ไฮไลท์
- เงินอุดหนุนเด็กเล็กของไทย ให้เงินเด็กอายุ 0-6 ปี จำนวน 600 บาท/คน/เดือน มีเงื่อนไขว่า ผู้มีสิทธิ์เลี้ยงดูต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ทำให้เด็กเล็กกว่า 30% ตกหล่นและไม่ได้รับเงินอุดหนุน
- งานวิจัยชี้ว่า เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท/เดือน จะช่วยให้เด็กเล็กมีภาวะโภชนาการที่ดี และเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเงิน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมบทบาทสตรีในครอบครัวด้วย
- รัฐมุ่งที่จะช่วยคนจนหรือเป็นการสงเคราะห์คนจน แต่ไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ รวมถึงความไม่จริงใจของภาครัฐและการหลอกลวงในเชิงนโยบายการหาเสียง ก็ทำให้นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กไม่สามารถทำได้ถ้วนหน้า
- เครือข่ายสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า มีข้อเสนอ 3 ต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ เร่งให้เงินเด็กเล็กถ้วนหน้า จัดหาวัคซีนให้ผู้ดูแลเด็กเล็ก และนโยบายพิเศษช่วยเหลือสถานการณ์เด็กเล็ก
“เด็กคืออนาคตของชาติ”
ประโยคสุดคลาสสิกที่ได้ยินกันมาเนิ่นนาน แต่เด็กไทยหลายคนกลับได้รับการปฏิบัติอย่างตรงข้ามกับคำว่า “อนาคตของชาติ” อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ “เด็กเล็ก” วัยแรกเกิดถึง 6 ปี ที่ถือเป็นช่วงอายุที่สำคัญต่อชีวิตของเด็ก เพราะพัฒนาการในช่วงวัยนี้จะมีผลต่อความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และบุคลิกภาพ พวกเขาคือกำลังสำคัญที่จะเติบโตขึ้นและแบกรับภาระของประเทศ ทว่ากลับถูกรัฐมองข้าม เพิกเฉย และละเลยอย่างไม่เท่าเทียม “เงินอุดหนุนเด็กเล็ก” ที่ควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า กลับกลายเป็น “การสงเคราะห์คนยาก” ที่ไม่ครอบคลุม เนื่องจากยังมีเด็กเล็กอีกมากมายที่ตกหล่นและไร้การช่วยเหลือ
เมื่อเรื่องของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กเท่าขนาดตัวของพวกเขา เเต่เป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องช่วยกันเรียกร้อง Sanook ร่วมสำรวจโลกสวัสดิการเด็กเล็ก เพื่อสะท้อนปัญหาและสร้างความเข้าใจให้มนุษย์ผู้ใหญ่ ก่อนที่ “มนุษย์จิ๋ว” ที่เป็นอนาคตของชาติจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ไร้อนาคตในที่สุด
สวัสดิการเด็กเล็ก (ไม่) ถ้วนหน้า
“ตั้งแต่เกิดจนถึงตายควรจะมีสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้าแก่ทุกคน ตอนนี้เราได้เด็กเรียนฟรี บัตรทองรักษาสุขภาพ คนพิการ ผู้สูงอายุ ยกเว้นอยู่กลุ่มดียวคือ เด็ก 0-6 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นหัวเลี้ยวตัวต่อที่สำคัญของชีวิต ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ คุณภาพชีวิต แต่ทำไมกลับเลือกว่า ต้องให้เด็กเล็กที่เป็นคนจนเท่านั้น” สุนี ไชยรส ตัวแทนคณะทำงานและเครือข่ายสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ตั้งคำถาม
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบสวัสดิการของไทยได้ขยายครอบคลุมไปเกือบครบทุกกลุ่มประชาชน และไม่มีการแยกว่ารวยหรือจน ยกเว้นกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 ปีที่เหมือน “ถูกทิ้งไว้กลางทาง” โดยก่อนหน้านี้ เด็กเล็กที่จะเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ได้ จะต้องเป็นบุตรของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเท่านั้น กระทั่งปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลจึงประกาศให้มี “สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก” โดยให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี เดือนละ 600 บาทต่อคน เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในครอบครัว อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวกลับไม่ได้จ่ายเงินให้เด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนหน้า แต่เป็นการจัดให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ผู้มีสิทธิ์เลี้ยงดู มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และต้องทำการขึ้นทะเบียนเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ก่อน
“นโยบายปัจจุบันของการให้เงินอุดหนุนไม่ได้เป็นแบบถ้วนหน้า หมายถึงว่า จริง ๆ แล้วในจำนวนเด็กประมาณ 4 ล้านกว่าคน ตามเกณฑ์ของรัฐบาลคือ 0-6 ปี ในกลุ่มนี้ยังได้เงินแค่ประมาณ 2 ล้านกว่าคนที่มีการขึ้นทะเบียน ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่า คือกลุ่มเปราะบางที่รายได้ไม่ถึงหนึ่งแสนบาท อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งมันคือการเลือกปฏิบัติหรือไม่เป็นธรรม” ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ชี้
การสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute หรือ TDRI) พบว่า ใน พ.ศ.2560 มีเด็กยากจนที่ตกหล่นจากการได้รับเงินอุดหนุนมากถึง 30% เนื่องจากปัญหาของกระบวนการคัดกรอง เงื่อนไขและขั้นตอนการลงทะเบียนที่เป็นอุปสรรค รวมไปถึงปัญหาเรื่องการจัดการของภาครัฐ โดยเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องผิดที่คนกลุ่มหนึ่งจะเชื่อว่าการให้เงินแบบพุ่งเป้าเป็นการประหยัดทรัพยากร แต่ข้อเท็จจริงที่ออกมาไม่เป็นเช่นนั้น และการให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าอาจจะเป็นการช่วยเหลือที่ดีกว่า
“มันก็จะมีคนกังวลว่า แล้วคนที่เขารายได้ดีอยู่แล้ว เขาได้เงินไปอีก จะเป็นยังไง สำหรับผม มันก็ไม่ได้เสียหาย ถ้าเราให้กับเด็กทุกคน เพราะเด็กเล็กเป็นช่วงสำคัญมากในการพัฒนาของเขา การที่เราให้เงินสวัสดิการเด็กเล็ก มันก็เป็นการช่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีข้อจำกัดในเรื่องเศรษฐกิจ” เขาแสดงความคิดเห็น
เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท
“ตัวเลข 600 บาท ถ้าเรามองว่าไม่เยอะก็ไม่ได้เยอะ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรามองโดยเปรียบเทียบความยากจน คือเส้นที่เป็นตัววัดว่าใครจะมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำไหม 600 บาทก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง” เดชรัตชี้
รายงานของ TDRI ระบุว่า เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนจะมีภาวะโภชนาการที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเงิน ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และยังรวมไปถึงโภชนาการของเด็กคนอื่น ๆ ในครอบครัว เช่นเดียวกับการเข้าถึงบริการสุขภาพ ที่เด็กกลุ่มที่ได้รับเงินจะมีเงินค่าเดินทางไปพบแพทย์ หรือเข้ารับการฉีดวัคซีนตามนัดได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยเหลือเด็กเล็กแล้ว เงินจำนวนนี้ยังช่วยเสริมสร้างบทบาทสตรีในครอบครัวอีกด้วย โดยการได้รับเงินอุดหนุนฯ เป็นประจำจะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการใช้เงิน ซึ่งจะเพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นคงทางจิตใจให้กับผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนนี้ จะช่วยให้แม่มีสุขภาพดีและมีโอกาสให้นมลูกมากขึ้น
“เงิน 600 บาท แน่นอนว่าถ้าเทียบกับอื่น ๆ มันน้อย แต่เราก็เข้าใจรัฐว่าเงินไม่เยอะ อย่างน้อยก็เรียกร้องให้ได้ถ้วนหน้าทุกคนและเด็กจะได้ไม่ตกหล่น เพราะถ้าเราไปดูชีวิตของคนจน บางที่ยังต้องให้ลูกกินนมข้น บางที่ไม่มีจริง ๆ ให้ลูกกินน้ำข้าว โดยเฉพาะตอนนี้ที่คนตกงานมากขึ้น คนไม่มีเงินกิน คนป่วยโควิด-19 เด็กก็ป่วย แม่ก็ป่วย แล้วถ้าเงินที่ว่านี้มันไปถึงมือเด็กทุกคน มันก็จะไปช่วยครอบครัวของเขา ยิ่งคนจนมันยิ่งสำคัญกับเขา เพราะเขาไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน ไม่มีแม้แต่นมจะกิน เราเห็นเรื่องน่าเศร้าสลดเต็มไปหมด” สุนีกล่าว
“จริง ๆ แล้วเงิน 600 บาท ก็ยังเป็นตัวเลขที่มีปัญหาอยู่” ณัฐวุฒิเสริม “แต่เอาตัวเลขนี้เป็นเกณฑ์ก่อนก็ได้ ซึ่งรัฐบาลจะใช้เงินเพิ่มจาก 1.7 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ 3 หมื่นล้าน หมายถึงว่าเงิน 3 หมื่นล้านนี้เป็นแค่ 1% ของงบประมาณทั้งปีของประเทศไทย แต่มันเป็นการลงทุนกับประชากรเกือบ 10% ของประเทศ มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม แล้วผมคิดว่ามันตอบโจทย์หลายข้อด้วยกัน”
“เด็ก” มือที่สั้นที่สุดในสังคม
“รัฐมองว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็กคือการให้การสงเคราะห์กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยากจน แต่รัฐไม่ได้มองว่านี่คือสิทธิ์ หรือหลักประกันขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จ่ายภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงหรือทางอ้อม” ณัฐวุฒิระบุ
“ปัญหาที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “อุดมการณ์” ในแง่มุมมองที่มีต่อคำว่า “สวัสดิการ” คือเราอาจจะแบ่งคนออกเป็น 2 แบบก็ได้ แบบแรกเชื่อว่า สวัสดิการควรมีไว้ให้กับคนจนเท่านั้น แบบที่สองคือสวัสดิการควรมีในลักษณะที่เป็นถ้วนหน้า ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช. จนถึงปัจจุบัน ก็พยายามที่จะใช้อุดมการณ์ที่ว่า สวัสดิการควรมีไว้ให้กับคนจนเท่านั้น คือคำว่า “ช่วย” คือต้องพุ่งเป้าไปหาคนจนให้ได้ แล้วก็ช่วยกลุ่มนั้นให้พ้นจากความยากจน” เดชรัตแสดงความคิดเห็น
แม้ปัญหาเรื่องเด็กเล็กยากจนตกหล่น ไม่ได้รับเงินอุดหนุนที่พวกเขาควรได้ จะเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนร่วมกันสะท้อนและเรียกร้องให้รัฐบาลได้รับทราบเพื่อเร่งแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีท่าทีในการตอบรับหรือจะทำให้สวัสดิการของเด็กเล็กดังกล่าว กลายเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าได้อย่างแท้จริง ซึ่งสุนี ซึ่งทำงานทางด้านนี้ก็ระบุว่า ปัญหานี้คือ “ความไม่จริงใจ” ของทั้งรัฐบาลและการหลอกลวงในเชิงนโยบายการหาเสียง สอดคล้องกับณัฐวุฒิ ที่ระบุว่า มีหลายพรรคการเมืองที่เสนอประเด็นเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเป็นนโยบายในการหาเสียง แต่ท้ายที่สุด พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายนี้ และมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลก็ยังไม่ทำตามที่ได้ให้สัญญาเอาไว้ เพราะการจัดลำดับความสำคัญในทางการเมือง ซึ่งประชากรที่เป็นฐานคะแนนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งและอายุเกิน 18 ปี ย่อมมีความสำคัญมากกว่าการลงทุนกับเด็กเล็ก ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว
“ต้องพูดว่าไม่จริงใจมากกว่าอย่างอื่นเลย มันไม่มีเหตุผลเลย เราก็พยายามตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่ให้ ในเมื่อสังคมไทยก้าวหน้ามาจนมีสวัสดิการพื้นฐานทุกกลุ่มอายุแล้ว ทำไมจึงมีช่องโหว่อยู่แค่เด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญมาก ๆ ของเขา”
“ทั้งที่รู้ว่ากระบวนการคัดกรองมีเด็กตกหล่น เขารู้แต่ไม่ยอมแก้ ชีวิตของเด็กจึงถูกทิ้งขว้างแบบแย่ แล้วยิ่งตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 พ่อแม่ผู้ปกครองตกงาน คนที่เคยมีรายได้แสนหนึ่ง วันนี้เขาไม่มีแล้ว บางคนเป็นศูนย์ รัฐบาลก็รู้อยู่เต็มอก เดือดร้อนกันมาก ยิ่งต้องเร่งนโยบายตรงนี้ คือเงิน 600 บาทต่อเดือนถึงมือเด็ก 4.2 ล้านคนทันที แต่มันก็ไม่เกิด มันเป็นความไม่รับผิดชอบ เป็นความไม่จริงใจ เป็นการโกหกหลอกลวงที่กระทำมาสองสามปีแล้ว ซึ่งควรยุติได้แล้ว” สุนีชี้
เรื่องของเด็กเล็กคือเรื่องของทุกคน
“การคิดในเชิงอุดมการณ์ที่ว่า สวัสดิการต้องจัดให้คนจนเท่านั้น สำหรับผมมันไม่ผิดนะ แม้ว่าผมจะไม่ได้คิดแบบนั้นก็ตาม แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เขาพลาดคือการไม่ตอบว่าเขาจะแก้ไขยังไง นั่นเป็นปัญหาที่เราต้องจี้ถาม เพราะเขาเชื่อว่าควรจะให้คนจน แล้ว 30% ที่ตกหล่นและเป็นคนจน ซึ่งตรงนี้มันไม่เห็นชัดเจน ก็เหมือนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนจนก็ยังไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผมก็ไม่เห็นความพยายามที่ชัดเจนในการที่จะทำให้อัตราการตกหล่นนี้มันลดน้อยลง รัฐบาลก็คงเห็นความสำคัญของเด็กในระดับหนึ่ง แต่มันมีอะไรไปบังตาบังใจเขา ซึ่งก็คือตัวอุดมการณ์ และความพยายามที่มากพอที่จะเข้าถึงเด็ก ๆ ทุกคนให้ได้” เดชรัตกล่าว
ขณะที่ณัฐวุฒิเชื่อว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่การมี “สวัสดิการถ้วนหน้า” แล้ว แต่ภาคประชาสังคม ประชาชน นักการเมือง และสื่อมวลชนต้องช่วยกันตั้งคำถามและกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการแก้ไขกฎหมาย
“ผมไม่ได้บอกว่าเงินเป็นคำตอบทุกอย่าง ผมคิดว่าเรื่องการดูแลของครอบครัวเป็นคำตอบมากกว่า แต่เงินก็ยังเป็นขั้นต่ำที่เป็นหลักประกันที่เด็กควรได้รับอยู่ดี” ณัฐวุฒิกล่าว
ทางด้านสุนีและเครือข่ายสนับสนุนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ก็มีข้อเสนอ 3 ข้อถึงรัฐบาล ได้แก่ เร่งให้เงินเด็กเล็กถ้วนหน้า จัดหาวัคซีนให้ผู้ดูแลเด็กเล็ก และนโยบายพิเศษช่วยเหลือสถานการณ์เด็กเล็ก ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
“เรื่องการดูแลเด็กไม่ใช่เรื่องการให้การสงเคราะห์ ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการที่ว่าให้แค่นี้ก็เพียงพอ เราช่วยเหลือเด็กจำนวนเท่านี้แล้ว แต่เรื่องเด็กเป็นเรื่องของเด็กทุกคนจริง ๆ เป็นเรื่องของประเทศในระยะยาว เราเรียกร้องว่าคำตอบเบื้องต้นคือเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าก่อน แล้วหลังจากนั้น มาดูกันว่าเราจะช่วยเหลือดูแลเด็กที่ประสบปัญหามากกว่านั้น หรือมีภาวะต่าง ๆ ในลักษณะพิเศษอย่างไร” ณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย
ร่วมลงชื่อเรียกร้องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้ที่นี่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้ที่ #เพราะเกิดจึงเจ็บปวด สวัสดิการเด็กเล็กเป็นเรื่องของทุกคน
- “เด็กกำพร้า” ระเบิดเวลา หลังวิกฤตโควิด-19
- เครือข่ายเด็กเท่ากัน ร้องภาครัฐ ช่วยจัดงบปี 65 ให้ “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า”