สังเวยแล้ว 28 ราย โรคฉี่หนู พบป่วยกว่า 2,400 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบมากกว่าปีที่แล้ว ลุยน้ำยิ่งเสี่ยง แนะวิธีสังเกตอาการ รีบพบแพทย์
วันที่ 29 ต.ค.65 นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้เริ่มมีรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูเพิ่มขึ้นทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และพื้นที่น้ำท่วมขัง
ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 26 ต.ค.65 มีรายงานผู้ป่วย 2,494 ราย เสียชีวิต 28 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นและมากกว่าปี 2564 ทั้งนี้ โรคฉี่หนู Leptospirosis เกิดจากการติดแบคทีเรียโดยมีสัตว์เป็นพาหะขับถ่ายปนเปื้อนในน้ำ เมื่อผู้มีบาดแผลไปลุยน้ำ ลุยโคลนสัมผัสเชื้อก็จะติดเชื้อได้
“ผู้ป่วยจึงพบมากในช่วงฤดูฝนหรือหลังน้ำท่วม ย้ำว่าภาวะน้ำท่วมหรือน้ำลด หากไปลุยน้ำก็เกิดความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ อาการหลักคือ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายตาแดง หากมีประวัติลุยน้ำ แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคฉี่หนู ถ้าวินิจฉัยเร็ว จะรักษาโดยกินยา 5 วันต่อเนื่องก็หายได้ ความรุนแรงส่วนใหญ่มาหาแพทย์ช้า แม้มียารักษา แต่ถ้าได้ยาช้าก็จะเสี่ยง บางรายอาจเกิดไตวายแทรกซ้อน” นพ.วิชาญ กล่าว
นพ.วิชาญ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคฉี่หนูในสถานพยาบาล ร้านขายยากรณีมาหาซื้อยาเอง ขอให้ร้านยาให้คำแนะนำผู้ป่วยให้มาพบแพทย์ กรมควบคุมโรคทำหนังสือไปยังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งจังหวัดให้แจ้งเตือนข้อมูลโรคฉี่หนู ให้ประชาชนระมัดระวัง ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดกันน้ำ ขณะลุยน้ำท่วมขัง ดินที่ขึ้นแฉะ หรือทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด 2.ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันทีหลังลุยน้ำย่ำโคลน และ 3.หากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อที่น่องหรือโคนขา หลังลุยน้ำย่ำโคลน อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดและแจ้งประวัติเสี่ยง