สว. คำนูณ ห่วง พ.ร.บ. กู้มาแจก 500,000 ล้านบาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

Home » สว. คำนูณ ห่วง พ.ร.บ. กู้มาแจก 500,000 ล้านบาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวเมื่อวันอังคาร (14 พ.ย.) ถึงกรณีที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมด เท่าที่ติดตาม ตนเองไม่ได้มีประเด็นขัดแย้งด้านหลักการ เพียงแต่เมื่อรัฐบาลจะออก พ.ร.บ. กู้เงิน จะมีความเป็นห่วงว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สว. รายนี้ อธิบายว่าการกู้เงินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ระบุชัดเจนว่า การออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนั้น จากกระทำได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้วิกฤตของประเทศ โดยไม่สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน หากเข้า 4 เงื่อนไข จึงจะออกกฎหมายพิเศษกู้เงินได้

นายคำนูณ มองว่า ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการ พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาในเดือน ธ.ค. ดังนั้น การบรรจุเงินที่จะใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตลงไปในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ จะปลอดภัยกว่าและอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทัน แต่การที่ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ 2567 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วมาออก พ.ร.บ.กู้เงินอีก 500,000 ล้านบาท เห็นว่าเสี่ยงต่อการขัดต่อ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 

ส่วนอีก 3 เงื่อนไข เรื่องความจำเป็นเร่งด่วนนั้น นายคำนูณมองว่าเป็นปัญหาเช่นกัน หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็เลือกออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แต่การออก พ.ร.บ. ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ของสภา ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ มองว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่โครงการที่ต้องใช้เงินอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการใช้เงินครั้งเดียวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ส่วนจะเป็นการแก้ไขวิกฤตของประเทศหรือไม่นั้น นายคำนูญให้ความเห็นว่าตนไม่ขอก้าวล่วง เพราะมีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างกันออกเป็นสองทาง และความเห็นของรัฐบาลที่มองว่าจีดีพีประเทศโตต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศอื่นเมื่อเปรียบเทียบแล้วถือเป็นวิกฤตของประเทศ ตนก็เคารพความเห็นของรัฐบาล เพราะรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งมา และเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงมองว่าประเด็นนี้สามารถถกเถียงกันได้ 

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลเคยชี้แจงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องที่มาของเงินสรุปโดยรวมว่า มาจากเงินงบประมาณ แต่ล่าสุดระบุว่าจะใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการออกกฎหมายกู้เงิน ซึ่งหากเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนตัวก็ไม่มีความขัดข้อง แต่เป็นห่วงว่าจะไม่ตรงตามข้อกฎหมาย

ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าจะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น สว.รายนี้ มองว่า ก็จะต้องรอว่า ครม. จะขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างไร และคณะกรรมการกฤษฎีกาจะตอบอย่างไร รวมถึง ครม. จะมีมติเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาหรือไม่ จากนั้น ก็ต้องดูว่าร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน มีลักษณะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 

นายคำนูณ ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 เป็นเรื่องใหม่ แตกต่างจากรัฐธรรมนูนฉบับก่อนที่เพิ่มการจ่ายเงินแผ่นดิน ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐเข้ามาฉบับหนึ่ง ซึ่งกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐก็มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2561 ตามมาตรา 53 นี้ หากถามว่าออกกฎหมาย กู้เงินได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่เฉพาะกรณีตามที่ 4 เร่งด่วน คือ ต่อเนื่อง แก้วิกฤต และตั้งงบไม่ทัน ซึ่งตนเห็นว่าข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เพราะขนาดนี้งบประมาณปี 2567 ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ 

ในอดีต ก็เคยมีปัญหาการใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2552 จนถึงพรรคเพื่อไทยในปี 2554 และ 2556 จึงเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญมาตรา 140 และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง 

ส่วนขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตจนต้องออก พ.ร.บ. กู้เงินใช่หรือไม่ นายคำนูณ ตอบว่าเรื่องนี้เถียงกันได้ นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมองว่า เพียงแต่การเลือกแนวทางออก พ.ร.บ. กู้เงิน จะเข้าตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ครบ 4 เงื่อนไข หรือไม่เท่านั้นเอง

หากรัฐบาลดึงดันออก พ.ร.บ. กู้เงินต่อไปจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ นายคำนูณมองว่าไม่ขอใช้คำว่าดึงดัน แต่มองว่า เป็นเจตนาดีต่อประเทศ และขอให้เครดิตนายกรัฐมนตรีที่เลือกวิธีนี้ แต่วิธีนี้จะไปได้หรือไม่ คงต้องรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล 

ทั้งนี้ นายคำนูณ กล่าวถึงบทลงโทษหากมีการกระทำผิดตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังด้วยว่า มาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติขั้นตอนไว้ว่า ให้ผู้ว่าฯ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำรายงาน เสนอต่อ คณะกรรมการ สตง. หากคณะกรรมการเห็นด้วย ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระสามหน่วยงาน ได้แก่ สตง. กกต. และ ป.ป.ช. หากมีความเห็นสองในสามว่าเข้าข่ายกระทำผิด ก็ให้ส่งรายงานเสนอไปยัง ครม. สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา พร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่เป็นกลไกตามรัฐธรมมนูญ ที่จะทำให้ กฎหมายวินัยการเงินการคลังมีความศักดิ์สิทธิ์และปฏิบัติได้ เรื่องนี้จึงเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวที่ต้องติดตามกันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ