสื่อนัย ๆ ว่า ยังไงนักเตะก็อยากไปอยู่กับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ที่ บาเยิร์น มิวนิค ที่มที่มีปรัชญาการทำทีมต่างกับ ดอร์ทมุนด์ สิ้นเชิง นั่นคือการสร้างทีมที่เป็นเบอร์ 1 ของโลก  

นอกจาก เลวานดอฟสกี และ เกิตเซ แล้ว คล็อปป์ ยังเสียตัวหลักเพราะขายได้ราคาบ่อย ๆ นักเตะอย่าง ชินจิ คางาวะ และ นูริ ซาฮิน ที่เป็นหัวใจหลักในทีมชุดแชมป์ลีก 2 สมัยซ้อนเมื่อปี 2011-12 ก็โดนขายออกจากทีมไปเช่นกัน แม้ทั้งสองจะกลับมาอยู่กับทีมในซีซั่นแห่งหายนะก็ตาม

9

เดิมทีม คล็อปป์ ก็พอจะหาตัวแทนใหม่ ๆ เข้ามาได้ แต่เมื่อมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นบ่อย ๆ บางครั้งการซื้อนักเตะใหม่ก็เหมือนการซื้อหวย ซึ่งในระยะหลัง ดอร์ทมุนด์ ซื้อผิดเบอร์เสมอ อิมโมบิเล, รามอส, เควิน คัมเพิล, มิลอส โยยิช และอาจรวมถึง เฮนริค มคิตาร์ยาน ก็เป็นคนที่เข้ามาอยู่กับ ดอร์ทมุนด์ ในยุคของ คล็อปป์ และไม่ได้มีผลงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเลยสักคน การปั้นดินเป็นดาวนั้นเสื่อมมนต์ขลังไปพร้อม ๆ กับระบบ เกเกนเพรสซิ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้งสองสิ่งนี้ส่งผลซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน เมื่อขาดนักเตะที่ดี ทีมก็เล่นไม่ได้ตามแผน และเมื่อเล่นไม่ได้ตามแผน ก็ไม่ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ ..

“การซื้อตัวของ ดอร์ทมุนด์ ในปีนั้นไม่สามารถทำให้ช่องว่างระหว่างพวกเขากับ บาเยิร์น ลดลงไปได้เลย มันชัดเจนที่สุดแล้วว่าไม่มีใครทาบชั้นกับที่ เลวานดอฟสกี ทำไว้ได้ อิมโมบิเล หรือ รามอส อาจจะพอยิงได้นิด ๆ หน่อย ๆ แต่พวกเขาไม่มีอิทธิพลในเกมเท่ากับ เลวานดอฟสกี เลยสักคน” Stefan Bienkowski นักเขียนสายฟุตบอลเยอรมันของ Outside of the Boot บอกสิ่งที่เขามองเห็นในปีนั้น 

เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ดอร์ทมุนด์ ที่เปรียบกับผู้ไล่ตาม กลับมอบจุดแข็งของตัวเองให้กับผู้นำอย่าง บาเยิร์น มิวนิค มันทำให้พวกเขาอ่อนลง และทำให้คู่แข่งเก่งขึ้น จากนั้นช่องว่างก็ใหญ่ขึ้น การขาดนักเตะที่เป็นเบอร์ 1 ของทีมส่งผลร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิดไว้ ซึ่งจะว่าไป มันก็คล้ายกับที่ ลิเวอร์พูล ไม่มีตัวแทน เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ในเวลานี้ …     

คล็อปป์ แค่ต้องการคนที่สนับสนุนเขาโดยแท้จริง ในยามที่เขาต้องการอะไร เขาควรจะต้องได้สิ่งนั้น อย่างไรก็ตาม เขาไม่ใช่คนงอแงอะไร เขาเคยบอกว่ามีเท่าไหร่ใช้เท่านั้นอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้หรอกว่า ความท้อใจสำหรับการวิ่งไล่ความเพอร์เฟกต์ที่ตามหา มันส่งผลต่อเขาไม่น้อย เมื่อเขาใกล้จะถึงและแค่เอื้อมมือไปจับ เขาก็มักจะถูกดึงกลับมาสู่โลกแห่งความจริงทุกครั้งไป

ถึงเวลาต้องพูด 

ดอร์ทมุนด์ ในเวลานั้นมีปัญหามากมายเกิดขึ้น คล็อปป์ บอกเสมอว่าเขาไม่เหนื่อยกับงานที่ทำ แต่ใครก็รู้ว่าเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ว่าจะในการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง และฟุตบอลของเขาที่บ่งบอกถึงความถดถอยได้ชัดขึ้นในแต่ละเกม

10

Sportskeeda เว็บไซต์กีฬาดังบอกว่า “คล็อปป์ หมดหวังกับ ดอร์ทมุนด์ แล้ว เขากำลังกลืนไม่เข้าคายไม่อออก ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่เขาแสดงออกขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองเป็นมาตลอด เขาเคยบอกว่าแฟน ๆ ที่ต้องการแค่ความสำเร็จควรหันไปเชียร์ บาเยิร์น มิวนิค แทน เขาบอกอีกว่าเขาจะไม่ลาออก เขาจะแสดงความรับผิชอบ แต่เขาจะทำยังไงล่ะ ? ขอให้แฟนสนับสนุนทีมต่อไป ทั้ง ๆ ที่บอกให้ไปเชียร์อีกทีมอย่างนั้นหรือ” 

คล็อปป์ พูดหลายครั้งว่าเขาไม่ใช่คนท้อแท้กับงานที่ทำ เป็นนัยว่าเขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่งและทำให้ทีมกลับมาจุดเดิมให้ได้ แต่สุดท้ายปัญหาที่มีมันเยอะเกินไป ความคาดหวังที่สูงขึ้นทุกวัน ปัญหาฟอร์มการเล่นที่แก้ไขเท่าไหร่ก็ไม่ดีขึ้น ห้องแต่งตัวที่เริ่มมีปัญหา กัปตันทีมอย่าง ฮุมเมิลส์ ทะเลาะกับซีอีโออย่าง ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เก หรือแม้แต่นักเตะตัวหลักในทีม ซึ่งมักจะออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ท้อแท้สิ้นหวังหลังจากความพ่ายแพ้ในแต่ละเกม และที่สำคัญที่สุด คือสโมสรจะไม่มีทางไปกู้เงินธนาคารก้อนใหญ่เพื่อให้เขาเสริมทีมกลับไปอยู่ในจุดที่แฟน ๆ คาดหวัง … สุดท้ายเมื่อฤดูกาลใกล้จะจบลง คล็อปป์ ก็เอ่ยคำ ๆ นี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง เพราะเขามั่นใจว่าสโมสรแห่งนี้จะไม่ไล่เขาที่เป็นเหมือนฮีโร่ของทีมออกแน่นอน … เขาประกาศลาออก โดยจะมีผลทันทีเมื่อซีซั่นจบลง 

“ผมพูดเสมอว่า วันใดที่ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เพอร์เฟกต์สำหรับสโมสรแห่งนี้ ผมจะตัดสินใจเป็นคนที่เดินจากไปเอง ผมคิดเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว และผมไม่มั่นใจในสิ่งนั้นได้อีกต่อไป”

“ผมรู้ดีว่าความสัมพันธ์ของผมกับสโมสรแห่งนี้ แนบแน่นและไว้ใจซึ่งกันและกันเกินกว่าที่พวกเขาจะเอ่ยปากไล่ออก ดังนั้นมันจึงเป็นหน้าที่ของผมเองที่ต้องพูดคำนี้ออกมาให้สโมสรได้ฟังด้วยตัวเอง” คล็อปป์ ยืนยันด้วยตนเอง

11

ขณะที่ ดอร์ทมุนด์ ก็รับจดหมายลาออกของเขาด้วยความเต็มใจ ทั้งสองฝั่งจบกันด้วยความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่และแน่นแฟ้นเหมือนเดิม แม้ที่สุดแล้วจะมีรอยด่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น ทว่าการลาออกของ คล็อปป์ เป็นการหยุดความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นทั้งหมดลงได้อย่างเด็ดขาด หลังจากนั้นไม่นาน เขาทำผลงานสั่งลาด้วยการพาทีมจบในอันดับ 7 ของตาราง และเกือบจะคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล สั่งลา ทว่าถูก โวล์ฟสบวร์ก หยุดไว้ในรอบชิงชนะเลิศ … ฉากจบอาจไม่งดงาม แต่ คล็อปป์ ปิดตำนานกับ ดอร์ทมุนด์ ลงอย่างยิ่งใหญ่ และลงจากตำแหน่งอย่างสมเกียรติ

ประวัติศาสตร์ที่ควรเรียนรู้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นอดีตที่เกิดขึ้น แต่อย่าลืมว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกินที่มันคับคล้ายคับคลากับสิ่งที่ คล็อปป์ และ ลิเวอร์พูล กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

ไม่ว่าจะเกเกนเพรสซิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม เพราะปัญหาคุณภาพนักเตะที่ไม่เคยฟูลทีมเลยสักครั้ง การขาดงบประมาณในการเสริมนักเตะที่ คล็อปป์ ต้องการ และสามารถแก้ไขปัญหาของทีมได้จริง ๆ พวกเขาได้ โอซาน คาบัก และ เบน เดวีส์ มาเสริมเกมรับในช่วงกลางซีซั่น แทน ฟาน ไดจ์ค ที่เจ็บยาวไป ซึ่งมันไม่แตกต่างกับการได้ อิมโมบิเล หรือ รามอส เข้ามาแทนที่ เลวานดอฟสกี เลย 

ยัง.. ยังไม่หมดแค่นั้น ความพ่ายแพ้ที่เกิด กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อจากเรื่องคุณภาพนักเตะที่ขาดหายไป ทำให้ความมั่นใจของทีมที่เคยทะยานสูงสุดเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมาพังลงอย่างไม่น่าเชื่อ ในตอนนั้นลิเวอร์พูล ไม่ใช่ทีมที่แพ้ใครง่าย ๆ บทจะแพ้ พวกเขาสู้จนกลับมาเสมอ เกมใดทำท่าจะได้ 1 แต้ม พวกเขาจะสู้ถวายหัวเพื่อประตูชัยจนนาทีสุดท้าย 

12

แต่ตอนนี้มันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาเสียประตู 1 ลูกให้คู่แข่ง สิ่งทีเกิดขึ้นหลังจากนั้น คือการเสียขวัญกำลังใจที่ออกอาการแบบเห็นได้ชัด พวกเขาไม่สามาถ “โกงความตาย” ได้แบบที่เคยทำ นั่นแสดงให้เห็นในทางอ้อมว่าสภาพจิตใตที่เคยแข็งแกร่ง โดนบั่นทอนลงไปทีละนิด ๆ อย่างน่าเป็นห่วง

แม้แต่ตัวของ คล็อปป์ เอง ก็เริ่มมีการให้สัมภาษณ์ที่ทำให้สื่อเอาไปเล่นเป็นประเด็นต่าง ๆ เอาไปแซวว่าเขากำลัง “จิตหลุด” อีกด้วย 

และท้ายที่สุด คือเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ ดอร์ทมุนด์ … คล็อปป์ คือทุกอย่างของ ลิเวอร์พูล คือกุนซือที่ดีที่สุดในรอบ 30 ปีที่สโมสรแห่งนี้เคยมี เขาสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับแฟน ๆ และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสร … ไม่มีใครกล้าไล่เขาออกแน่ แม้ที่สุดแล้วลิเวอร์พูลยังกลับมาเป็นทีมเดิมไม่ได้ก็ตาม 

สมมุติว่าวันนั้นมาถึงจริง ๆ อาจจะเป็นอีกครั้งที่ คล็อปป์ ต้องเอ่ยคำ ๆ นั้นที่ไม่มีใครกล้าพูดด้วยตัวเอง … เหมือนกับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่เขาประกาศอำลา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตามที่ได้กล่าวไปทั้งหมดนั่นเอง 

“ถ้ามีใครสักคนต้องหัวขาด คนนั้นควรเป็นผม” ประโยคนี้อาจจะถูกกลับมาใช้อีกครั้งก็เป็นได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ