สรุปไทม์ไลน์ ซีเซียม-137 หาย ก่อนพบถูกหลอมกลายเป็น ฝุ่นแดง ย้ำอย่าตระหนก เจ้าหน้าที่ยังไม่พบมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสิ่งในสิ่งแวดล้อม
วันที่ 20 มี.ค. 2566นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี พร้อมด้วย นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์ สสจ.ปราจีนบุรี พล.ต.ต.วินัย นุชชา ผบก.ภ.จว.ปราจีนบุรี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมแถลง กรณีแท่งเหล็กกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี และถูกคาดการณ์ว่าอาจถูกหลอมไปแล้วในโรงงานหลอมโลหะ
โดยในการแถลงยังไม่ยืนยันว่าอุปกรณ์นั้นเข้าไปสู่โรงงานแล้วถูกหลอม แต่มีการตรวจพบฝุ่นเหล็กแดงบริเวณโดยรอบโรงงานหลอม ที่ตรวจได้ว่าฝุ่งดังกล่าวคือฝุ่นซีเซียมจริง หลังจากที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็กอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กที่ อ.กบินทร์บุรี เป็นวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137
ต่อมาสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสี ในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี 5 แห่ง โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสี ในการตรวจสอบ เพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสี และวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีจากวัตถุต้องสงสัย ว่าเป็นสารกัมมันตรังสี หรือวัตถุที่อาจมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 หรือไม่ ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่ง มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะ
ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ทำการควบคุม และตรวจสอบพื้นที่โรงงานโดยรอบ พบว่า โลหะที่ได้จากกระบวนการผลิตไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เมื่อตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่บริเวณโรงงานพบว่า ระดับปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ ตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ โดยรอบโรงงานพบว่า ระดับรังสีอยู่ในระดับปกติตามปริมาณรังสีในธรรมชาติ ไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม
สำหรับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิล ที่รับซื้อเศษโลหะมือสอง ที่มีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอม และระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม
ซึ่งจะมีระบบการกรองของเสียจากกระบวนการผลิตและเป็นการทำงานในระบบปิดทั้งหมด ทำให้ซีเซียม-137 จะปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะที่ได้จากกระบวนการหลอม ซึ่งฝุ่นปนเปื้อนเหล่านี้จะมีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม และถูกจัดเก็บ ควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ดังนั้นฝุ่นโลหะปนเปื้อนได้ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน
จากการตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีนอกร่างกายของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานแต่อย่างใด โดยสามารถสรุปได้ว่า ฝุ่นโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 มีการปนเปื้อนในบริเวณที่จำกัด และถูกควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
และเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สู่สิ่งแวดล้อม ไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และบริเวณใกล้เคียง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
สำหรับไทม์ไลน์ของการหายของซีเซียม-137 พอจะสรุปได้ดังนี้
14 มี.ค.2566 สภ.ศรีมหาโพธิ ระบุว่า บริษัทเจ้าของวัตถุดังกล่าวทราบว่า ซีเซียม-137 หายไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่มาแจ้งความวันที่ 10 มี.ค.2566 เบื้องต้นมีการตั้งรางวัล 50,000 บาท สำหรับผู้แจ้งข้อมูลจนนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 กลับคืนมาได้
15 มี.ค.2566 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งรวมรวบผู้เชี่ยวชาญ พร้อมประสานโรงพยาบาล กรณีรับส่งต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสี และให้ สสจ.ปราจีนบุรี ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
16 มี.ค.2566 ค้นหาในโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียงรัศมี 2 กม.อีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เบาะแส ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงก็ยังไม่พบ รวมถึงใช้โดรนบินจับสัญญาณกัมมันตรังสี พบว่า ยังไม่มีการแพร่กระจาย เพิ่มรางวัลเป็น 100,000 บาท
17 มี.ค.2566 ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ส่งเจ้าหน้าที่ปูพรมค้นหาในโรงงานจนแน่ใจประมาณ 70-80% ว่าไม่เจอ สำรวจระดับปริมาณรังสี ณ ปัจจุบันนี้ระดับรังสียังอยู่ในสภาวะปกติ
18 มี.ค.2566 : มีผู้แจ้งเบาะแสซีเซียม-137 จำนวนมาก แต่ไปตรวจสอบแล้วไม่ใช่
19 มี.ค.2566 ช่วงค่ำมีรายงานว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 4 แห่ง ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีในการตรวจสอบเพื่อใช้สำรวจปริมาณรังสีและวิเคราะห์ชนิดของสารกัมมันตรังสีจากวัตถุต้องสงสัย ผลการตรวจสอบพบว่ามีโรงงานแห่งหนึ่งมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ
20 มี.ค.2566 ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงกรณีซีเซียม-137 สูญหาย