สัตวแพทยสภา เตือน "วางยาสลบสัตว์" ควรใช้กรณีใดบ้าง ทำไม่ถูกต้อง-ไม่พร้อม เสี่ยงถึงตาย

Home » สัตวแพทยสภา เตือน "วางยาสลบสัตว์" ควรใช้กรณีใดบ้าง ทำไม่ถูกต้อง-ไม่พร้อม เสี่ยงถึงตาย
สัตวแพทยสภา เตือน "วางยาสลบสัตว์" ควรใช้กรณีใดบ้าง ทำไม่ถูกต้อง-ไม่พร้อม เสี่ยงถึงตาย

สัตวแพทยสภา เผยแพร่บทความ อันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์ 

กลายเป็นประเด็นร้อน กรณีซีรีส์ “แม่หยัว” มีการวางยาสลบแมวดำจริงๆ เพื่อใช้เข้าฉากการให้ดูสมจริง เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทารุณกรรมสัตว์ แฮชแท็ก #แบนแม่หยัว พุ่งติดอันดับหนึ่งทันที 

วันที่ 11 พ.ย.67 เพจเฟซบุ๊ก สัตวแพทยสภา ประเทศไทย ได้โพสต์บทความ “อันตรายและข้อควรระวังในการวางยาสลบสัตว์” โดย ผศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม อนุมัติบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สาขาศัลยศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า

การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกัน การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น

โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงต่อระบบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินหายใจ ที่ถูกกดการทำงานมากขึ้น เมื่อระดับการสลบลึกขึ้น ผลข้างเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของยาสลบและยานำสลบที่ใช้

การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้

นอกจากนี้พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ ดังนั้น การวางยาสลบสัตว์จึงควรดำเนินการ หรือควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้ง

ทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 โดยคณะผู้บริหารวิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย วาระปี พ.ศ.2566-2568

  • ทัวร์ลง “แม่หยัว” ดราม่าวางยาสลบแมวเพื่อถ่ายละคร ตัวกระตุกเกร็ง เห็นแล้วน่าตกใจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ