นางกิลเลียน คีแกน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ผู้รับผิดชอบงานด้านการดูแลพยาบาลและสุขภาพจิตแถลงว่า รัฐบาลมีแผนจะออกกฎหมายห้ามการผ่าตัดทำสาวหรือ “รีแพร์” รวมทั้งห้ามการตรวจเยื่อพรหมจรรย์ของสตรีในเร็ว ๆ นี้
นางกิลเลียน คีแกน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ผู้รับผิดชอบงานด้านการดูแลพยาบาลและสุขภาพจิตแถลงว่า รัฐบาลมีแผนจะออกกฎหมายห้ามการผ่าตัดทำสาวหรือ “รีแพร์” รวมทั้งห้ามการตรวจเยื่อพรหมจรรย์ของสตรีในเร็ว ๆ นี้
นางคีแกนระบุว่าการออกกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีขึ้น เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้หญิงและเด็กสาวจำนวนมาก ซึ่งตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขู่บังคับให้ต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ข้างต้น
- ความบริสุทธิ์ของผู้หญิงมีอยู่จริงหรือ
- ภูมิภาคไหนที่ผู้หญิงถูกคนในครอบครัวสังหารมากที่สุด?
- 5 เรื่องเกี่ยวกับ “จุดซ่อนเร้น” ที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้
การทำรีแพร์ (Repair) คือการผ่าตัดซ่อมแซมตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อภายในช่องคลอดให้กระชับขึ้น แต่กรณีที่พบมากในสหราชอาณาจักรนั้นเป็นการสร้างเยื่อพรหมจรรย์ที่ขาดไปแล้วขึ้นมาใหม่ เพื่อให้หญิงที่เข้ารับการผ่าตัดสามารถผ่านการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นหญิงบริสุทธิ์และเข้าพิธีสมรสได้
ความเชื่อในบางวัฒนธรรมถือว่า หญิงสาวที่เยื่อพรหมจรรย์ขาดหรือไม่มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในคืนวิวาห์ จัดเป็นหญิงไม่บริสุทธิ์และไม่มีคุณค่าพอสำหรับเจ้าบ่าว ซึ่งความเชื่อนี้ขัดกับข้อมูลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เคยชี้แจงไว้ว่า เยื่อพรหมจรรย์สามารถฉีกขาดได้โดยไม่ต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด และกิจกรรมบางอย่างเช่นการเล่นกีฬาหรือการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดก็ทำให้เยื่อพรหมจรรย์ขาดได้เช่นกัน
องค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ในปัจจุบันมีอย่างน้อย 20 ประเทศทั่วโลกที่ยังทำการตรวจพรหมจรรย์หญิงสาวอยู่ ซึ่งการตรวจที่รุกล้ำร่างกายนี้ได้สร้างบาดแผลทางใจให้กับผู้หญิงจำนวนมาก ส่วนคนที่เยื่อพรหมจรรย์ขาดไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชิงสุกก่อนห่าม ถูกข่มขืน หรือประสบอุบัติเหตุอื่น ๆ ก็มักจะถูกครอบครัวและสังคมรอบข้างบีบบังคับให้ไปทำรีแพร์ เพื่อรักษาเกียรติของวงศ์ตระกูลเมื่อหญิงผู้นั้นต้องเข้าพิธีสมรส
อะลีนา (นามสมมติ) บอกกับผู้สื่อข่าวของบีบีซีว่า เธอถูกข่มขืนเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นและต้องเผชิญกับแรงกดดันจากครอบครัวเป็นเวลานานหลายปี เนื่องจากพ่อแม่รวมทั้งญาติพี่น้องพากันบังคับให้ไปทำรีแพร์ทั้งที่เธอไม่เต็มใจ
“ฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือกเลย พวกเขาพยายามยัดเยียดทางออกนี้ให้ฉัน เหมือนกับว่ามันเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขความเสียหายและทำให้ฉันกลับเข้าสู่สังคมตามกรอบประเพณีได้อีกครั้ง”
อะลีนาบอกว่าเธอรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง แต่ก็ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมทำรีแพร์เรื่อยมา ในที่สุดเธอหาทางออกได้ด้วยการแต่งงานกับชายที่ไม่ถือว่าเยื่อพรหมจรรย์ของเจ้าสาวเป็นสิ่งสำคัญ “ฉันภูมิใจมากที่สามารถยืนหยัดไม่ยอมตามความต้องการของครอบครัว เพราะทุกสิ่งที่พวกเขายกมาพูดกดดันฉัน ก็แค่เพื่อรักษาหน้าและเกียรติของวงศ์ตระกูลเท่านั้น”
นอกจากร่างกฎหมายใหม่ว่าด้วยสุขภาพและการดูแลพยาบาล (health and care bill) จะห้ามการทำรีแพร์และตรวจเยื่อพรหมจรรย์แล้ว ยังมีการแก้ไขข้อกฎหมายให้ผู้ที่ช่วยเหลือหรือพยายามสนับสนุนให้หญิงรับการผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อพรหมจรรย์ จะต้องรับโทษทางอาญาโดยอาจถูกจำคุกได้สูงสุด 5 ปี ส่วนผู้ที่พาตัวหญิงไปรับการผ่าตัดดังกล่าวในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงกฎหมาย ก็จะมีความผิดทางอาญาเช่นกัน
บรรดาผู้รณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิสตรีบอกกว่า การผ่าตัดทำรีแพร์และการตรวจเยื่อพรหมจรรย์มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างมาก ไดอานา แนมมี ผู้อำนวยการบริหารองค์กรเพื่อสิทธิของสตรีเชื้อสายอิหร่านและเคิร์ดบอกว่า “ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนที่เข้ารับการตรวจหรือการผ่าตัดที่รุกล้ำร่างกายแบบนี้ ต่างถูกบังคับมาไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพื่อให้ครอบครัวอวดอ้างได้ว่าพวกเธอเป็นหญิงบริสุทธิ์ และสามารถจัดการแต่งงานแบบคลุมถุงชนตามประเพณีดั้งเดิมให้พวกเธอได้”
“การผ่าตัดซ่อมแซมเยื่อพรหมจรรย์มักทิ้งบาดแผลทางกายและใจเอาไว้ แต่เกือบครึ่งหนึ่งของกรณีการผ่าตัด กลับไม่อาจทำให้ผู้หญิงมีเลือดออกในคืนวิวาห์ได้ ทั้งยังเสี่ยงที่จะทำให้พวกเธอถูกกลั่นแกล้งรังแก หรือแม้แต่ถูกฆ่าเพื่อรักษาเกียรติในภายหลัง” แนมมีกล่าว
อินทิรา วาร์มา อาสาสมัครที่ทำงานกับสายด่วนให้ความช่วยเหลือสตรีขององค์กรการกุศล “กรรมนิพพาน” (Karma Nirvana) บอกว่าพบหลักฐานที่ชี้ถึงการใช้คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนลักลอบตรวจพรหมจรรย์ หรือแม้แต่เชิญหมอมาทำรีแพร์ให้ถึงบ้านแทนที่จะไปทำที่คลินิก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงที่ถูกบังคับหลบหนีหรือร้องขอความช่วยเหลือกลางทาง แต่บริการทางการแพทย์ใต้ดินประเภทนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก และยิ่งทำให้การละเมิดสิทธิของผู้หญิงรุนแรงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ธีราช ภาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งประจำคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งบนถนนฮาร์ลีย์ของกรุงลอนดอนบอกว่า การทำรีแพร์เพื่อสร้างเยื่อพรหมจรรย์ขึ้นมาใหม่นั้นใช้เวลาเพียงไม่เกิน 45 นาที และมีค่าใช้จ่ายราว 3,000 – 4,000 ปอนด์ (133,500 – 178,000 บาท) การสั่งห้ามสถานพยาบาลต่าง ๆ ไม่ให้ทำการผ่าตัดแบบนี้ จะยิ่งทำให้ระบบลักลอบให้บริการใต้ดินเฟื่องฟูมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้หญิงที่รับการผ่าตัดเอง เพราะแพทย์ไม่อาจติดตามผลการรักษา หรือเข้าแก้ไขได้ทันท่วงทีหากมีโรคแทรกซ้อน
นพ. ภาร์ ยังแสดงความเห็นว่า “ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับให้มาทำรีแพร์ ซึ่งผมจะไม่ผ่าตัดให้กับคนที่ไม่เต็มใจเหล่านั้น แต่เราต้องยอมรับว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ยินยอมพร้อมใจ เพื่อให้ได้การยอมรับจากชุมชนและสังคมของพวกเธอ ดังนั้นทางออกที่ดีไม่ควรเป็นการห้ามผ่าตัดรีแพร์เสียทั้งหมด แต่ควรออกกฎเพื่อวางกรอบกำกับให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและปลอดภัย”
………………………………………………………………….