สังเวียนจัดแข่งขันโอลิมปิก 2020 มีที่ไหนปรากฏอยู่ในมังงะที่คุณคุ้นตาบ้าง ?

Home » สังเวียนจัดแข่งขันโอลิมปิก 2020 มีที่ไหนปรากฏอยู่ในมังงะที่คุณคุ้นตาบ้าง ?

แม้ว่าการ์ตูนอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ แต่ก็มีการ์ตูนจำนวนไม่น้อยที่เอาสถานที่ที่มีอยู่ในโลกจริงมาใส่ไว้ในการ์ตูน ที่อาจจะมีตั้งแต่ อาคารย่านการค้า ไปจนถึงเมืองทั้งเมือง

สิ่งนี้ถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีนี้ เพราะนอกจากจะทำให้การ์ตูนเรื่องนั้นถูกพูดถึงแล้ว มันยังทำให้สถานที่นั้นโด่งดังจากการตามรอยหรือที่เรียกกันว่า “แสวงบุญ” 

และเนื่องจากที่การแข่งขันโอลิมปิก 2020 กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ Main Stand จึงอยากพาไปสำรวจว่าสังเวียนจัดการแข่งขันของทัวร์นาเมนต์ที่โตเกียว มีที่ไหนเคยปรากฏมังงะหรืออนิเมะบ้าง 

ติดตามได้ที่นี่

สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น  

ประเดิมกันด้วยสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น หรือโคคุริคุ ที่จะเป็นสังเวียนเปิดการแข่งขันสำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ รวมไปถึงสนามสำหรับแข่งกรีฑาและฟุตบอลหญิงนัดชิงชนะเลิศ 

แน่นอนว่าในฐานะสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้มันปรากฎอยู่ในการ์ตูนฟุตบอลมากมาย ในฐานะเวทีในการแข่งขันรอบสุดท้าย และสนามเหย้าของเกมทีมชาติก่อนไซตามะ สเตเดียมจะกำเนิดขึ้นมา 

ไม่ว่าจะเป็น กัปตันสึบาสะ ที่ถูกใช้เป็นสนามในการแข่งขันชิงแชมป์เยาวชนโลก Shoot ที่เป็นสังเวียนในศึกชิงแชมป์อินเตอร์ไฮ หรือแม้แต่ Akira ก็เคยมีสนามแห่งนี้ปรากฎอยู่ในเรื่อง

โยโยงิ เนชั่นแนล ยิมเนเซียม

ต่อด้วยสนามกีฬาในร่มอเนกประสงค์ ที่ถูกสร้างมาตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 1964 อย่าง โยโยงิ เนชั่นแนล ยิมเนเซียม โดยมันปรากฎอยู่ในเรื่อง Yuri On Ice ในฐานะสนามแข่งฟิกเกอร์สเก็ตชิงแชมป์โลก 

นอกจากนี้ สนามที่จะถูกใช้เป็นสังเวียนแข่งแฮนด์บอลในโอลิมปิกครั้งนี้ ยังเคยเป็นฉากหลังในอนิเมะ Kizumonogatari หรือชื่อไทยว่า ปกรณัมของตำหนิ เช่นเดียวกันกับ Sword Art Online the Movie: Ordinal Scale

สนามกีฬาแห่งชาติเรียวโงคุ

เช่นกันกับ สนามจัดการแข่งขันซูโม่ของญี่ปุ่น ที่ทำให้มันปรากฎอยู่ในการ์ตูนซูโม่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Aah! Harimanada หรือ Hinomaru Zumō หรือแม้แต่ Prison School ที่มีตอนหนึ่งตัวละครในเรื่องต้องมาแข่งซูโม่นักเรียนที่นี่ 

อย่างไรก็ดี นอกจากซูโม่แล้ว สนามดังกล่าวยังถูกใช้เป็นสังเวียนจัดการแข่งขันชกมวยอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มันไปปรากฎตัวอยู่ในการ์ตูนหมัดมวยอย่าง “ก้าวแรกสู่สังเวียน” อยู่เป็นประจำ ทั้งในไฟท์ระหว่าง ดาเตะ เออิจิ กับ ริคาร์โด มาร์ติเนซ หรือสถานที่ป้องกันแชมป์ของมาคุโนจิ อิปโป ในการพบกับ โคจิมา ฮิซาโตะ

สนามกีฬาในร่มมหานครโตเกียว 

แม้ว่ามันจะเป็นสนามหลักสำหรับการแข่งขันปิงปองในโอลิมปิก  แต่มันก็ยังมีบทบาทในฐานะสังเวียนสำหรับกีฬาในร่มประเภทอื่น และทำให้มันปรากฎอยู่ในการ์ตูนบาสเกตบอลอย่าง คุโรโกะ นายจืดพลิกสังเวียนบาส 

นอกจากนี้ ด้วยความที่สนามแห่งนี้ถูกใช้เป็นสนามจัดการแข่งขันวีลีก หรือวอลเลย์บอลอาชีพญี่ปุ่น ทำให้มันไปโผล่อยู่ในการ์ตูนวอลเลย์บอลชื่อดังอย่าง ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน ในฉากสั้นๆ อีกด้วย

นิปปอน บุโดคัง

อีกหนึ่งสนามกีฬาในร่มอเนกประสงค์ของญี่ปุ่น ที่แม้ว่าโอลิมปิกครั้งนี้ จะถูกใช้เป็นสถานที่แข่งยูโด และคาราเต้ แต่อนิเมะที่ใช้มันเป็นฉากหลังส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกี่ยวกับกีฬา ไม่ว่าจะเป็น “เกมเซียนรักขอเป็นเทพนักจีบ” หรือ Golden Time เป็นต้น

ในขณะเดียวกันด้วยความที่มันมักจะเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต จึงทำให้คอนเสิร์ตเกี่ยวกับอนิเมะ มักจะมาจัดที่นี่ ที่ชัดที่สุดคงจะเป็น Love Live ที่กลายเป็นเหมือนสนามเหย้าของอนิเมะเรื่องนี้ไปแล้ว

ศูนย์ว่ายน้ำระหว่างประเทศโตเกียวทัตสึมิ

ศูนย์ว่ายน้ำแห่งชาติที่จะกลายเป็นสนามจัดการแข่งขันโปโลน้ำในครั้งนี้ ถูกนำมาใช้เป็นฉากหลังในอนิเมะกระโดดน้ำที่ชื่อว่า Dive โดยสถานที่ดังกล่าวโผล่มาให้เห็นสองครั้งคือในตอนที่ 6 และตอนที่ 10 ของอนิเมะ

สวนยูเมโนชิมะ

สวนสาธารณะในเขตโคโตะ ที่เป็นเหมือนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนญี่ปุ่นในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หารู้ไม่ว่าที่แห่งนี้กลับมีสนามขนาดใหญ่มากที่สามารถใช้เป็นสนามกีฬาซ่อนอยู่ 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ สถานที่แห่งนี้ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมของ อีสต์ โตเกียว ยูไนเต็ด ทีมของตัวเอกในเรื่อง Giant Killing การ์ตูนฟุตบอลยอดฮิตของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ทั้งที่ในโอลิมปิกครั้งนี้มันถูกใช้เป็นสนามแข่งขันธนู 

อาริอาเคะ อารีนา

แม้ว่า อาริอาเคะ อารีนา สนามวอลเลย์บอลใหม่เอี่ยม จะถูกสร้างขึ้นสำหรับโอลิมปิก 2020 แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ถูกนำไปใช้ในการ์ตูนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน 

โดยมันเป็นสถานที่จัดการแข่งขันวอลเลย์บอลในโอลิมปิก (ในเรื่อง) และทำให้เห็นว่า อาจารย์ฮารุอิจิ ฟุรุดาเตะ นั้นอัพเดทรวดเร็วขนาดไหน

อาริอาเคะ โคลีเซียม

สนามสำหรับจัดการแข่งขันเทนนิสของญี่ปุ่น และสำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ จึงทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในสังเวียนในการ์ตูนเทนนิส (?) ชื่อดังอย่าง ปรินซ์  ออฟ เทนนิส ในฐานะเวทีสำหรับศึกชิงแชมป์ทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ มันยังไปปรากฎอยู่ในการ์ตูนที่ไม่เกี่ยวกับกีฬาอย่าง ดิจิมอน แอดเวนเจอร์ Tri แต่เป็นเพียงบริเวณใกล้เคียงที่ตัวละครในเรื่องเดินผ่านเท่านั้น

ไซตามะ ซูเปอร์ อารีนา

สังเวียนที่จะกลายเป็นสนามหลักสำหรับการแข่งขันบาสเกตบอลในโอลิมปิกครั้งนี้ กลับปรากฎอยู่ในอนิเมะที่ไม่ใช่กีฬาอย่าง Girls und Panzer หรือชื่อไทยคือ สาวปิ๊ง! ซิ่งแทงค์ ซึ่งเป็น อนิเมะที่จับสาวน้อยและรถถังมารวมกัน 

โดยมันถูกใช้เป็นสถานที่จับฉลากการประกบคู่ระดับประเทศ ที่ทำให้อาคารที่มีหน้าตาอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้เด่นเป็นสง่าอยู่ในเรื่อง

โอไดบะ มาริน พาร์ค

เกาะถมทะเลที่เป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น เมื่อมันเป็นที่ตั้งของ Gundam Front Tokyo ที่มีกันดั้มขนาดยักษ์สัดส่วน 1:1 เด่นเป็นสง่าอยู่ที่นั่น  

อย่างไรก็ดี สถานที่จัดการแข่งขันไตรกีฬา และ Aquatics หรือการว่ายน้ำระยะไกลประจำโอลิมปิกหนนี้ กลับปรากฎแต่ในอนิเมะที่ไม่ใช่สายกีฬา ไม่ว่าจะเป็น Love Live, Idol Master หรือ 
Weathering With You ฤดูฝัน ฉันมีเธอ เป็นต้น

อิซึเวโลโดรม และอิซึเมาท์เทนไบค์ คอร์ส 

สำหรับสองสนามนี้ขอรวบมาอยู่ด้วยกัน เนื่องจากมันตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และแน่นอนว่าสนามสำหรับการแข่งขันจักยานประเภทลู่ และเสือภูเขาแห่งนี้ คงจะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจาก Yowamushi Pedal หรือชื่อไทยว่าโอตาคุน่องเหล็กนั่นเอง 

มันคือหนึ่งในเส้นทางจักรยานที่ตัวละครในเรื่องมาปั่นกัน และในสถานที่จริงก็ยังมีป้ายบอกว่าจุดไหนคือสถานที่ใดในอนิเมะ และทำให้นักปั่นมักจะมาตามรอย

โอโดริ พาร์ค

แม้ว่ามันจะเป็นเพียงแค่สวนสาธารณะประจำเมืองซัปโปโร แต่ในทัวร์นาเมนต์ฤดูร้อนนี้ มันกลับมีความสำคัญในฐานะสถานที่จัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน และ Race walking 

ทำให้ไม่แปลก ที่มันจะไปปรากฎอยู่ในการ์ตูนดังที่มีฉากหลังเป็นเมืองซัปโปโร หลายเรื่อง ทั้ง Boku Dake Inai Machi หรือชื่อไทยคือ รีไววัล ย้อนอดีตไขปริศนา หรือ ซิลเวอร์สปูน เป็นต้น

ไซตามะ สเตเดียม 

สนามที่เป็นรังเหย้าของ “ซามูไรบลู” ทีมชาติญี่ปุ่น และจะถูกใช้เป็นสนามจัดการแข่งขันฟุตบอลในโอลิมปิกครั้งนี้ คืออีกหนึ่งสังเวียนที่เคยปรากฎอยู่ในเรื่องกัปตันสึบาสะ 

มันปรากฎอยู่ในเวอร์ชั่นรีเมกเมื่อ 2018 ในฐานะเวทีสำหรับฟุตบอลมัธยมต้นชิงแชมป์ทั่วประเทศ โดยต้องเรียกว่าเป็นปรับมาจากฉบับออริจินอล ที่แต่เดิมต้องเป็น แน็คไฟว์ สเตเดียม รังเหย้าของ โอมิยะ อาร์ดิจา ซึ่งอ้างอิงจากโลกความจริงที่ช่วงหลัง สนามแห่งนี้ ถูกนำมาใช้เป็นสังเวียนชิงแชมป์ระดับชาติของนักเรียน

โตเกียว สเตเดียม

อีกหนึ่งสนามสำหรับการแข่งขันฟุตบอลในทัวร์นาเมนต์ที่โตเกียว ทว่าอนิเมะ ที่ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากหลังนั้นไม่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล แต่กลับเป็น “เรลกัน แฟ้มลับคดีวิทยาศาสตร์” 

อย่างไรก็ดีเรลกัน ไม่ใช่อนิเมะที่ไม่เกี่ยวข้องกับกีฬาเรื่องเดียว ที่มีรังเหย้าของ เอฟซี โตเกียวอยู่ในฉาก ไม่ว่าจะเป็น Wake Up,Girls! ที่โผล่มาให้เห็นในชื่อ โจฟุ สเตเดียม หรือ World Trigger ที่ถึงขั้นมาจับมือร่วมกันอย่างเป็นทางการ

เอโนะชิมะ

ปิดท้ายกันด้วยเมืองพักตากอากาศของญี่ปุ่น ที่จะเป็นสถานที่สำหรับการแข่งขันการแข่งขันแล่นเรือใบ โดยมันถือเป็นสถานที่ยอดฮิตที่ปรากฎอยู่ในอนิเมะหลายเรื่อง เช่นกันกับการ์ตูนกีฬาอย่าง สแลมดังค์ ที่มีทางข้ามรถไฟในตำนาน เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง 

นอกจากนี้ เอโนะชิมา ยังไปโผล่อยู่ในการ์ตูนเรื่อง โอตาคุน่องเหล็ก ในฐานะหนึ่งในเส้นทางจักรยาน ที่ทำให้แฟนการ์ตูน ตามรอยมาที่นี่ด้วยเช่นกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ