จากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่า อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ กลุ่มก่อการร้ายฮามาส เริ่มเปิดศึกยิงจรวดและอาวุธหนักถล่มกัน หลังจากเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มดังกล่าว ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างรุนแรงโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนส่งผลให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตแล้วมากกว่า 200 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนมาก ก่อนจะเปิดศึกตอบโต้ ทำให้ปาเลสไตน์ มีจำนวนผู้เสียชีวิต เบื้องต้นในขณะนี้ มียอดผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 230 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,700 ราย จากปฏิบัติการโจมตีเอาคืนครั้งใหญ่ของอิสราเอล ซึ่งจากการทำสงครามครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 500 ราย
ความขัดแย้งของ อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์
หากย้อนเวลากลับไปนับพันปี จะพบว่าความขัดแย้งที่เริ่มมาจากความเชื่อของทั้ง ศาสนายูดาย และ ศาสนาอิสลาม ที่ต่างเชื่อว่า ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หรือ ที่เรารู้จักกันคือ “เยรูซาเลม” ซึ่งเป็นที่ตั้งของอิสราเอล และปาเลสไตน์ในปัจจุบันนั้น เป็นดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ ต่อมา อังกฤษเข้ายึดครองดินแดนที่เรียกกันว่าปาเลสไตน์ หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมัน – ผู้ปกครองพื้นที่แห่งนั้นในตะวันออกกลาง – พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยชาวยิวเป็นส่วนน้อย และชาวอาหรับเป็นส่วนใหญ่ ความตึงเครียดระหว่างคนสองกลุ่มนี้ทวีคูณมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังนานาชาติยกหน้าที่ให้อังกฤษเป็นผู้กำหนดให้ปาเลสไตน์เป็น “บ้านแห่งชาติของคนยิว” ชาวยิวถือว่าที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรษของพวกเขาอยู่ก่อนแล้ว แต่ชาวอาหรับในปาเลสไตน์ก็บอกว่านี่เป็นบ้านของพวกเขาเช่นกัน และไม่เห็นด้วยกับแผนของอังกฤษ
ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1920-1940 ชาวยิวย้ายถิ่นฐานมาที่นี่มากขึ้น หลายคนหนีการประหัตประหารในยุโรป และต้องการบ้านหลังใหม่หลังถูกไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี ความรุนแรงระหว่างชาวยิวและอาหรับเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต่อคนอังกฤษด้วย ในปี 1947 สหประชาชาติมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐของชาวยิวและชาวอาหรับแยกกัน โดยให้เยรูซาเลมเป็นเมืองนานาชาติ ผู้นำชาวยิวตอบรับแผนนี้แต่ฝ่ายอาหรับปฏิเสธไม่ยอมทำตามแผนนั้น
ต่อมา ในช่วงปี 1948 ผู้ปกครองชาวอังกฤษและผู้นำชาวยิวประกาศสถาปนาอิสราเอลเป็นรัฐหลังจากไม่สามารถเจรจาแก้ไขปัญหาได้ ชาวปาเลสไตน์หลายคนไม่เห็นด้วย และเกิดเป็นสงครามขึ้น โดยกองทัพจากประเทศอาหรับโดยรอบเข้าร่วมด้วย ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านของตัวเอง และกว่าจะมีการประกาศหยุดยิงในปีถัดมา อิสราเอลก็เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของปาเลสไตน์สำเร็จ จอร์แดนได้ควบคุมพื้นที่ที่เรียกกันว่าเวสต์แบงก์ อียิปต์ได้ครอบครองกาซา ส่วนเยรูซาเลมถูกแยกออกเป็นของกองกำลังอิสราเอลฝั่งตะวันตก และของกองกำลังจอร์แดนในฝั่งตะวันออก ด้วยความที่ไม่มีการบรรลุข้อตกลงใด ๆ ต่างฝ่ายก็ต่างโทษกันและกัน ว่าเป็นที่มาของความขัดแย้งและการทำสงครามเรื่อยมา
- น่านฟ้าอิสราเอล เปิดเมื่อไร พร้อมอพยพช่วยเหลือ คนไทย ทันที
- เผยความจริง สงครามอิสราเอล กลุ่มฮามาส เลือกยิง วันสำคัญของชาวยิว
- ทำความรู้จัก วันซิมหัต โทราห์ วันสำคัญทางศาสนาของชาวยิว
ความรุนแรงปะทุครั้งใหญ่ ในช่วงปี 1967 ที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน (Six Day War) อิสราเอลสามารถยึดครองเยรูซาเลมตะวันออก, เขตเวสต์แบงก์, ฉนวนกาซา, พื้นที่ส่วนใหญ่ของที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และแหลมไซนาย ไว้ได้ ผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่และลูกหลานของพวกเขาอาศัยอยู่ในกาซาและเขตเวสต์แบงก์ และในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจอร์แดน, ซีเรีย และเลบานอน ด้วย คนเหล่านี้และลูกหลานไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน โดยอิสราเอลบอกว่าจะทำให้คนล้นประเทศและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐยิว อิสราเอลถือว่าพื้นที่ในเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงของตัวเอง ขณะที่ชาวปาเลสไตน์บอกว่าเยรูซาเลมตะวันออกจะเป็นเมืองหลวงในอนาคตของพวกเขา โดยสหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศเท่านั้นยอมรับการอ้างเป็นเจ้าของเยรูซาเลมทั้งเมืองของอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์บอกว่าการลงหลักปักฐานนี้ผิดกฎหมายนานาชาติ และเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเพื่อสันติภาพ แต่อิสราเอลก็ปฏิเสธ
เยรูซาเลม เป็นเมืองในตะวันออกกลาง ตั้งอยู่บนที่ราบของภูเขายูดาห์ ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลเดดซี โดยชาวคานาอันซึ่งเป็นชาวอาหรับโบราณที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธ์หลักของชาวเซมิติกได้อพยพออกจากใจกลางคาบสมุทรอาหรับเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชนเมืองในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเมืองเก่าของกรุงเยรูซาเลมตั้งแต่ราวสหัษศวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล และเยรูซาเลมได้กลายเป็นปราการแห่งความเชื่อในพระเป็นเจ้าแต่เพียงองค์เดียวนั่นคือพระเป็นเจ้าของอาดัม และของอับราฮัมซึ่งเป็นปฐมบรมศาสดาและปฐมบรมบรรพบุรุษของชาวอาหรับและของชาวยิว ปัจจุบันประเทศอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ต่างอ้างสิทธิเหนือเยรูซาเลมว่าเป็นเมืองหลวงของตน อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เยรูซาเลมได้รับขนานนามว่าเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” ของศาสนาทั้งสามในกลุ่มศาสนาอับราฮัมอันได้แก่ ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ขอบคุณข้อมูล : BBC Thai
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY